
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
หนึ่งในฟันเฟืองหลักที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกไม้ผล ทั้งทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว ที่สร้างรายได้นับแสนล้านบาท ต้องยกนิ้วให้กับบรรดาผู้ส่งออกทั้งหลาย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ณธกฤษ เอี่ยมสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกหนุ่มไฟแรง ดีกรีวิศวกรจากรั้วจามจุรี
ที่ผงาดขึ้นมายืนเป็นผู้ส่งออกผลไม้อันดับต้น ๆ ของประเทศ ถึงแผนการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลประกอบการช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พร้อมฉายภาพรวมสถานการณ์ส่งออกทุเรียนและลำไยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567
ผลประกอบการครึ่งปี 2567
ปี 2566 รายได้รวมของบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต ประมาณกว่า 5,200 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกทุเรียน 67% ลำไย 20% มังคุด 10% และมะพร้าว 3% ส่วนรายได้หลังจบไตรมาส 2/2567 พบว่ามีแนวโน้มเท่ากับรายได้ทั้งปีของปี 2566 โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนปีนี้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นมาก
เนื่องจากล้งจีนที่เข้ามาจำนวนมาก เท่าที่ทราบมีปัญหาการปล่อยกู้จากสถาบันการเงินในจีน ทำให้ล้งที่มาจะรับซื้อทุเรียนลดลง ทำให้แพลททินัม ฟรุ๊ตได้ผลผลิตทุเรียนส่งออกไปจำนวนมาก และการจ่ายเงินของแพลททินัม ฟรุ๊ตจะโอนเงินสดให้ชาวสวนทันทีภายใน 3 ชั่วโมงที่ส่งคนเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิต
Q3 จ่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
บริษัทเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในเดือนกันยายน 2567 ตอนนี้สถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาวะเรื่องสงคราม
ภาพรวมส่งออกครึ่งปีแรก
ช่วงไตรมาส 1 ไตรมาส 2 เป็นฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออก ซึ่งมีปริมาณและคุณภาพดี แม้มีอุปสรรคเรื่องเอลนีโญ ทุเรียนขาดน้ำ ส่งผลให้น้ำหนักของทุเรียนลดลง แต่มูลค่าการขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกทุเรียนของไทย 2 ไตรมาส ไทยสามารถแซงเวียดนามได้ แต่พอไตรมาส 3 และไตรมาส 4 สิ่งที่น่ากังวลเป็นช่วงฤดูกาลทุเรียนภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา
ซึ่งปีนี้ผลผลิตลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากประสบภัยแล้งยาว ฝนเพิ่งมาตกช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ช่วงออกดอก ออกผล ปริมาณน้ำไม่พอ แต่คุณภาพใกล้เคียงกัน แต่เมื่อนำราคาขายคูณจำนวนได้มูลค่าลดลงช่วงครึ่งปีหลัง
หนอนเจาะเมล็ดป้องกันได้
ส่วนปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ที่ผ่านมาทางแพลททินัมฯได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกทุเรียนในจังหวัดยะลา ซึ่งได้คุณภาพดี เพราะปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนป้องกันได้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนของจังหวัดยะลาส่วนใหญ่เกิดในสวนใหม่ ๆ
ซึ่งรอบสวนเป็นพื้นที่ป่า ยังมีแมลงโดยรอบ การฉีดยาป้องกันแมลงไม่สามารถใช้เทคนิคเดียวกับ จ.จันทบุรีที่พ่นยาเพียงครั้งเดียวได้ วิธีการแก้ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจังหวัดยะลา คือต้องพ่นยาระยะยาว ๆ ถี่ขึ้น จนกว่าเปลือกจะแข็งพอที่หนอนเจาะไม่เข้า สารเหล่านี้ไม่มีอันตราย เป็นสารไล่แมลง กึ่งอินทรีย์ สมัยก่อนสารตกค้างเพราะใช้โลหะหนักเป็นส่วนผสม พ่นมากขนาดไหนก็ไม่ซึม
จ่อทุเรียนเวียดนามแซงไทย
ขณะที่เวียดนามไม่มีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง แต่บางพื้นที่มีข่าวตรวจพบสารแคดเมียม ทางรัฐบาลเวียดนามมีการแบนไปแล้ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามมีการรณรงค์ให้โค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกทุเรียน ทำให้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากขึ้น มีปริมาณผลผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ
คาดการณ์ว่าจบไตรมาส 3/2567 ไตรมาส 4/2567 มูลค่าในการส่งออกทุเรียนของเวียดนามอาจจะสูงพอ ๆ กับไทย ด้านมูลค่าในการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่เรามองที่คุณภาพที่จะนำไปขาย รายได้ต่อกิโลกรัมดีขึ้น ชาวสวนรวยขึ้น ทุกอย่างแฮปปี้ อย่างไรก็ตาม ทุเรียนไทยจะสู้เวียดนามได้ ชาวสวนไทยต้องปลูกทุเรียนที่ได้คุณภาพไปส่งออกจีน
“มูซังคิง” มาเลย์บุกจีน
มาเลเซียเน้นขายทุเรียนพันธุ์มูซังคิง ราคาต่อกิโลกรัมสูง เนื่องจากปริมาณการนำเข้ามีจำกัด หากวันหนึ่งปริมาณมากขึ้นราคาจะร่วงลงมา ข้อเสียของทุเรียนมูซังคิง คืออายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ต้องเก็บเกี่ยวเกินความแก่ 95% คือความสุกของผลเกือบจะหลุดออกจากต้น ทุเรียนถึงจะมีรสชาติเป็นที่ต้องการ เพราะฉะนั้น Shelf Life จริง ๆ ที่เป็นผลสดไม่เกิน 5 วันหลังเก็บเกี่ยว ต้องให้ถึงมือผู้บริโภคภายใน 5 วันจะรสชาติอร่อย แต่ถ้าหากเก็บก่อนกำหนดรสชาติจะไม่อร่อย
การขนส่งจากมาเลเซียไปจีน ถ้าขนส่งทางเรือต้องใช้เวลา 7-8 วัน มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลต่อรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ความหวานของมูซังคิงต้องเป็นการขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งต้นทุนแพง สุดท้ายก็ต้องกลับไปที่การส่งออกทุเรียนแช่แข็ง จึงมองว่ามาเลเซียไม่ได้เป็นคู่แข่ง เพราะต่อให้ส่งผลสด ในระยะปีแรกผู้บริโภคอาจจะเข้าไปลอง แต่ถ้าหากทานไปแล้วพบว่ารสชาติไม่ใช่มูซังคิงแช่แข็งที่เคยกิน ที่เคยส่งมาทางเครื่องบิน ผู้บริโภคก็จะไม่ติด
ลำพูนโมเดลลำไยเกรด A
ภาพรวมผลผลิตลำไยทั้งในฤดูและนอกฤดูปีนี้คาดว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น ตอนนี้เป็นช่วงผลผลิตลำไยในฤดูของภาคเหนือกำลังออกมากกว่า 6 แสนตัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมผลผลิตออกมากที่สุด แต่มีคุณภาพสามารถส่งออกได้เพียง 20% ซึ่งมีผลต่อราคา การจะแก้ปัญหาราคาลำไยอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพของผลผลิตและตลาด
ทางแพลททินัม ฟรุ๊ตจึงได้ทำโครงการ “ลำพูนโมเดล” ขึ้น โดยมุ่งพัฒนาให้ลูกลำไยจากเกรด B-C กลายเป็น A และ AA โดยใช้ลำไยพันธุ์ดั้งเดิม คือพันธุ์อีดอ โดยสามารถพัฒนาทำให้ราคาพุ่งขึ้นมากกว่า 3 เท่า จากที่ชาวสวนต้องส่งผลผลิตไปทำลำไยอบแห้ง เพราะผลผลิตไม่ได้คุณภาพ และผลร่วง
เริ่มการทดลองที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อเดือนมีนาคม 2567 มีชาวสวนเข้าร่วม 30 แปลง รวมพื้นที่กว่า 150 ไร่ ทางแพลททินัม ฟรุ๊ต เริ่มจากส่งทีมงาน R&D เข้าไปสำรวจสวน ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็น และให้คำแนะนำในการปรับปรุง หลังจากนั้นพาชาวสวนไปดูสวนลำไยตัวอย่างที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งปลูกได้ผลผลิตคุณภาพส่งออก และมีปริมาณผลผลิต 1.2 ตันต่อไร่ ส่วนที่ จ.ลำพูนได้ปริมาณผลผลิต 700 กก.ต่อไร่
โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ จะต้องแบ่งพื้นที่ 5 ไร่มาทำแปลงทดลองตามโปรแกรมที่กำหนด แต่สวนต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ พร้อมให้งบประมาณแปลงละ 15,000 บาท และเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2567 เริ่มเก็บเกี่ยว ปรากฏว่าผลผลิตลูกใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน แพลททินัม ฟรุ๊ต มีแผนขยายโครงการลำพูนโมเดลไปยังพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และในอนาคตมีแผนขยายเพิ่มไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของภาคเหนือต่อไป
ดีมานด์ลำไยตลาดโลกพุ่ง
ลำไยเป็นผลไม้อีกชนิดที่ควรผลักดันให้มีการส่งออกมากยิ่งขึ้น รสหวานทานง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็น สามารถแปรรูปได้หลายแบบ มีอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ได้นาน ทำให้สามารถขนส่งได้ไกล สร้างความนิยมได้มากกว่า ขณะเดียวกัน หากพิจารณาตลาดผลไม้ในโลก องุ่นถือเป็นผลไม้คู่แข่งหลักของลำไย แต่ที่สำคัญต้องพัฒนาให้ลำไยมีลูกใหญ่ เนื้อเยอะ เมล็ดเล็ก ความต้องการในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันแพลททินัม ฟรุ๊ต ส่งออกลำไยสดเกรดพรีเมี่ยม เบอร์ AA และ A ใน 3 ตลาดหลัก ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อังกฤษ และล่าสุดคืออินเดียเพิ่งเข้าไปทำตลาด ช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทส่งออกลำไยรวมกว่า 20,000 ตัน และคาดว่าภายในปี 2567 สามารถส่งออกลำไยได้เพิ่มขึ้นอีก 50% หรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 30,000 ตัน และอยู่ระหว่างผลักดันการส่งออกลำไยแกะเมล็ดแช่แข็งเพิ่มเติมด้วย
มีสวนลำไยในเครือข่ายภาคเหนือทั้งหมด 8 จังหวัด มีคนงานเก็บลำไยเกือบ 1,000 คน แบ่งเป็น 1 สวนต่อ 100 คน ต่อการเก็บใน 1 ครั้ง เช่น จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.พะเยา จ.น่าน อ.แม่สอด จ.ตาก จะมีทีมเข้าไปไล่เก็บ ทำต่อเนื่องทั้งปี ทั้งในฤดูและนอกฤดู แต่หยุดพักเฉพาะเดือนพฤษภาคม ส่วนทางภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี สระแก้ว
“ยาง” เทรนด์สินค้ามาแรง
ปีนี้จะส่งออกสินค้าเกษตรใหม่เพิ่มขึ้นคือ “ยางพารา” จะรับซื้อยางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตยางเครป ยางแท่ง STR20 เพื่อนำไปทำยางล้อรถยนต์ เพื่อส่งออกไปตลาดอินเดียและจีน โดยมุ่งไปที่ประเทศอินเดียเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ โดยข้อดีของตลาดอินเดียคือ ประชากรจำนวนมาก มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทุกเมืองกำลังเติบโต ความต้องการใช้สูง
ทั้งนี้ มุมมองในการส่งออกสินค้าเกษตร เราต้องศึกษาให้รู้เทรนด์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ช่วงแรกสนใจส่งออกมันสำปะหลัง แต่พอมีข้อมูลว่ามีการใช้ถ่านหินมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลทดแทนพืชผลทางการเกษตรอย่างมันสำปะหลังได้ จึงเปลี่ยนมามองไปที่ยางพารา
และขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมในประเทศอินเดียกำลังเติบโต และมีความต้องการใช้ คือโลจิสติกส์ เนื่องจากประเทศอินเดียมีความเจริญแค่รอบนอก พื้นที่ติดทะเล ท่าเรือ ซึ่งอินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่ ดังนั้น ต้องใช้รถ และรถที่ใช้แล้วจะเกิด GDP ได้คือรถอุตสาหกรรม รถบรรทุก และยางที่เหมาะสมกับรถบรรทุกคือยางไทย มีความแข็ง อนาคตอุตสาหกรรมยางพารามีแนวโน้มแพงขึ้น เพราะยางพาราสามารถทดแทนแร่ หรือวัสดุที่ใช้แล้วหมดไปได้ ดังนั้น ความเสถียรจะอยู่ที่การตลาด หรือ R&D แข่งกันที่คุณภาพ