สถานการณ์แม่น้ำจันทบุรีทรงตัว ปภ.ยังเฝ้าระวังเร่งสูบน้ำระบายลงทะเล ด้านพื้นที่เขตเศรษฐกิจเมืองจันท์ไม่ได้รับผลกระทบหนักเพราะมีคลองภักดีรำไพช่วยระบาย
วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำจันทบุรีเริ่มทรงตัวและลดลงเล็กน้อย คาดมวลน้ำจากอำเภอมะขาม และอำเภอเขาคิชฌกูฏชุดแรกได้ผ่านตัวเมืองไปแล้ว แต่ก็ยังมีมาเพิ่มเติมอีกเรื่อย ๆ แต่การระบายน้ำเป็นไปอย่างคล่องตัวน้ำไหลแรง และไหลเชี่ยวซึ่ง อบจ.จันทบุรี, ปภ.เขต 17, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และท้องถิ่นได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายลงทะเลเตรียมพร้อมรองรับมวลน้ำรอบต่อไปที่จะมาในช่วงฤดูฝน และยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ส่วนพื้นที่ริมน้ำจันทบูรยังไม่มีน้ำเอ่อล้นขึ้นถนนไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำจันทบุรีฝั่งจันทนิมิต ซอยริเวอร์ไซด์ มีน้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นเข้าสวนผลไม้ และบ้านเรือนประชาชน
ทางอำเภอ, เทศบาล, อบต., กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าให้การช่วยเหลือ และแจกน้ำ แจกอาหาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแล้ว ส่วนพื้นที่รอบนอกเริ่มคลี่คลายยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำในสวนผลไม้ยังคงมีน้ำขังรอระบาย ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนเกษตรกรช่วงนี้อย่างเพิ่งเข้าไปในสวนผลไม้ที่มีน้ำท่วมขังอาจเกิดอันตรายจากสัตว์มีพิษ และอาจเกิดความเสียหายในเรื่องของผลผลิตในอนาคต
ข้อมูลเบื้องต้นจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดจันทบุรี สรุปความเสียหายจากผลกระทบฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ช่วง 27 ถึง 30 กรกฎาคม 2567 ที่มีฝนตกวัดประมาณได้มากกว่า 300 มิลลิเมตรมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 8 อำเภอ 32 ตำบล 170 หมู่บ้าน 7 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 3,400 ครัวเรือน และมากกว่า 9,000 กว่าราย พื้นที่การเกษตรเสียหายมากกว่า 4,000 ไร่
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการสำรวจและช่วยเหลือเยียวยาต่อไปในอนาคต ทั้งนี้สถานการณ์รอบนอกได้เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในหลายพื้นที่ และยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจเมืองจันทบุรี ริมแม่น้ำจันทบุรีที่รับน้ำจากอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขามจึงยังแสดงธงสัญลักษณ์สีแดง เพื่อการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำจันทบุรีให้ฝเระวังต่อไป ป้องกัน และลดความสูญเสีย ผลกระทบเมื่อเกิดสถานการณ์สามารถให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็วต่อไป