“มหาสารคาม” หนึ่งในจังหวัดภาคอีสานที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองแห่งการศึกษา” เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมฯ มัธยมฯ อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาตั้งอยู่มากมายหลายแห่งแล้ว มหาสารคามยังเป็นแหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าไปสัมผัสและเรียนรู้ในหลายชุมชน
ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัด “วันเดย์ทริป” เพื่อ “ส่งเสริมเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน : มหาสารคาม มีดี”โดยการดึงอินฟลูเอนเซอร์และสื่อมวลชนลงพื้นที่สัมผัสอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น และเรียนรู้วิถีตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน
เปิดมุมมองไอเดียคอนเทนต์มีดีในภาพลักษณ์ใหม่ผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local ที่มีเอกลักษณ์อย่างมีรสนิยม ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ หวังสร้างกระแสนิยม ผลักดันสู่ซอฟต์พาวเวอร์ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นที่ต้องการในตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมมีแผนส่งเสริมเส้นทางการตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนในหลายพื้นที่ โดยล่าสุดได้ทำแผนประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวลักษณะ “วันเดย์ทริป” จังหวัดมหาสารคาม ในชื่อ “มหาสารคาม มีดี” ซึ่งเป็นการลงพื้นที่เส้นทางที่ 2 ต่อจาก “พะเยา มีดี”
โดยไฮไลต์ของทริป เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมเยือนได้เรียนรู้วิถีตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ชูให้เห็นถึงเอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local ในภาพลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างอย่างมีรสนิยม เพื่อกระตุ้นความสนใจและความต้องการผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในช่องทางตลาดทั้งในและต่างประเทศ สู่กระแสนิยมซอฟต์พาวเวอร์ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
วันเดย์ทริปครั้งนี้นำเสนอ 3 ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนถึงภูมิปัญญาของจังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย 1) วิสาหกิจชุมชนสะพานไม้แกดำ กลุ่มทอผ้าขาวม้าลายทอแกดำ อำเภอแกดำ ทำผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า “ลายกบ” และ “ลายสะพานไม้แกดำ” เป็นลายผ้าจากภูมิปัญญาของคนในชุมชนบ้านแกดำ นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งหมวก กระเป๋า ผ้าพันคอ พวงมาลัย
และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยแบรนด์ “ลายทอแกดำ” ที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีอย่างน่าทึ่ง ในอนาคตมีแนวทางการพัฒนาลายผ้าทอให้มีความทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ ส่งเสริมให้เยาวชนในชุมชนฝึกทอผ้าขาวม้า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์ต่อไป
2) บริษัท เอวาฤทธิ์ ไทย ฟู้ด จำกัด อำเภอกันทรวิชัย ของนางสาวกิ่งกาญจน์ ฮลาดิก ซึ่งทำผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นอีสานแปรรูป เน้นรสชาติอาหารอีสานแท้ ๆ ภายใต้แบรนด์ “อิหล่าคำแพง” สินค้ามีหลากหลาย เช่น น้ำปลาร้า ผลิตจากปลาทะเลที่ส่งตรงจากสมุทรสาคร เก็บได้นาน 2 ปี มียอดขายดีอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันน้ำปลาร้ามีการแข่งขันในตลาดสูง
จึงคิดค้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบซองสำเร็จรูป เช่น น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง เป็นปลาร้าปรุงสุก 100% เก็บได้นาน 9 เดือน, แกงอ่อมสำเร็จรูป เน้น “พกพาสะดวก สบาย” เพียงเติมผักและเนื้อสัตว์ตามชอบ, น้ำยาขนมจีนแกงป่า ทำง่ายเพียง 3 ชั้นตอน “ตั้งน้ำเดือด เทผงใส่ ทานได้” ในอนาคตจะนำขนมจีนเส้นแห้งมาขายคู่กับน้ำยาขนมจีนแกงป่า และผลิตสินค้าอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ น้ำพริกข่า น้ำพริกตะไคร้ ผงแกงเปรอะ
อย่างไรก็ตาม แม้ผลิตภัณฑ์ใหม่วางจำหน่ายได้เพียง 1 ปี แต่ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างประเทศสามารถนำไปประกอบอาหารได้ทันที ซึ่งอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจคือ ได้อุดหนุนวัตถุดิบภายในชุมชน ทั้งพริก ตะไคร้ หอมแดง หรือพืชสมุนไพรอื่น ๆ ให้ชุมชนมีรายได้
3) กลุ่มเสื่อกกทองใบเต่างอย ชุมชนบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย เป็นแหล่งผลิต “เสื่อกก” คุณภาพ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมายาวนาน โดย “ต้นกก” มีคุณสมบัติพิเศษที่มีความเหนียวและเส้นใยที่แข็งแรง จึงนำเส้นกกมาผ่านกระบวนการแปรรูปตั้งแต่การตากย้อม
สู่การทอด้วยฝีมือที่มีความชำนาญและประณีต กลายเป็น “เต่างอยแฮนด์คราฟต์” ที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมีอายุการใช้งานนานกว่า 5-10 ปี นอกจากนี้ มีการพัฒนาทอเป็นลวดลายต่าง ๆ และขึ้นรูปเป็นสินค้าอื่น เช่น กระเป๋า แจกัน เบาะรองนั่ง หมอนอิง พวงกุญแจ หมวกเสื่อกก ไม้จิ้มฟัน ทำให้ผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกสามารถเสริมสร้างรายได้ให้คนในชุนชนได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันกลุ่มเสื่อกกทองใบเต่างอยมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 120 คน
ปัจจุบันมีออร์เดอร์เข้ามาจากทุก ๆ ภาคในประเทศไทย โดย 1 คนสามารถเย็บเสื่อได้ 20 ผืน/วัน กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว จากเสื่อปูพื้นที่มีมูลค่า 300 บาท/ชิ้น แต่เมื่อได้รับการพัฒนาต่อยอด ใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้สินค้ามีความแปลกใหม่ ทำให้มีมูลค่าถึง 2,500-3,000/ชิ้น
เส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน “มหาสารคาม มีดี” มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพทักษะการค้าให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน ยกระดับสู่การเป็นธุรกิจชุมชมที่เข้มแข็ง สามารถขยายช่องทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคง และเชื่อมโยงไปยังช่องทางตลาดใหม่ และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการพัฒนาทักษะ ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาด
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หวังว่าการส่งเสริมเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนมีดี ภายใต้แนวคิด SMART Local จะสามารถพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ สร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ดีให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมผลักดันให้ก้าวสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจ
และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการชุมชนมีความเข้มแข็งในระยะยาว และช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจและผู้ประกอบการชุมชนอย่างแท้จริง” อธิบดีอรมนกล่าวทิ้งท้าย