นิคมอุดร เปิดหาผู้รับเหมา ทำสาธารณูปโภคพันล้าน !

นิคมอุตสาหกรรมอุดรฯคืบ 80% เร่งเปิดประมูลหาผู้รับเหมาสร้างสาธารณูปโภค 1,200 ล. คาดกลางปี2562 เสร็จ พร้อมลุยเจรจากรมศุลกากรตั้งเขต free zone วาดอนาคตเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯระดมทุน

หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวและยุทธศาสตร์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนยื่นเสนอพื้นที่มา และเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2557 กนอ.ได้ลงนามสัญญากับบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เพื่อดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จ.อุดรธานี โดยมีเอกชนผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค บนพื้นที่ 2,219 ไร่ ต.โนนสูง และ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี มูลค่า 2,900 ล้านบาท

นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธาน บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีบริษัทตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูลและติดตามความก้าวหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อเตรียมนำข้อมูลไปจัดทำเอกสารนำเสนอนักธุรกิจที่สนใจเข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันในเดือนหน้าจะมีบริษัทตัวแทนจากประเทศจีนเดินทางเข้ามาดูพื้นที่เช่นกัน สำหรับความคืบหน้าในการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นั้น คาดว่ากลางปี 2562 จะแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้วว่า ปลายปีนี้ถึงต้นปี 2562 ทางนิคมฯจะสั่งเครื่องจักร เช่น เครื่องบำบัดน้ำเสีย เครื่องสูบน้ำเข้ามา คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของสาธารณูปโภคประมาณ 1,200 ล้านบาท และบริษัทมีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคตอีกด้วย

“โดยสภาพพื้นที่และถนนหลักภายในโครงการมีการปรับเกรดแล้วเสร็จ 80% สถานีไฟฟ้าย่อยภายในโครงการ ขนาด 100 MW มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2561 ตามแผนจะมีการเชื่อมโยงกระแสไฟกับจังหวัดสกลนคร ส่วนอาคารสำนักงานเตรียมว่าจ้างผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์หรือผ่านการทำงานเกี่ยวกับโครงการนิคมอื่น ๆ มาดำเนินการ โดยจะมีสายไฟฟ้าอยู่ใต้ดิน คาดว่าจะใช้งบฯก่อสร้าง 40-50 ล้านบาท”

ส่วนพื้นที่ติดทางรถไฟกว่า 400 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (container yard – CY) และบ่อเก็บน้ำสำรองจำนวน 3 บ่อ พื้นที่ 110 ไร่ ความจุรวม 1,600,000 ลบ.ม. ซึ่งทางนิคมฯได้เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาดำเนินโครงการท่าเรือบก หรือ inland container depot : ICD ในพื้นที่ของนิคมฯ และบรรจุลงในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งล่าสุดนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข.ได้ทำหนังสือถึงบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานีฯ แจ้งว่า เป็นแนวทางที่เหมาะสมจึงเสนอคณะกรรมการกำกับงานศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟฯ กำหนดพื้นที่ CY จากบริเวณสถานีหนองตะไก้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟฯ ระยะกลาง ปี 2565-2569 และเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาดำเนินการต่อไป

ลาน ICD – สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ลงพื้นที่ตรวจดูความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยเฉพาะพื้นที่ติดทางรถไฟกว่า 400 ไร่ ที่เสนอให้ทเป็นลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (container yard – CY) ภายในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาติดต่อเป็นบริษัทเอเย่นต์ที่ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการมาตลอด 3-4 ปีแล้ว โดยบริษัทเอเย่นต์รายนี้มีลูกค้ากว่า 1,000 บริษัท ซึ่งการมาดูพื้นที่ และขอข้อมูลบ่อย ๆ ถือเป็นการแสดงความเชื่อมั่นและให้ความสนใจ แต่พฤติกรรมการตัดสินใจของคนญี่ปุ่นใช้เวลานาน เชื่อมั่นว่าปลายปีนี้น่าจะมีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีได้เข้าพบทาง กนอ. เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดตั้งเขตปลอดอากร (free zone) ได้รับข้อเสนอแนะว่า ควรจัดตั้งเป็นเขตปลอดอากรของกรมศุลกากร เนื่องจาก 1.ตามประกาศเขตของ กนอ. นิคมฯอุดรธานีไม่ได้กำหนดพื้นที่สำหรับเขตประกอบการเสรี (free trade zone) ไว้ หากจะจัดตั้งต้องเสนอขออนุมัติต่อ กนอ. ใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการ และ 2.การจัดตั้งเขต free zone เป็นอำนาจอนุมัติของอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งขั้นตอนการจัดตั้งจะง่ายกว่า แต่จะได้สิทธิประโยชน์เหมือนกับ free trade zone ซึ่งทางญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก

ประเด็นหลักที่ต่างชาติให้ความสำคัญ เช่น 1.โรงงานขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเรื่องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หากลดได้มากสามารถกู้เงินได้มาก หรือจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยลง รวมถึงการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเป็นนิคมฯสีเขียว 2.เรื่องแรงงานคุณภาพในพื้นที่ ซึ่งคนอุดรธานีถึง 30% กระจายไปทำงานต่างประเทศ และนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถือว่ามีประสบการณ์สูง หากมีนิคมฯเกิดขึ้น คนอุดรฯจะกลับมาทำงานที่บ้าน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง 3.เรื่องการคมนาคม ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน มีถนนเชื่อมไปยัง สปป.ลาว และจีนได้ ทางญี่ปุ่นมองว่าเป็นจุดที่ดีมาก

ส่วนสนามบินอุดรธานีเป็นสนามบินนานาชาติ ส่วนท่าเรือบก ญี่ปุ่นมองว่า รัฐบาลไทยน่าสนใจเข้ามาจัดตั้ง เพราะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ส่วนรถไฟรางคู่ รัฐบาลยืนยันว่ามาแน่นอน พร้อมกับเรื่องเทคโนโลยี