ธุรกิจ “ล่องแก่ง” พัทลุงโตกว่า70% รับนักท่องเที่ยวพุ่ง

ล่องแก่ง รีสอร์ตเมืองพัทลุงขยายตัว มีการลงทุนเกือบ 100 แห่ง ชี้ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานีแห่เที่ยวเพิ่มขึ้น 10% หวังดันสนามบินเสริมแกร่งท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ หนุนรัฐคงเอกลักษณ์-ดึงชุมชนร่วม

นายสมมาตร หวังสัน ประชาสัมพันธ์วิสาหกิจชุมชนบ้านด่านโลด และเจ้าของด่านโลดล่องแก่ง เทศบาลตำบลควนเสาธง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ หรือล่องแก่งเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะด่านโลดล่องแก่ง จ.พัทลุง ช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 เติบโตขึ้นกว่า 70% ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจาก จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ดังนั้น จึงมีแผนลงทุนเพิ่มเติม โดยทุ่มงบประมาณกว่า 9 แสนบาท ก่อสร้างสไลเดอร์ และห้องประชุมอเนกประสงค์ ซึ่งสามารถรองรับได้ประมาณ 40-50 คน รวมถึงการปรับภูมิทัศน์และสร้างค่ายฐานลูกเสือ เพื่อไว้รองรับนักเรียน นักศึกษาเข้าค่ายหรือจัดกิจกรรม รวมทั้งโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยว สามารถรองรับได้ 100 คน

ล่องแก่งโต – นักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัดในภาคใต้นิยมเข้าไปท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติใน จ.พัทลุง โดยเฉพาะการล่องแก่ง ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมาก


ด้านนายอาสาฬ เขาไข่แก้ว รองผู้จัดการล่องแก่งหนานมดแดง เทศบาลตำบลลานข่อย อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ปีนี้ธุรกิจล่องแก่งค่อนข้างดี โดยช่วงปกติมียอดจำหน่ายอยู่ประมาณ 70% ขณะที่ช่วงเทศกาล ยอดจำหน่ายจะขยับขึ้นถึง 100% โดยช่วงไฮซีซั่นเริ่มตั้งแต่มีนาคม-พฤษภาคม โดยพบว่าในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ได้แก่ อ.ป่าพะยอม ควนขนุน ป่าบอน และตะโหมด มีการลงทุนธุรกิจล่องแก่งและรีสอร์ตมากถึง 100 แห่ง โดยเฉพาะเขตเทศบาลตำบลลานข่อย อ.ป่าพะยอม มีการลงทุนประมาณ 40 แห่ง เงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ขณะที่ อ.ตะโหมด มีการขยายการลงทุนเพิ่ม 2 แห่งจากเดิมที่มีเพียง 1 แห่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตและสุราษฎร์ธานีมีจำนวนเพิ่มขึ้น 10% แต่นักท่องเที่ยวจากปัตตานี ยะลา และนราธิวาสลดลง หากมีสนามบินพัทลุงเกิดขึ้นจริงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะปัจจุบันการเดินทางด้วยสายการบินมา จ.พัทลุงต้องลงเครื่องที่ จ.ตรัง นครศรีธรรมราช และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เท่านั้น


“การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ล่องแก่งกำลังได้รับความนิยมคนเมืองเข้าป่ากันเพิ่มขึ้น แต่ต้องคงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ จึงอยากผลักดันการท่องเที่ยวธรรมชาติตามชุมชน โดยให้ชุมชนมีส่วนรวม มีรายได้ และต้องลงทุนสร้างแหล่งอำนวยความสะดวก รักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบ เช่น วัด โบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ที่ยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ แหล่งที่นั่งพักผ่อน”