บางจาก-TFD-บาวแดงทุ่มแสนล้าน ผุดรง.แบตเตอรี่-นิคมอุตแปดริ้ว

10 โครงการยักษ์ลุยอีอีซีแปดริ้ว 20,000 ไร่ ผุดโปรเจ็กต์ลงทุนใหม่แสนล้าน “บางจาก” ซื้อที่ 5.8 พันไร่ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม เผย 2 นิคมเจ้าถิ่น TFD ขึ้นแห่งที่ 3 นิคม 304 รุกอสังหาฯ กลุ่มคาราบาวแดงตั้งนิคม Smart Green City Park ทำอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม เล็งล็อบบี้ปรับผังเมืองเป็นพื้นที่สีม่วง

หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปรากฎว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งรัฐบาลวางไว้เป็นเมืองใหม่ที่อยู่อาศัย กลับมีอุตสาหกรรมสนใจเข้าไปลงทุนจำนวนมาก

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายรายได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมกว่า 20,000 ไร่ เตรียมลงทุนโครงการขนาดใหญ่ประมาณ 10 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนหลายแสนล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจพลังงาน 2 บริษัท โครงการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และสุขภาพ รวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท แต่ทั้งหมดยังติดปัญหาอยู่ในพื้นที่สีเขียวไม่สามารถสร้างโรงงานได้ ที่สำคัญ โครงการเหล่านี้ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา (นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ นิคมอุตสาหกรรม 304 และนิคมอุตสาหกรรม TFD 2) ไม่มีพื้นที่รองรับเพียงพอ ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาล เปลี่ยนพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่สีม่วงให้สามารถลงทุนได้

โดยเฉพาะโครงการของเครือบริษัทบางจากมีถึง 2 โครงการ คือ การลงทุนของบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอทำโครงการผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และนวัตกรรมด้านพลังงาน รวมทั้งการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งเมื่อช่วงต้นปี 2560 บริษัท BCP Innovation Pte. Ltd. (BCPI) ในเครือบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 50 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท ใน Lithium Americas Corp. หรือ LAC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตรอนโต ประเทศแคนาดา และดำเนินโครงการเหมืองลิเทียมที่ประเทศอาร์เจนตินา และประเทศสหรัฐอเมริกา

เพื่อขยายธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและนวัตกรรมพลังงาน ดังนั้น บางจากจึงมองหาโอกาสที่จะต่อยอดแร่ลิเทียมดังกล่าว คาดว่า 2 โครงการจะรวมมูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดยบางจากมีที่ดินประมาณ 5,800 ไร่ ที่ติดปัญหาผังเมือง และโครงการขยายการลงทุนโรงงานผลิตเอทานอลของบริษัท บางจากไบโอเอทานอล จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งทั้ง 2 โครงการตั้งอยู่บริเวณ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่สีเขียวเขตเกษตรกรรม และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ มีโครงการลงทุนด้านพลังงานทดแทน โดยมีพื้นที่ประมาณ 2,500-3,000 ไร่ แต่ยังติดปัญหาพื้นที่เกษตรกรรม

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 2 ราย คือ กลุ่มเตชะอุบล เจ้าของ บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) ผู้ประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี และนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 หลังจากขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 จำนวน 840 ไร่ได้หมด ได้เตรียมยื่นขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 3 มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ขึ้นใหม่บริเวณใกล้เคียงกับ 2 นิคมอุตสาหกรรมเดิม บริเวณ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีที่ดินไว้แล้วประมาณ 1,000 ไร่ แต่ยังไม่สามารถดำเนินได้ เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่สีเขียวเช่นกัน

รวมถึงบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 304 ได้เตรียมทำโครงการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มบริเวณพื้นที่ อ.พนมสารคาม ใกล้เคียงกับพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม 304 ในปัจจุบัน โดยมีที่ดินประมาณ 1,000 ไร่ เตรียมไว้แล้ว ยังติดปัญหาพื้นที่สีเขียว

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ที่น่าสนใจคือ บริษัท เดอะซิตี้ จำกัด ของเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ซึ่งทำเครื่องดื่มชูกำลังได้โดดลงมาร่วมลง โดยได้เตรียมที่ดินไว้แล้วประมาณ 1,000 ไร่ ยื่นขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในชื่อ Smart Green City Park บริเวณ ต.บางวัวคณารักษ์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อทำอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงอาหารสุขภาพ แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาผังเมืองเป็นพื้นที่สีเหลือง

นอกจากนี้ ตระกูลเตชะไพบูลย์ ในนามบริษัท โลตัส วัลเล่ย์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสนามกอล์ฟ ได้เสนอทำกิจการโรงแรม ท่องเที่ยวและบริการ โดยมีที่ดินประมาณ 1,000 ไร่ แต่ติดปัญหาผังเมืองเช่นเดียวกัน รวมถึงบริษัท ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจกำจัดขยะมูลฝอยในอำเภอพนมสารคาม มีพื้นที่ 1,500 ไร่ ต้องการพัฒนาระบบกำจัดขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพครบวงจร แต่ไม่สามารถทำได้เพราะติดปัญหาผังเมืองเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีโรงงานอีกประมาณ 43 ราย รวมมูลค่าลงทุนเกือบ 50,000 ล้านบาท มีโครงการขยายกำลังการผลิต แต่ติดปัญหาเรื่องผังเมืองในพื้นที่สีเขียวเช่นกัน โดยมีธุรกิจหลัก ๆ เช่น พลังงาน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เหล็ก อาหารและเครื่องดื่ม เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์ เป็นต้น