ประมงสงขลาหวั่น“ปลาหมอคางดำ”แพร่กระจายลงทะเลสาบสงขลา อ่าวไทย ช่วงหน้าฝน เร่งหามาตรการกำจัด พร้อมประสานชลประทานปิดปากคลองทุกสายที่เชื่อมอ่าวไทย
วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 จากกรณีที่พบปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นปลาที่อันตรายชนิดหนึ่งที่ทำลายห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำแล้ว ยังแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็วกว่า 16 จังหวัด ทำให้เกิดหวาดวิตกทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน และพยายามกำจัดให้สิ้นซากโดยเร็ว
สำหรับที่ จ.สงขลา ขณะนี้พบเพียงแค่ใน อ.ระโนด เพียงอำเภอเดียว ทั้งในลำคลองสายหลัง และลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งขาว และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งทุกภาคส่วนได้เร่งหามาตรการในการสกัดกั้นการแพร่กระจายไม่ให้ขยายออกเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้
นายศุภโชค เกื้ออรุณ ประมง อ.ระโนด จ.สงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐพยายามสร้างความตระหนักด้วยหลากหลายกิจกรรมเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ เพื่อให้เกิดความตระหนักกับเกษตรกร และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ อ.ระโนด ทั้ง 12 ตำบล ซึ่งได้แบ่งเป็นโซนสีแดงที่พบปลาหมอคางดำ ประกอบด้วย ต.ท่าบอน ต.คลองแดน ต.ระวะ ต.แดนสงวน ต.บ้านใหม่ ต.ระโนด และ ต.ปากแตระ และพื้นที่กันชนที่ยังไม่พบ แต่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย ต.ตะเครียะ ต.พังยาง ต.บ้านตรุ ต.วัดสน และ ต.บ้านขาว
นายสมใจ ศรีสงค์ นายก อบต.ระวะ กล่าวว่า ในพื้นที่ ต.ระวะ พบปลาหมอคาดำในคลองพังยาง-ระวะ ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อจากคลองอาทิตย์ และทะเลอ่าวไทย ได้มีการจัดกิจกรรม Kick off จับปลาหมอคางดำในคลองสายพังยาง-ระวะ ไปแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และสามารถจับปลาหมอคางดำได้ประมาณ 114 กิโลกรัม
พร้อมกับแนะนำให้แปรรูปเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม ต้มส้มน้ำตาลตโนด และทอดเกลือ หรือการนำไปทำตากแห้งส่งจำหน่าย เพื่อช่วยกันทำให้ปลาหมอคางดำลดปริมาณลงให้ได้มากที่สุด
โดยในพื้นที่ ต.ระวะ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขังทุกปี อีก 2 เดือนข้างหน้า จะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะเอ่อล้นจากคลองแล้วอาจจะมีลูกปลาหรือไข่ปลาหมอคางดำพร่กระจายเข้าสู่แหล่งน้ำในหมู่บ้าน รวมทั้งบ่อพักน้ำ และบ่อเลี้ยงกุ้ง ได้ และจะต้องเปิดปากคลองระวะ เพื่อระบายให้น้ำไหลออกทะเลอ่าวไทย ซึ่งอาจจะทำให้ปลาหมอคางดำบางส่วนออกสู่ทะเลอ่าวไทย
นายเจริญ โอมณี ประมง จ.สงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ได้พบปลาหมอคางดำหนาแน่เพิ่มขึ้นในคลองเป็ด ซึ่งอยู่ในโซนสีแดง และจะมีการจัดกิจกรรม Kick off ขึ้นในเร็วๆนี้ เพื่อจับปลาหมอคางดำขึ้นมาให้ได้มากที่สุด และดำเนินกิจกรรมทำลายปลาหมอคางดำด้วยหลากหลายกิจกรรม
เช่น เชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยใน จ.สงขลา จาก บริษัท ซี.พี. รวมทั้งภาคประชาสังคม เกษตรกรในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมสัมมนา เพื่อหาทางออกในการจัดการกับปลาหมอคาดำร่วมกัน โดยขณะนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กยท. เพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกนราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อมอบให้กรมพัฒนาที่ดินนำไปผลิตปุ๋ยส่งให้ กยท. เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรต่อไป
นอกจากนี้ยังจะมีการเร่งปล่อยปลากะพงนักล่าลงในคลองที่พบแพร่ระบาด และคลองกันชนต่างๆในพื้นที่ อ.ระโนด และใกล้เคียง และห้ามเลี้ยงปลาหมอคางดำเป็นอันขาด หากพบมีผู้เลี้ยงปลาหมอคางดำ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
นายเจริญ กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะถึงหน้ามรสุมประมาณเดือน ต.ค.-ธ.ค.2567 ซึ่งจะมีปริมาณฝนตกชุก และทำให้เกิดน้ำหลากจากลำคลองเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว บางส่วนจะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา และอ่าวไทยด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังชลประทานระโนด ให้มีการปิดปากคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา และอ่าวไทย ไว้ก่อน จนกว่ามีความจำเป็น จึงจะเปิดปากคลองอีกครั้ง