เศรษฐกิจภาคเหนือ Q2/67 กำลังซื้อเปราะบาง ค่าครองชีพพุ่ง หวังเงินดิจิทัล 1 หมื่น แรงกระตุ้น Q4

นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง

เศรษฐกิจภาคเหนือ Q2/67 กำลังซื้อเปราะบาง ค่าครองชีพพุ่ง หวังเงินดิจิทัล 1 หมื่น แรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจช่วงปลายปี

วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดยนางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2/2567” ซึ่งภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง กำลังซื้อครัวเรือนเปราะบาง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีทิศทางที่ปรับลดลง

นางพรวิภากล่าวว่า จากทั้ง 3 เครื่องชี้เศรษฐกิจดังกล่าว สะท้อนภาพเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ปรับลดลง ขณะที่สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ โดยภาคเกษตรพบว่า รายได้มีการขยายตัวเล็กน้อยจากราคาข้าวที่ส่งออกไปต่างประเทศ แต่ผลผลิตหดตัวจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงเช่นกัน

โดยเฉพาะในหมวดอาหาร จากผลผลิตกลุ่มข้าวและน้ำตาล ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวจากไตรมาสก่อน จากกิจกรรมช่วงสงกรานต์ โดยพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาส 2 กลับมาราว 70% และนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งในระยะครึ่งปีหลัง คาดว่าการท่องเที่ยวจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในส่วนของการจ้างงานในภาคเหนือ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น จากปัจจัยชั่วคราวหลังได้รับการจัดสรรงบประมาณ ส่งผลให้การจ้างงานภาครัฐเพิ่มขึ้น

นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง

Advertisment

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนในภาคเหนือ พบว่าลดลงจากไตรมาสก่อน การใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย โดยตลาดรถยนต์มีกำลังซื้อที่ค่อนข้างเปราะบาง และสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ที่ปรับลดลงทั้งการลงทุนหมวดก่อสร้าง หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งในระยะต่อไปคาดว่าจะยังอยู่ในภาวะทรงตัว ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็หดตัว และในระยะต่อไปก็คาดว่าจะยังคงทรงตัว เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อ จากภาพรวมหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง

นางพรวิภากล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3/2567 คาดว่าอยู่ในทิศทางทรงตัว การบริโภคยังถูกกดดันจากค่าครองชีพที่สูง และราคาพลังงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่ายังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวมีทิศทางปรับดีขึ้น จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเที่ยวบินตรงที่เปิดเพิ่มขึ้น

Advertisment

ทั้งนี้ คาดว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคเหนือในช่วงปลายปีได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะด้านการบริโภค แต่ก็ต้องรอดูว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนและได้สิทธิมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งในภาพรวมคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้บ้างราว 0.3% ในไตรมาส 4

นอกจากนี้ ประเด็นที่ยังต้องติดตามคือ 1.แรงกดดันจากค่าครองชีพ 2.การฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ 3.ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่จะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในระยะต่อไป