พิษณุโลกชูแพทย์แผนไทย ดันชุมชนเที่ยวเชิงสุขภาพ

medicine

ม.นเรศวรผนึกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพิษณุโลกผลักดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดันเมืองพิษณุโลกเป็น “ศูนย์ท่องเที่ยวด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพร” สร้างรายได้ให้ชุมชน

นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก กล่าวในการเสวนาวิชาการด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้าน หัวข้อ “ท่องเที่ยวเงินล้านวิถีไทย” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยนเรศวรว่า ปัจจุบันการแพทย์ทางเลือกกลับมาได้รับความนิยม จังหวัดพิษณุโลกถือว่ามีศักยภาพสูงสามารถตั้งเป็น “ศูนย์ท่องเที่ยวด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพร” เพราะพิษณุโลกถือเป็นเมืองสมุนไพรอยู่แล้ว

ศศิวัณย์ ศรีพรหม
ศศิวัณย์ ศรีพรหม

โดยมีรูปธรรมจาก 2 ชุมชนที่จัดเป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยมจากกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข มาแล้ว ได้แก่ ที่บ้านน้ำจวง อำเภอชาติตระการ และชุมชนบ้านหอกลอง อำเภอพรหมพิราม

ดังนั้น แนวคิดนี้ต้องพัฒนาลงไปยังพื้นที่ในอีกหลายชุมชน ซึ่งเชื่อว่าโมเดลการท่องเที่ยวรูปแบบนี้จะทำให้มีเงินสะพัดเข้ามายังจังหวัดพิษณุโลกได้จำนวนมาก

“การท่องเที่ยวต้องใช้แนวการทานอาหารเป็นยา เช่น บ้านน้ำจวง เป็นโฮมสเตย์ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยังมีการฝังเข็มรักษาโรค เป็นศูนย์เรียนรู้ จากชาติพันธุ์ม้ง มีอาหารพื้นเมือง และมีนาขั้นบันได ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีแบบเรียบง่ายของชุมชนม้ง ประเพณีวัฒนธรรมการแต่งกาย อาหารการกินที่แตกต่างจากคนพื้นราบทั่วไป ส่วนชุมชนบ้านหอกลองจัดทำโฮมสเตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อน เที่ยวเชิงภูมิปัญญา โดยมีสมุนไพรเป็นจุดดึงดูด”

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก ยังได้เชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทางภาคใต้มาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยจัดทริปพิษณุโลก-หาดใหญ่ และในสิ้นปีนี้มีนักท่องเที่ยวกว่า 30 กรุ๊ปจากภาคใต้ จะเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดพิษณุโลกด้วย

ADVERTISMENT

นางเผอิญ พงษ์สีชมพู ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ในอดีตทุกบ้านปลูกส้มซ่าเพื่อใช้ในการบริโภค เป็นผลไม้สด มาทำอาหาร สระผม สูดดม ใช้ปรุงต้มยำ น้ำพริก แต่หลังจากวิถีการกินเปลี่ยนไป ปรากฏว่าเหลือต้นส้มซ่าเพียงต้นเดียว แต่มหาวิทยาลัยนเรศวรมาส่งเสริมขยายการปลูกไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง จนประสบความสำเร็จ มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกกลุ่ม 23 คน

ปัจจุบันมีการปลูกต้นส้มซ่ากว่า 400 ต้น ชาวบ้านนำไปขายเป็นผลสด แปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยคนในท้องถิ่นมีรายได้ปีละ 20,000 บาทต่อคน

ADVERTISMENT