ธุรกิจดิจิทัลเหนือโต 2 แสนล้าน New Tech SME-Startup บุกตลาดโลก

Narong
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

สมาคมธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือ (Northern Digital Enterprise Association : NDEA) เป็นการรวมตัวของภาคเอกชนน้องใหม่ของภาคเหนือ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับนโยบายการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor ที่มุ่งเป้าชัดเจนในการเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ หรือ Creative Lanna ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการโดยต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่

ภาพใหญ่ของธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือในปัจจุบัน สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เติบโตได้ถึงกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

คลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็น 1 ใน 4 รวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจึงนับเป็นความท้าทายของสมาคมน้องใหม่ที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนขยายขนาดเศรษฐกิจ 2 เท่าตัวในภาพรวม 4 จังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจจากเดิม 5 แสนล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาทในทศวรรษหน้า

โดยเฉพาะกลุ่ม New Tech SME และ Tech Startup เป็นธุรกิจดาวเด่นที่ปั้นแพลตฟอร์มเฉพาะทางระดับประเทศ ทั้งด้านการทำงานออนไลน์ สุขภาพ (Health) การหาแม่บ้าน และการหาแรงงาน ฯลฯ “ณรงค์ ตนานุวัฒน์” นายกสมาคมธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือ (NDEA) ให้สัมภาษณ์ ็ประชาชาติธุรกิจิ ถึงทิศทางและก้าวเดินของสมาคมที่จะมุ่งยกระดับธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือต่อยอดสู่ตลาดโลก

มูลค่าดิจิทัลเหนือ 2 แสนล้าน

ณรงค์บอกว่า หากมองภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ในปี 2565 มีมูลค่ารวม 2,614,109 ล้านบาท เป็นสัดส่วนของอุตสาหกรรมดิจิทัลภาคเหนือ มีมูลค่าอยู่ที่ 224,813 ล้านบาท (Software&Software Services 16,405 ล้านบาท) (Hardware&Smart Devices 123,150 ล้านบาท) (Digital Servies 24,210 ล้านบาท) (Digital Content 3,484 ล้านบาท) (Telecom 57,562 ล้านบาท)

และเป็นสัดส่วนของอุตสาหกรรมดิจิทัลเชียงใหม่ มีมูลค่าอยู่ที่ 56,203 ล้านบาท (Software & Software Services 4,101 ล้านบาท) (Hardware & Smart Devices 30,787 ล้านบาท) (Digital Servies 6,052 ล้านบาท) (Digital Content 871 ล้านบาท) (Telecom 14,390 ล้านบาท) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งกระบวนการตอบสนองตลาดที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่โดยเฉพาะให้สอดคล้องกับแผนแม่บทระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือที่ได้กำหนดไว้

ADVERTISMENT

ประการสำคัญการเคลื่อนตัวของสมาคมจะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่เพื่อตอบสนองกับตลาดความต้องการด้านดิจิทัลในพื้นที่ซึ่งต้องสร้างกลไกความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐที่สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้เพื่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาทักษะรองรับในพื้นที่

ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมได้ร่วมระดมสมองกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ DEPA และ NIA เพื่อสร้าง Road Map การขับเคลื่อนไปสู่อนาคต ซึ่งจะได้ผลักดันให้มีกิจกรรมโครงการและงบประมาณบรรจุในแผนงานของระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือต่อไป

ADVERTISMENT

ดัน New Tech SME-Startup

ณรงค์บอกว่า ปัจจุบันภาคเหนือเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัล โดยมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทางสมาคมได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาภาคเหนือตอนบน ให้ก้าวสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือมีโอกาสเติบโตอย่างมาก

โดยจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากเดิมในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่เป็น Tech SME ทั้งนี้ พบว่า 50% เป็นธุรกิจที่ไม่สามารถไปต่อได้ และอีก 50% พอไปได้ ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น New Tech SME ที่จะนำมาผนวกกับกลุ่ม Tech Startup เป็นการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่

ล่าสุดได้รวมกลุ่ม Cluster ดิจิทัล 30 บริษัท แยกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม Software House-Software Service และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์-Networking โดยมีผลิตภัณฑ์รวมทั้งสิ้นราว 60 รายการ มีแรงงานงานด้านดิจิทัลที่ทำงานกับธุรกิจดิจิทัล 30 บริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคม ราว 800 คน ถือเป็น New S-curve ที่สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจของภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ให้เติบโตในอนาคต สำหรับมูลค่าธุรกิจของ 30 บริษัทดังกล่าว มีมูลค่ายอดขายต่อปีรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านบาท

เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

ณรงค์บอกต่อว่า สมาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนหลักคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจดิจิทัล ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานในธุรกิจซอฟต์แวร์ เข้าสู่มาตรฐาน ISO 29110 ที่เป็นมาตรฐานระดับโลก นอกจากนี้คือ การปรับเปลี่ยนธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการผลิต การแปรรูป ธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจขายรถยนต์ โปรแกรมเงินเดือน โปรแกรมบัญชี ฯลฯ โดยใช้ซอฟต์แวร์ของธุรกิจที่เป็นสมาชิกของสมาคมกระจายออกสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันยังมุ่งการส่งเสริมซอฟต์แวร์ดิจิทัลเข้าไปช่วยในภาคเกษตรพื้นที่สูง และการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะได้ผลักดันโครงการผ่านจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้าง Cluster กลุ่มดิจิทัลในปี 2569 ซึ่งได้งบประมาณสนับสนุนจำนวน 9 ล้านบาท

“โมเดลธุรกิจดิจิทัลเดิมเน้นเฉพาะ Enterprise Software อาทิ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และดิจิทัลคอนเทนต์ แต่ Tech Startup เน้นการทำแพลตฟอร์ม ซึ่งในกลุ่มของสมาคมดิจิทัลภาคเหนือเน้นการทำแพลตฟอร์มเฉพาะทาง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มทางด้านการทำงานออนไลน์ แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ (Health) แพลตฟอร์มในเรื่องของการหากำลังคน เช่น การหาแม่บ้าน หรือการหาแรงงาน เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจดิจิทัลของภาคเหนือส่วนใหญ่ มีตลาดที่เติบโตมากในภาคกลางและทั่วประเทศ มีฐานการผลิตใหญ่ในเชียงใหม่ แต่มีลูกค้าอยู่ทั่วประเทศ แพลตฟอร์มสามารถขายได้ทั่วประเทศ สัดส่วนมากถึง 60-70% และอนาคตจะออกสู่ภูมิภาคระดับโลก”

โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัล การเร่งกระตุ้นคลัสเตอร์เศรษฐกิจหลักในพื้นที่ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจเกษตรและอาหารแปรรูปสินค้า รวมถึงจำนวน Digital Nomads การเร่งให้เกิด Startup เพื่อพัฒนาระบบหลักสูตร และโครงสร้างพื้นฐานรับรองการพัฒนาด้านดิจิทัล สำคัญสุดคือ การจ้างงานมูลค่าสูงในอุตสาหกรรม และผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ภาคเหนือ

แพลตฟอร์มดังระดับประเทศ

ณรงค์กล่าวว่า คลัสเตอร์ธุรกิจดิจิทัลของสมาคมมีศักยภาพมาก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Creative Lanna หลายธุรกิจกลายเป็นแพลตฟอร์มระดับประเทศ เช่น Platform Beneat บริการแม่บ้านออนไลน์

ปัจจุบันมียอดขายต่อปีกว่า 200 ล้านบาท, DayWork เป็นรูปแบบใหม่ของการให้บริการระบบงานบริหารงานบุคคล ยอดขายต่อปีราว 100 ล้านบาท, Ocare Health Hub การจัดทำซอฟต์แวร์โปรแกรมสุขภาพ เป็นการใช้ AI ในด้านการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาล 45 แห่งนำไปใช้, HORGANICE แพลตฟอร์มจัดการหอพัก อพาร์ตเมนต์ ห้องเช่า, MANAWORK แพลตฟอร์มเพื่อการจัดการงาน บริหารโปรเจ็กต์ และทีมออนไลน์ และ Chaoperty (เช่าเพอร์ตี้) แพลตฟอร์มระบบจัดการพื้นที่เช่า สามารถจัดการได้ตั้งแต่การปล่อยเช่า รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์มของธุรกิจที่มีแนวโน้มและทิศทางที่ไปได้ดี

ผนึกเมืองออสตินสู่ตลาดโลก

ล่าสุดทางสมาคมได้เชื่อมโยงกับเมืองออสติน รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเชียงใหม่ โดยจะได้นำ Tech Startup ของทั้งสองเมืองมาร่วมมือกัน ที่จะต่อยอดผู้ประกอบการดิจิทัลภาคเหนือสู่ตลาดระดับโลก

ขณะเดียวกัน บริษัทมูราตะในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ที่มียอดขายราว 10,000-20,000 ล้านบาท ก็ให้ความสนใจที่จะร่วมทำ Platform Digital กับทางสมาคม เพื่อนำไปใช้ในเครือของมูราตะ คาดว่าในอนาคตจะมีมูลค่าเกิดขึ้นเป็นหมื่นล้านเช่นกัน ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้าง Talent Mobility ของผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพื่อเชื่อมร้อยการเป็น New Tech SME และ Tech Startup ที่ผสานรวมกัน

ณรงค์บอกอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือเติบโต คือ เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีสถาบันการศึกษา 14 แห่ง และมีสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศ 3-4 แห่ง ด้าน IOT Automation อาทิ มช. มทร.ล้านนา ม.แม่โจ้ ม.ราชภัฏ และ ม.เอกชนอีกหลายแห่ง ซึ่งทุกสถาบันการศึกษาทั้ง 14 แห่งเน้นดิจิทัลอยู่แล้ว ผลิตนักศึกษาด้านนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านศักยภาพของเชียงใหม่ ที่มีค่าครองชีพถูกแต่คุณภาพชีวิตสูง เป็นฐานของกลุ่ม Digital Nomad 1 ใน 3 ของโลก เป็นต้น

แผนยุทธศาสตร์เชิงรุกในอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องวางให้เป็นแกนขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่หมุนให้ภาคเศรษฐกิจในพื้นที่ขับเคลื่อนบนฐานของดิจิทัล ที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือที่กำลังเข้าสู่ระบบในอนาคต ร้อยเรียงกับจุดแข็งในพื้นที่โดยเฉพาะอาณาจักรนิคมอุตสาหกรรมลำพูนที่เป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจใหญ่ของภาคเหนือตอนบน ที่มีความต้องการซอฟต์แวร์ที่ครบวงจรในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อการส่งออก