“ธุรกิจรถแทรกเตอร์การเกษตร” ข้ามชาติ “จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป” แข่งเดือด ลด แลก แจก แถม หลังยอดขายครึ่งปี 2567 “วูบหาย” ไป 20% เหตุเจอหลายปัจจัยกระทบ ทั้งแบงก์ไฟแนนซ์เข้มสินเชื่อ ร้อนแล้งลากยาว ผลผลิตลด เศรษฐกิจฝืด เผยจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง “สุราษฎร์ฯ-นครศรีธรรมราช” เนื้อหอม จีน-อินเดีย-ยุโรป แห่ตั้งศูนย์จำหน่ายและบริการ ทั้งแบรนด์มหินทรา, จอห์นเดียร์, นิวฮอลแลนด์, เอฟเอ็มเวิลด์
นายวินัย ปิ่นทองพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิ่นทองแทรกเตอร์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิ่นทองวิศว จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถอิเซกิ ญี่ปุ่น และผู้แทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์เอฟเอ็มเวิลด์ จีน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตรถแทรกเตอร์การเกษตรแบรนด์ต่าง ๆ จากต่างประเทศที่มาตั้งในประเทศไทย ทั้งญี่ปุ่น จีน อินเดีย และยุโรป ต่างเร่งทำแผนส่งเสริมการตลาดด้วยการจัดโปรโมชั่นแข่งขันกันทุกรูปแบบ
เพื่อกระตุ้นยอดขาย ทั้งลด แลก แจก แถม เช่น ฟรีดาวน์ ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้ออยู่จำนวนจำกัด ภายหลังจากผ่านมาครึ่งปี 2567 ยอดขายตลาดรถแทรกเตอร์การเกษตรทั้งระบบหายไปประมาณ 20% จากภาพรวมที่คาดว่าปี 2567 ตลาดรถแทรกเตอร์การเกษตรทั้งระบบจะมียอดขายประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี
“ภาวะภาพรวมตลาดรถแทรกเตอร์การเกษตรในปี 2567 ค่อนข้างจะฝืดจากผลกระทบหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินไฟแนนซ์ที่เข้มงวด เรื่องภัยทางธรรมชาติ เรื่องภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลให้ยอดขายในช่วงครึ่งปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก ตอนนี้มีผู้ต้องการซื้อรถแทรกเตอร์การเกษตรสูงถึง 100 คัน
แต่สามารถขอสินเชื่อผ่านได้ประมาณ 50 คัน เนื่องจากสถาบันการเงินไฟแนนซ์มีนโยบายและมาตรการออกมาเข้มข้นมาก หากลูกค้ามีประวัติเครดิตบูโรไม่สามารถขอสินเชื่อได้ ส่งผลให้ผู้มีความต้องการซื้อรถได้รับผลกระทบมาก” นายวินัยกล่าวและว่า
ขณะเดียวกันปีนี้เกิดภาวะแล้งจัดและลากยาว ทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชผลทางด้านการเกษตรได้ และบางพื้นที่ปลูกได้ แต่ปริมาณที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการรถแทรกเตอร์ไม่กล้าลงทุนซื้อ เพราะไม่สามารถทำการเกษตรได้ รายได้ไม่แน่นอน เช่น ในกลุ่มสวนปาล์มน้ำมัน กลุ่มสวนยางพารา กลุ่มนาปรังก็ต้องระงับการทำนาในที่สุด จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมตลาดรถแทรกเตอร์การเกษตร
“นอกจากนี้ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ดี ทำให้ภาระหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ที่ผู้ซื้อรถแทรกเตอร์การเกษตรไปก่อนหน้านี้ จำนวน 10 คัน สามารถชำระผ่อนได้เพียง 2-3 คัน ขณะนี้ผู้ประกอบการรถแทรกเตอร์การเกษตรต่างมีนโยบายพยายามประคับประคองกันไป” นายวินัยกล่าว
นายวินัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ตลาดที่ยังพอจะขายได้ เช่น จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ สงขลา และ จ.พัทลุง ทำให้โรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน อินเดีย และยุโรป ยังคงมุ่งเป้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ โดยมี 3-4 แบรนด์ มาตั้งเป็นศูนย์จัดจำหน่ายที่ภาคใต้ตอนกลาง
ทั้งที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช เช่น แบรนด์มหินทรา (Mahindra) จากประเทศอินเดีย, แบรนด์จอห์นเดียร์ (JOHN DEERE) และนิวฮอลแลนด์ (New Holland) จากกลุ่มสหภาพยุโรป และแบรนด์เอฟเอ็มเวิลด์ (FM WORLD) จากประเทศจีน
“รถแทรกเตอร์ที่ยังเป็นเจ้าตลาดครองอันดับต้นในประเทศไทย คือแบรนด์คูโบต้า และรองลงมาแบรนด์ยันม่า ส่วนแบรนด์อื่นก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ยิ่งเร่งมือทำการตลาด โดยเฉพาะแบรนด์จีน ได้มีการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการในพื้นที่อย่างเข้มข้น ทั้งรูปแบบ และราคาที่ไม่สูง ตลอดจนถึงการจัดตั้งศูนย์บริการและอะไหล่ สินค้าจีนจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร คนไทย สำหรับรถแทรกเตอร์แบรนด์ยุโรปเริ่มเข้ามาเปิดศูนย์ทำตลาดออนไลน์ช่วงโควิด-19
นายวินัยกล่าวอีกว่า ในระยะหลังสินค้าจีนจำนวนมากสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยได้มากขึ้น โดยเริ่มปรับทั้งเรื่องคุณภาพและราคาถูก จะเห็นได้ว่าสินค้าจีนมีอยู่หลากหลายแทบทุกครัวเรือนที่ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
“การใช้รถแทรกเตอร์การเกษตรที่ราคาไม่สูงเป็นเวลาที่เหมาะสมกับสภาพการเกษตรไทยปัจจุบัน เพราะต้นทุนการผลิตการเกษตรไทยสูงมาก แต่สินค้าการเกษตรไทยกลับขายได้ราคาต่ำ รถแทรกเตอร์จีนราคาไม่สูงจึงเป็นทางเลือกที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้” นายวินัยกล่าว