
ปัญหาทุเรียนไทยปนเปื้อนสาร “แคดเมียม” ที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แจ้งเตือนมาในปี 2567 จำนวน 6 ครั้ง 16 ชิปเมนต์ และขอให้ไทยระงับการส่งออกบริษัทส่งออก (PC) โรงคัดบรรจุ และสวน (GAP) ที่พบปัญหาชั่วคราว และให้ไทยเข้มงวดการส่งออกทุเรียนที่อาจจะมีแคดเมียมปนเปื้อนนั้น ผู้ส่งออก ชาวสวนไทยต่างวิตกกังวลถึงปัญหาดังกล่าว และมีการตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของต้นตอสารแคดเมียม
กรมวิชาการฯล้อมคอก
กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานหลักได้ตรวจสอบหาสาเหตุและกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศมาหารือกัน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 กำหนดมาตรการออกมา 11 ขั้นตอน ในการสุ่มตัวอย่างส่งไปห้องแล็บ เพื่อตรวจหาสารแคดเมียม มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 800 บาทต่อตัวอย่าง ก่อนส่งออกทุเรียนไทย ภายในระหว่างวันที่ 2-16 กันยายน 2567 เพื่อค้นหาสาเหตุจากการปนเปื้อนแคดเมียม
หากพบสารแคดเมียมอีกจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ หวั่นทางการจีนจะยกระดับมาตรการเข้มงวดแบบที่พบแคดเมียมในทุเรียนเวียดนาม กรมวิชาการเกษตรจึงเร่งจัดทำมาตรการและแนวทางป้องกันปัญหาเพื่อเจรจากับจีน
ตั้งแต่เริ่มมีปัญหาเดือนเมษายน 2567 กรมวิชาการเกษตรได้ลงพื้นที่ในสวนที่ส่งออก สุ่มตัวอย่าง ตรวจสภาพดิน น้ำ การใช้สารเคมี 6 ชนิด ผลทุเรียน และการใช้ผงขมิ้นในโรงคัดบรรจุ สรุปผลคือ มีทั้งที่พบ และไม่พบสารแคดเมียม แต่การตรวจพบสารแคดเมียม ไม่ได้เกินค่ามาตรฐานทั้งของจีนและของไทย คือ 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สรุปคือแทบไม่เจอเลย
ชงทำ Bubble & Sealed
อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตัวอย่างตรวจข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรถือว่ายังไม่เพียงพอ ทุเรียนตัดจากสวนพบค่าแคดเมียมต่ำมาก 0.003 มล./กก. ตัวอย่างยังไม่ชัดเจน ไม่ทราบสาเหตุชัดเจนเกิดจากอะไร จึงได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการส่งออกทุกรายสุ่มตัวอย่างทุเรียนส่งออกทุกตู้ ตู้ละ 1 กล่อง ตามขั้นตอน 11 ขั้น ช่วงระยะเวลา 15 วัน แต่ผู้ประกอบการยังคงส่งออกได้ตามปกติ ไม่มีผลกระทบกับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate :PC) เพียงแต่ถ้าผลตรวจออกมาพบสารแคดเมียมต้องตัดสินใจว่าจะขนทุเรียนชิปเมนต์นั้นกลับมาหรือไม่ถ้ายังคงส่งออก หากด่านจีนตรวจพบเพียง 1ตู้ ผู้ส่งออกจะถูกยกเลิกทะเบียนผู้ส่งออก (DU) โรงคัดบรรจุ ถูกยกเลิก GMP/DOA และชาวสวนถูกยกเลิก GAP ล้งที่ถูกยกเลิก DOA ที่ส่งออกผลไม้หลายชนิดจะส่งออกไม่ได้ทั้งหมด
นายนครินทร์ วนิชย์ถนอม ที่ปรึกษาฝ่ายตลาดสมาคมทุเรียนไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โจทย์ปัญหาทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม จะไม่มองเรื่องใครผิดใครถูก ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ตรงที่ต้นตอ ในเมื่อพบแคดเมียมในเนื้อทุเรียน อย่างแรก คือ 1) การทำ Bubble and Sealed แบบการคุมคนในช่วงโควิด-19 ด้วยการบริหารจัดการป้องกันควบคุมสารแคดเมียมในพื้นที่เฉพาะ ไม่ให้มีการนำเข้ามาและส่งออกไป เพื่อที่จะสำรวจแคดเมียมในพื้นที่ต่าง ๆ หากพบจะได้จำกัดวงพื้นที่ให้แคบ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุได้ชัดเจนขึ้น 2) การตรวจสอบตัวเองในสวนเพราะทุเรียนจะดูดซึมสารต่าง ๆ เข้าไปในเนื้อทุเรียน การต่อใบรับรอง GAP ตรวจสอบเรื่องของดิน น้ำ การใช้ปุ๋ย สารเคมี การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ควรเพิ่มความระมัดระวังเรื่องสารแคดเมียมที่จะเข้าไปปนเปื้อน เพื่อให้มีความปลอดภัย และ 3) เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปช่วยเกษตรกรในการตรวจสอบ ขณะที่ล้งต้องตรวจสอบตัวเองด้วย
“การออกมาตรการค้นหาแคดเมียมในล้งที่เป็นที่รวมทุเรียนจำนวนมาก อาจจะยากในการค้นหา แต่ล้งต้องมีความรับผิดชอบตรงนี้อยู่แล้วตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ควรทำไปพร้อม ๆ กับทางภาคใต้ เพื่อรองรับทุเรียนภาคตะวันออกและภาคอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะการค้นหาพื้นที่ โซนที่อาจจะพบหรือไม่พบสารแคดเมียม พื้นที่ประเทศไทยอาจจะมีน้อยมากหรือไม่มี เพราะมีฝนตกมาก เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนไทยภายในประเทศของเราเอง ประเด็นสำคัญคือ สโคปให้เจอปัญหาในวงแคบ ๆ ก่อน และออกมาตรการมาเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับจีน ซึ่งโรงคัดบรรจุแก้ไขไม่ได้ตามลำพัง ‘สวน’ ของเกษตรกรมีส่วนสำคัญมาก ต้องทำมาก่อน” นายนครินทร์กล่าวและว่า
กรณีพวกห้องเย็นที่นำเข้าทุเรียนเวียดนามมาทำทุเรียนแช่แข็ง ควรให้ทางเวียดนามตรวจแคดเมียมก่อนส่งออก เพื่อป้องกันการถูกตีกลับ
เร่งให้ความรู้การใช้ “ปุ๋ย-เคมี”
นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จ.ชุมพร (ศพก.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุการปนเปื้อนแคดเมียมเป็นเรื่องใหม่ของเกษตรกร ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากแหล่งใด ปุ๋ย สารเคมี ดินที่ปลูก ยาชุบทุเรียน หรือเป็นการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ที่พบสารแคดเมียมในเนื้อทุเรียนนั้น ส่วนใหญ่สารแคดเมียมมาจากการใช้ปุ๋ยและการใช้สารเคมีบางชนิดมีสารแคดเมียมปนเปื้อนมา อัตราส่วนจะมากหรือน้อย
ดังนั้นจึงเป็นกรณีเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องเข้ามาให้ความรู้กับเกษตรกรให้แพร่หลายที่สุด เพื่อให้เกิดความร่วมมือ การใช้สารเคมี ปุ๋ย ที่ได้รับรองมาตรฐาน เพราะปัจจุบันมีการนำปุ๋ยราคาถูกเข้ามาจำหน่าย เพราะปุ๋ยบางชนิดอาจจะมีแคดเมียมเป็นส่วนผสมอยู่ อนาคตการขายทุเรียนจะไม่ง่ายอีกต่อไป จะสร้างความยุ่งยากให้กับชาวสวนทุเรียน อาจจะต้องตรวจสารแคดเมียมในสวนก่อนจะขาย เหมือนตรวจหาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
ทางด้านแหล่งข่าวจากแผงรับซื้อทุเรียน โรงคัดบรรจุในจังหวัดชุมพรกล่าวว่า แคดเมียมอยู่ในเนื้อทุเรียน ต้องมองไปที่ปัจจัยการผลิต ซึ่งเกษตรกรโดยทั่วไปอาจจะยังไม่รู้ อย่างปุ๋ยของประเทศเวียดนามมีส่วนผสมของแคดเมียมจะมีการระบุข้างถุงให้เห็นชัดเจนว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ปุ๋ยของไทยยังไม่มีการระบุ รวมถึงการชุบขมิ้นที่ช่วยสมานผิวทุเรียนพบว่ามีแคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน จากการสุ่มตัวอย่างของกรมวิชาการเกษตรมีทั้งไม่พบและที่พบน้อยมากตั้งแต่ 0.001-0.003 ppm.
จี้รัฐสอบให้ชัดสวมสิทธิไทย
ด้าน นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีตรวจพบแคดเมียมในทุเรียนส่งออกของไทย เกินค่ามาตรฐานเพิ่งมีครั้งแรกปี 2567 อาจจะมาจากสภาพดินและน้ำในพื้นที่ปลูกทุเรียนในไทย หรือมีการนำทุเรียนจากประเทศอื่นมาสวมสิทธิทุเรียนไทย ซึ่งต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อนว่ามาจากไหน ถ้าเป็นทุเรียนในประเทศไทย ต้องรู้แหล่งที่ปลูก เพื่อจะตรวจสอบสภาพดิน น้ำ และการใช้สารเคมีของสวนนั้น ๆ หรือถ้าพบว่าเป็นการสวมสิทธินำทุเรียนจากประเทศอื่นเข้ามาจะต้องมีการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร จะนำเสนอประธาน กมธ. ให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ให้ตรวจสอบและเสนอแนวทางแก้ไข
“หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องสอบสวนหาสาเหตุให้กระจ่างชัด เพราะมีชื่อล้ง ชื่อผู้ส่งออก มีใบ GAP แหล่งผลิตอยู่แล้ว ไปพิสูจน์กันเลยว่าปนเปื้อนจากแหล่งปลูก แหล่งน้ำ การใช้ปุ๋ย หรือสารเคมีในขั้นการผลิต หรือจากการใช้สารเคมีชุบในขั้นตอนการคัดบรรจุ หรือเป็นทุเรียนเวียดนามที่ใช้เอกสารไทยสวมสิทธิใช่หรือไม่” นายชลธีกล่าว
แหล่งข่าวจากวงการทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการทุเรียนอย่างมากว่า น่าจะมีกระบวนการทำเอกสาร เพื่อนำทุเรียนเวียดนามมาสวมสิทธิทุเรียนไทย โดยไม่มีการนำทุเรียนเวียดนามเข้ามาเป็นการบรรจุตู้กันที่เวียดนาม และส่งเข้าไปประเทศจีนเลย
“ที่กรมวิชาการเกษตรเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุม โดยมี ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน ดร.ภัสชญภณได้พูดเรื่องการสวมสิทธิว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าทุเรียนยังไม่พบ แต่ไม่ได้ตัดทิ้ง ต้องดูสาเหตุของไทยเองก่อน ที่ผ่านมาไทยเคยตรวจพบมีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศอื่นมาทางชายแดน ดังนั้นหากใครพบมีการนำเข้าทุเรียนมาจากเวียดนามให้แจ้งเบาะแส ถ้าใครนำเข้าอยู่ให้หยุดทำ เพราะว่าเป็นการสร้างปัญหาให้ผู้ส่งออกทุเรียนไทยอย่างมาก หากทางการตรวจพบภายหลังจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น”