สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ พลิก “คลองเตยลิงก์” สู่ย่านธุรกิจใหม่

Sittisak
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“หาดใหญ่” หนึ่งในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงได้เกิดการรวมตัวของคนในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้หาดใหญ่ไปสู่อัจฉริยะ (Smart City) และยั่งยืน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สิทธิศักดิ์ ตันมงคล” เลขาธิการ สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ ถึงผลงาน และแผนงานที่กำลังดำเนินการ

กำเนิดสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่

สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ (Hatyai Economic Forum : HEF) ก่อตั้งโดยกลุ่มสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา Songkhla Urban Lab สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา บริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดสงขลา กลุ่ม YEC สงขลา สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา Tuber Coworking Space และมูลนิธิทักษิณคดีศึกษา

สืบเนื่องจากการที่ “เทศบาลนครหาดใหญ่” ได้รับการยอมรับเข้าเป็น สมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกของ UNESCO (Global Network of Lerning City : GNLC) ในด้านการพัฒนาเมือง จึงมีการก่อตั้งเครือข่ายขึ้น คือ “สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่” เพื่อช่วยเหลือเทศบาลนครหาดใหญ่พัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา

โดยสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ เป็นเวทีกลาง แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความเข้าใจ และเสริมพลังการทำงานพัฒนาเมืองหาดใหญ่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รองรับการพัฒนาหาดใหญ่สู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) สู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Livable City)

ยุทธศาสตร์เมืองแห่งการเดิน

ก่อนที่จะเกิดเป็น สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ เมื่อปี 2561 ได้เริ่มยุทธศาสตร์เมืองแห่งการเดินได้ (Walkable City) ภายใต้กรอบแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) โดยมีความมุ่งหมายให้ทุกคนสามารถเดินเท้าเข้าถึงพื้นที่ย่านการค้าได้สะดวกสบาย ปลอดภัย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งมีพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ให้เข้าถึงในระยะไม่ไกลนัก

ซึ่งจะลดการใช้รถส่วนตัวลง ลดปัญหาการจอดรถซ้อนคัน การจราจรติดขัดไม่สามารถเข้าถึงร้านค้าได้สะดวก กระทบไปถึงปฏิสัมพันธ์ของผู้คนและคุณภาพชีวิตของประชาชน ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จะต้องสร้างรูปธรรมให้เห็นประจักษ์ต่อสาธารณะ

Advertisment

จึงได้วิเคราะห์และเลือกพื้นที่นำร่องที่จะเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ และใช้กลยุทธ์การพลิกฟื้นพื้นที่กลางเมืองที่เสื่อมโทรม ใช้งานไม่สะดวก ให้กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชน

โดยนำกรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั้ง 7 ด้านเข้ามาเป็นแนวทางด้วย การดำเนินงานในช่วงปลายปี 2562 จึงเลือกพื้นที่คลองเตย ลำคลองเล็ก ๆ ที่พาดผ่านกลางเมืองหาดใหญ่ ไหลจากทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ ความยาวของคลองเตยในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ประมาณ 22 กิโลเมตร เลือกใช้เฉพาะย่านกลางเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร พัฒนาเป็น “โครงการคลองเตยลิงก์” นวัตกรรมการพัฒนาเมืองผ่านการพัฒนาคลองที่พาดผ่านเมือง

Advertisment

โดยออกแบบการพัฒนาให้เป็นคลองสวย น้ำใส มีถนนและทางเดินทั้งสองฝั่งคลองที่ร่มรื่น เดินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีพื้นที่กิจกรรมให้เป็นจุดขายใหม่ของเมืองเปลี่ยนจากคลองหลังบ้านเป็นคลองหน้าบ้าน พื้นที่ตามแนวคลองจะมีบทบาทเป็นแกนนำการพัฒนาไปตามความยาว และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ตามแนวคลองไปยังพื้นที่ข้างเคียงทั้งสองฝั่งคลอง (Link)

ซึ่งมีความเป็นย่านต่าง ๆ แตกต่างกันไป การเดินทางไปตามสองฝั่งคลองจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่หลากหลายมีชีวิตชีวา แม้เทศบาลนครหาดใหญ่เห็นชอบกับโครงการ แต่มีข้อจำกัดบางประการ จึงมีการประสานงานไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ดำเนินโครงการแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ชูเมืองแห่งการเรียนรู้

เพื่อให้มีสิ่งที่น่าสนใจในการนำไปสู่เมืองแห่งการเดินได้อย่างมีจุดหมายปลายทาง และให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมือง ดังนั้นในปี 2564 จึงได้นำกรอบแนวคิดของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO เข้ามาเป็นแนวทางพัฒนาเป็นโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)

โดยเลือกพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าเดิมของเมืองเป็น โครงการพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองหาดใหญ่ (Hatyai Living Museum) ผ่านเทคนิค Snowball กลิ้งลูกบอลหิมะไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะสมข้อมูล (Story) ของชุมชน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปงเมือง วิถีชีวิตผู้คน วัฒนธรรม ใช้การจัดรายการหาดใหญ่สนทนา (Hatyai Talk)

เป็นการสร้างการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ การเดินเมือง (Walking Tour) ให้มีการเดินเท้าลงไปเรียนรู้และสัมผัสพื้นที่ย่านต่าง ๆ ของชุมชน และการจัดกิจกรรม ร่มรื่นบนลานเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่สาธารณะกลางเมืองหาดใหญ่ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสังคมอย่างต่อเนื่อง

ผลจากการดำเนินงานข้างต้นมาถึงปี 2565 นำไปสู่การออกแบบพัฒนาพื้นที่สาธารณะนำร่อง (Public Space) เช่น การออกแบบปรับปรุงสวนหย่อมศุภสารรังสรรค์ ปรับปรุงถนนหน้าศาลเจ้าพ่อเสือ ปรับปรุงสวนหย่อมชลธารา ปรับปรุงประติมากรรมกามเทพที่ถนนเสน่หานุสรณ์ และปรับปรุงย่านสถานีรถไฟหาดใหญ่

โดยเฉพาะการปรับปรุงถนนหน้าศาลเจ้าพ่อเสือ ทำให้เกิดจุดเช็กอินใหม่ของเมืองหาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับความศรัทธาเจ้าพ่อเสือ การปรับปรุงประติมากรรมกามเทพ ทำให้เกิดจุดขายใหม่ของเมืองหาดใหญ่ ที่เชื่อมโยงกับถนนเสน่หานุสรณ์และประวัติของนายอำเภอหาดใหญ่ท่านแรก

ดันระบบขนส่งมวลชนแก้รถติด

โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่ ถูกนำขึ้นเสนอในที่ประชุมสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ ในปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของการขาดแคลนที่จอดรถ จอดรถซ้อนคัน การจราจรติดขัด มลพิษ การเข้าถึงร้านค้ายากลำบาก ค้าขายไม่ดี และกระทบกับปัญหาค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชาชน

แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การระดมความคิดอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงคำนึงถึงเส้นทางเดินรถหรือประเภทของรถบริการเท่านั้น แต่คำนึงถึงการพัฒนาเมืองในองค์รวม ตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) เช่น การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development หรือ TOD)

การพัฒนาระบบจอดแล้วจร (Park and Ride) การเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transport) และการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเดินได้ (Walkable City) การเสนอโครงการดังกล่าวต่อเทศบาลนครหาดใหญ่พบข้อจำกัด จึงได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567

กระทั่งนำไปสู่การลงนามประกาศจังหวัดสงขลา แต่งตั้ง “คณะทำงานโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ก้าวสู่ฮับทางการแพทย์

ผลการสนทนาในกิจกรรมหาดใหญ่ส่งผลให้เกิดการประสานงานนำเสนอ โครงการเมืองศูนย์กลางทางการแพทย์และบริการสุขภาพ (Medical & Wellness Hub) ส่งผลให้จังหวัดสงขลาถูกบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ระดับชาติ และเกิดกลไกเวทีกลางที่รองรับภาคส่วนต่าง ๆ ในการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ ในนามสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ (HEF)

ในเดือนตุลาคม 2566 สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ ได้รับทราบปัญหาอุปสรรคการขยายตัวของโรงพยาบาลหาดใหญ่ เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่ล้นโรงพยาบาล อันเป็นข้อจำกัดที่จำเป็นจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาจึงได้เริ่มโครงการจัดหาที่ดินเพื่อเสนอสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ แห่งที่ 2 ขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยจากภาคใต้ตอนล่างทั้ง 7 จังหวัด สามารถเข้าถึงได้สะดวก

ทั้งนี้ ได้นำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล (Hospital Oriented Development หรือ HOD) ที่ไม่ได้คำนึงถึงแต่การสร้างโรงพยาบาลเพียงลำพัง เพื่อให้เป็นชุมชนหรือย่านสุขภาพหาดใหญ่ในอนาคต

คาดว่าแผนงานต่าง ๆ จะสามารถสรุปได้ในไม่ช้า เพื่อเสนอให้โรงพยาบาลหาดใหญ่นำไปจัดทำโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ต่อไป