“ยะลา” ชงของบฯ 4 พันล้าน ขยายถนน-เจาะอุโมงค์-สนามบินเชื่อม 3 จังหวัดชายเเดนใต้

นับตั้งแต่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมีมติเห็นชอบไม่ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พ.ศ. 2548 และปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ถูกคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2561 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 61 ถือเป็นการนำร่องตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการผลักดันภายใต้กรอบแนวคิด “นโยบายสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่มีการนำ 3 เมือง ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

มาพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบ มีการพัฒนาพื้นที่พิเศษ รองรับการลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ โดยมีการตั้งงบประมาณรวมกว่า 5,000 ล้านบาท เข้าไปพัฒนา แบ่งเป็นงบประมาณปี 2560 จำนวน 3,000 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 1,000 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 500 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 100 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8-10 พ.ค. 2561 ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อติดตามความก้าวหน้าในโครงการต่าง ๆ พบว่า ปัจจุบันภาครัฐมีความพยายามในการพัฒนาอำเภอเบตงให้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ท่าอากาศยาน รวมถึงการสร้างเสถียรภาพระบบไฟฟ้า

ชงของบฯ 3 พันล.ขยายถนน

“ภิรมย์ นิลทยา” รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จ.ยะลามีโครงการขยายถนนเส้น 410 ของกรมทางหลวง ซึ่งเป็นถนนสายหลักมุ่งหน้าเข้าสู่ อ.เบตง จาก 2 เลนเป็น 4 เลน ระยะทางกว่า 140 กม. เนื่องจากปัจจุบันถนนมีลักษณะโค้งหักศอก คดเคี้ยว และลาดชัน ส่งผลให้รถพ่วง 22 ล้อ และรถบรรทุกทั่วไป สัญจรได้ยาก ซึ่งการขยายถนนจะก่อให้เกิดความสะดวกในการสัญจรเป็นผลดีแก่การท่องเที่ยว รวมถึงสามารถขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางเบตงไปสู่ปีนังได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ส้มโชกุน ทุเรียน มังคุด และไม้ยาง เป็นต้น รวมถึงเชื่อมโยงการพัฒนาในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี สงขลา และนราธิวาส ช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชนในการดึงดูดนักลงทุนอีกด้วย

“สมนึก เศียรอุ่น” ผู้อำนวยการแขวงทางหลวง จ.ยะลา กรมทางหลวง เปิดเผยว่า มีการจัดทำแผนการขยายถนนเส้น 410 เพื่อนำเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องในโอกาสต่าง ๆ ภายใต้โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจฯ ประกอบด้วย ทางหลวง 410 ยะลา-ตะบิงติงงิ ระยะทาง 16.5 กม. วงเงินงบประมาณ 760 ล้านบาท ทางหลวง 410 ตะบิงติงงิ-บ่อหิน ระยะทาง 39 กม.

วงเงินงบประมาณ 1,520 ล้านบาท และทางหลวง 410 บ่อหิน-เบตง ระยะทาง 38 กม. วงเงินงบประมาณ 740 ล้านบาท รวมวงเงินงบประมาณ 3,020 ล้านบาท แต่จะเริ่มดำเนินโครงการได้เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับสำนักวางแผนกรมทางหลวงพิจารณาความเหมาะสม

นอกจากนี้ในส่วนโครงการสำรวจพื้นที่สำหรับการเจาะอุโมงค์บริเวณบ้านกระป๋อง อำเภอธารโต ขนาดความกว้าง 12 เมตร และมีความสูง 7 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางคดเคี้ยวเข้าสู่เบตง ได้มีการศึกษาเตรียมจัดทำมาหลายปีถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเป็นพื้นที่ในป่าอุทยานแห่งชาติบางลาง และอาจมีงบประมาณสูงเกินกว่า 1,000 ล้านบาท

เปิดใช้ “สนามบินเบตง” ปี”63

ด้านโปรเจ็กต์ใหญ่โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง มูลค่า 1,300 ล้านบาท ล่าสุดมีความคืบหน้าไปกว่า 47% คาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดสัญญาในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 และมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 โดยมีลักษณะเป็นท่าอากาศยานขนาดเล็ก บนพื้นที่ 920 ไร่ มีขนาดรันเวย์ยาว 18,000 เมตร กว้าง 30 เมตร รองรับเครื่องบินขนาด 50-70 ที่นั่ง เช่น เอทีอาร์ 72 ได้ 3 ลำ

โดยมีอาคารผู้โดยสารขนาด 7,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) รองรับผู้โดยสาร 300 คน/ชั่วโมง เป็นงบประมาณรวมกว่า 1,316 ล้านบาท นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติขยายพื้นที่สนามบินเพิ่มเติมออกไปอีก 80 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม

โรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มศักยภาพพื้นที่

“ดำรงค์ ดีสกูล” นายอำเภอเบตง กล่าวว่า ปัจจุบัน อ.เบตงมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับบ่อย เนื่องจากที่ทำการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ห่างจากเขื่อนบางลาง ซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 70 กม.

รวมไปถึงการทำลายเสาไฟฟ้าแรงสูงของผู้ก่อความไม่สงบบริเวณ อ.ธารโต ทำให้จำเป็นต้องเร่งจัดทำนโยบายเพื่อรับมือการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ให้มีเสถียรภาพ

โดยมีการจัดทำโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จำนวน 2 โรง บริเวณ กม.19 โดยบริษัท เบตงกรีนเพาเวอร์ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 50% คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7 เมกะวัตต์ และอีกแห่งบริเวณ กม.13 อยู่ระหว่างการดำเนินการสร้าง รับผิดชอบโดยบริษัท พี.ซี.เบตง กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังมีแนวทางจัดหาเครื่องสำรองไฟจำนวน 7 เครื่องผลิตไฟฟ้าได้ 7 เมกะวัตต์เพื่อหล่อเลี้ยง อ.เบตงในสภาวะฉุกเฉิน และระหว่างรอโรงไฟฟ้าชีวมวลดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ โดยจะติดตั้งเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าดับใน อ.เบตงในระยะสั้นได้

จี้ปรับ “ผังเมือง” ดึงลงทุน

ในขณะที่มีการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ผังเมืองใหม่ของอำเภอเบตงกลับมีความล่าช้าในการดำเนินงาน

“สมยศ เลิศลำยอง” นายกเทศมนตรีเมืองเบตง กล่าวว่า มีการเสนอผังเมืองไปให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พิจารณาหลายปีก่อนแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ โดยปัญหาของผังเมืองเบตงในปัจจุบันคือ มีพื้นที่สีเหลือง (พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) อยู่ไม่มากนัก ทำให้การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์มีข้อจำกัด และส่งผลกระทบต่อทิศทางการพัฒนาเบตง ที่กำลังจะเป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นอกจากนี้พื้นที่สีเหลืองหลายแห่งน้ำประปา และไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ขณะที่หลายพื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาและเหวลึก ประสบภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม อยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงบางพื้นที่มีราคาสูงถึง 1 ล้านบาท/ไร่ ซึ่งการขยายถนนเพื่อดึงดูดนักลงทุนนั้น จำเป็นต้องเร่งจัดการผังเมืองควบคู่ไปด้วย เพราะหากยังติดล็อกพื้นที่สีเขียว จะทำให้นักลงทุนไม่สามารถลงทุนในธุรกิจประเภทอื่นได้นอกจากทำการเกษตร


หากโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐสำเร็จตามเป้า อาจทำให้ “ยะลา” กลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่จะสำเร็จหรือไม่ ปัจจัยใน “พื้นที่” ก็มีส่วนสำคัญ