ขอ “ซอฟต์โลน” ฟื้นเชียงราย แบงก์ปล่อยกู้ธุรกิจ-เร่งบูมท่องเที่ยว

Chiang Rai

รัฐบาลอัดงบฯกลาง 3,045 ล้านบาท ฟื้นแม่สาย-เชียงราย หลังประสบอุทกภัยเสียหายยับ คาดไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภาคเอกชนเชียงรายส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงรัฐบาล ขอ “ซอฟต์โลน” ฟื้นฟูกิจการที่เสียหายจากน้ำท่วม ขณะที่แบงก์รัฐ-เอกชนผนึกกำลังระดมปล่อยเงินกู้เสริมสภาพคล่อง-ลดดอกเบี้ยพักชำระหนี้เงินต้น พร้อมทำแผนกู้ภาคการท่องเที่ยวเน้นมาตรการภาษีจูงใจนักท่องเที่ยวกลับมาเชียงรายก่อนเข้าช่วงไฮซีชั่น

อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิได้สร้างความเสียหายทั้งเศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบอุทกภัยเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่มาก่อน ดังนั้น ที่ประชุม ครม.วันที่ 17 กันยายน ได้อนุมัติตามที่ กระทรวงมหาดไทย เสนอหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในส่วนของ “งบฯกลาง” จำนวน 3,045 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทยจะมีการเร่งรัดขั้นตอนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงลดขั้นตอนเอกสารที่ต้องยื่นเพื่อให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังมีสั่งการให้ทุกส่วนราชการเร่งพิจารณาถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยเพิ่มเติมจากปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีเรื่องใดที่มีความจำเป็นที่เสนอ ครม.ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนให้ได้รวดเร็ว รวมถึงระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น “ที่มีการหารือกันได้กำชับไปแล้วว่า เอกสารต่าง ๆ ในการเยียวยาที่ทำให้เสียเวลาก็ให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมมือกันเพื่อให้ชาวบ้านได้รับเงินรวดเร็วขึ้น” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าว โดยจะมีการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งแรกวันที่ 18 กันยายนนี้

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องเงินเยียวยา การชดใช้ความเสียหายตามหลักเกณฑ์ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และเรื่องที่นายกฯให้แนวทางไว้ น่าจะเห็นชอบในหลักการแล้ว หรือเรื่อง “ยกเว้น” ค่าไฟฟ้าพื้นที่ประสบภัยในเดือนกันยายน การลดอัตราค่าไฟฟ้า 30% ในเดือนตุลาคม ส่วนการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีมติคณะกรรมการให้ “งดเว้น” การคิดค่าน้ำโดยเฉพาะน้ำที่ต้องใช้อุปโภค บริโภค ฉีดไล่โคลนจะบริการให้ ซึ่ง กปภ.ไม่มีการกำกับควบคุมเรื่องค่าคิวน้ำ หน่วยงานสามารถประกาศยกเว้นได้เลย แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเอง ดังนั้นการขึ้นหรือลดราคาค่าไฟฟ้าจะมีหน่วยงานกำกับด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการยกเว้นค่าไฟฟ้าไปก่อน แต่จะมี “งบฯกลาง” จากรัฐบาลมารองรับไว้ ซึ่งในส่วนของค่าไฟจะต้องเข้าที่ประชุม ครม. อีกทั้งงบฯกลางที่ขอมาจะมีหลายหมวด ทั้งหมวดเยียวยา ซ่อมแซม และลดค่าสาธารณูปโภค

เร่งขอซอฟต์โลนเยียวยา

นางพร้อมพร จินดาวงศ์ เนตรหาญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชียงรายพัฒนาเมือง จำกัด (CRCD) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย ทั้งบริษัท เชียงรายพัฒนาเมือง จำกัด, หอการค้าจังหวัดเชียงราย, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย, ชมรมธนาคารจังหวัดเชียงราย, สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงราย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย, เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดเชียงรายได้ประชุมร่วมกันและทำหนังสือยื่นผ่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ไปถึงรัฐบาล เพื่อให้เร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ปี 2567

โดยแนวทางในการฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายและการป้องกันในระยะเร่งด่วน 8 ประการ ได้แก่ 1) เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่ง เช่น ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก โรงงาน ศูนย์อาหาร ร้านค้า ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ต้องการแหล่งเงินทุนในการฟื้นฟู ซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะทำให้มีความต่อเนื่องในธุรกิจและลดความเสี่ยงของการว่างงาน 2) ผู้ประสบภัยบางส่วนเป็นผู้ประกอบการรายย่อยสูญเสียเครื่องมือในการประกอบอาชีพ เช่น รถเข็นขายสินค้า ยานพาหนะเพื่อการค้า ตลอดจนสต๊อกสินค้า สต๊อกวัตถุดิบ จึงต้องการการเข้าถึงแหล่งทุนในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

Advertisment

3) เร่งให้ภาครัฐมีการใช้งบประมาณ เช่น การซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง ถนน สะพานที่เสียหาย หรือแม้กระทั่งการทำความสะอาด การซ่อมแซมสถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ลดปัญหาการขาดสภาพคล่องของประชาชน 4) ขยะปฏิกูลและโคลนจากน้ำป่า ส่งผลต่อความเสี่ยงด้านสาธารณสุข อาจก่อให้เกิดโรคระบาดต่าง ๆ เช่น โรคฉี่หนู อาหารเป็นพิษ เชื้อรา เท้าเปื่อย จึงต้องการการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขอย่างเป็นระบบเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด

5) การบริหารจัดการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ จากอุทกภัย โดยประชาสัมพันธ์ไม่ให้ระบายลงท่อน้ำทิ้งส่วนกลาง และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่งทีมงานมาช่วยขนขยะไปทิ้งในที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาระบบระบายน้ำ 6) เร่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา วิธีการปฏิบัติ เงื่อนไข แนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จากกองทุนที่จังหวัดจัดตั้งขึ้นและรับบริจาคจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2567 7) การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น ทั้งอุปกรณ์ทำความสะอาด อาหารสด อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ และ 8) การตรวจตราพื้นที่ เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นกว่าปกติ ในย่านชุมชนต่าง ๆ และที่พักอาศัย สถานประกอบการของผู้ประสบภัย เพื่อป้องกันเหตุโจรกรรมที่เริ่มมีหลายกรณีแล้ว

Advertisment

คุยจีนเรื่องปล่อยน้ำ

ส่วนแนวทางการป้องกันปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน มี 3 ประการ ได้แก่ 1) เร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีกลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อหามาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดภัยจากน้ำในทุกรูปแบบอีกในอนาคต เพราะส่วนหนึ่งของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นครั้งนี้มาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน 2) จัดทำแผนบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของจังหวัดให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานที่สอดประสานกันอย่างชัดเจน และเป็นระบบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มูลนิธิ กู้ภัย และผู้พร้อมช่วยเหลือต่าง ๆ โดยต้องมีคู่มือการปฏิบัติงานของหน่วยรับผิดชอบอย่างชัดเจน และ 3) ประเมินความขาดแคลนสินค้าเกษตร ที่จะเกิดขึ้นจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และการประมงในประเทศลดต่ำกว่าปกติ และหามาตรการหรือแนวทางในการบริหารราคาสินค้าเกษตรต่าง ๆ ก่อนที่จะส่งผลให้มีราคาสูงขึ้น และกระทบถึงประชาชนไม่สามารถจับจ่ายเพื่อการดำรงชีพอย่างที่ผ่านมา

“ตอนนี้น้ำลดลงแล้ว ทิ้งภาพความเสียหายไว้มากมาย เฉพาะ อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย ถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะ อ.แม่สาย เป็นเมืองการค้าชายแดนไทย-เมียนมา น้ำท่วมหนักในพื้นที่เศรษฐกิจเสียหายหมด กระทบหนักมาก ในความคิดเห็นส่วนตัวหากประเมินมูลค่าความเสียหายขณะนี้น่าจะประมาณไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมมูลค่าเสียหายจากบ้านบนดอย มีดินถล่ม-ดินสไลด์หลายพื้นที่ด้วย ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐเร่งเข้ามาเยียวยาในการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการกอบกู้ธุรกิจ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0%” นางพร้อมพรกล่าว

ขอมาตรการจูงใจกระตุ้นท่องเที่ยว

นางสาวนันทิยา มาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาลัยสยามทัวร์ จำกัด ในฐานะประธานเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อุทกภัยครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ ร้านขายของที่ระลึกหลายแห่งเสียหายจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้สำรวจตัวเลขชัดเจน จึงอยากเรียกร้องให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำโครงการเข้ามาช่วยเยียวยา เพื่อจูงใจให้คนอยากเข้ามาจับจ่ายท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายมากขึ้น อาทิ การได้สิทธิลดหย่อนภาษีในการเที่ยวเมืองรองตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ที่จะหมดเขตวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ก็อาจขยายเวลาจนถึงช่วงไฮซีซั่นต้นปี 2568 นอกจากนี้ หากมีนักท่องเที่ยวซื้อทัวร์เข้ามา ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งไปเป็นรายได้ของผู้ประสบภัย หรือทำโครงการคล้ายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยการสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักที่ประสบภัยในลักษณะร่วมจ่าย เช่น ค่าที่พัก 2,000 บาท รัฐบาลช่วยจ่ายให้ 500 บาท

นายณรงค์ น้ำผึ้ง โยธาจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นรุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงรายในปี 2557 ดังนั้น ทุกหน่วยงานรวมทั้งกรมโยธาธิการและผังเมืองคงจะต้องช่วยกันถอดบทเรียนและจัดทำแผนป้องกัน โดยแผนงานต่าง ๆ ที่วางไว้เดิมอาจจะต้องนำมาทบทวนกันใหม่ “กรณีน้ำท่วมที่ อ.แม่จัน เทศบาลแม่จันบอกว่า ถ้าไม่มีกำแพงกั้นน้ำของโยธาฯคงจะเสียหายหนักกว่านี้ แต่กำแพงกั้นน้ำที่ทำตอนนี้ยังทำได้ไม่ครบทุกจุด จัดทำตามงบประมาณในแต่ละปี ตอนนี้ต้องรอนโยบายจากส่วนกลางว่าจะดำเนินการเตรียมแผนป้องกันในอนาคตกันอย่างไรต่อไป” นายณรงค์กล่าว

ขณะที่ นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นคาดว่ามีบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลตำบลแม่สาย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมและต้องได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูราว 5,000-6,000 ครัวเรือน ต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูทั้งบ้านเรือนประชาชนและเศรษฐกิจมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งการสำรวจความเสียหายแต่ละครัวเรือนคาดว่าจะใช้เวลาราว 1 เดือน เฉลี่ยค่าความเสียหายสูงสุดอยู่ที่ราว 49,000-50,000 บาทต่อครัวเรือน ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของทางราชการ ตอนนี้ได้ทำเรื่องร้องขอไปยังรัฐบาลส่วนกลางในการจัดสรรงบประมาณสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว

ส่วนความเสียหายด้านเศรษฐกิจการค้ายังไม่ได้ทำการประเมินเพราะบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมอยู่ ขณะที่กำแพงกั้นน้ำที่มีระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ได้รับความเสียหายแตกไปราว 80% จึงยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจทุกพื้นที่ได้ในตอนนี้ ซึ่งการค้าข้ามแดนระหว่างแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก บริเวณสะพาน 1 และตลาดสายลมจอย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจการค้าท้องถิ่นระหว่างคนเมียนมาและคนไทยที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าระหว่างกัน ค่อนข้างได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะตลาดสายลมจอยร้านค้าได้รับความเสียหายทั้งหมด มีจำนวนมากกว่า 100 ร้านค้า สินค้าภายในร้านเสียหาย 100% มูลค่าความเสียหายคาดว่ามากกว่า 200 ล้านบาท

นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง อ.เทิง อ.เมือง อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ รวม 33 ตำบล 130 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,215 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ระดับน้ำลดลง มีพื้นที่เกษตรเสียหายรวม 200,000 ไร่

4 แบงก์รัฐ ปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง

สำหรับมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วมในส่วนภาคสถาบันการเงิน ขณะนี้มีธนาคารรัฐบาล 4 แห่งที่ให้วงเงินสินเชื่อ ประกอบด้วย 1) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/2568 วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR เท่ากับ 6.975% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ 2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR -2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

2) ธนาคารออมสิน ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แบ่งเป็น 1) โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.6% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 เดือน ปลอดชำระเงินงวดใน 3 เดือนแรก และ 2) โครงการสินเชื่อเคหะผู้ประสบภัย วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 100% ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2% ต่อปี 3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมาตรการสำหรับลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบัน ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 2% ต่อปี นาน 1 ปี

และ 4) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ออกมาตรการสินเชื่อเติมทุน สำหรับซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการผ่านโครงการ Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้ วงเงินต่อรายสูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MLR -1% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือนแรก

พักชำระหนี้เงินต้น-ลดค่างวด-ลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ยังมีมาตรการพักชำระหนี้ ลดค่างวด ลดดอกเบี้ย และลดค่าธรรมเนียม ของทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ โดยธนาคารออมสิน จะพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ย 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ธ.ก.ส. เลื่อนชำระหนี้ออกไปสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ ธอส. มีมาตรการลูกค้าปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการใช้ดอกเบี้ยลอยตัว กรณีหลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ สามารถขอลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหายให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก ไม่ต้องชำระเงินงวด

SME Bank มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของผลกระทบและลักษณะธุรกิจแต่ละราย ธนาคารอิสลามฯพักชำระหนี้เงินต้น เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วน บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.-31 ต.ค. 67 เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันถึงกำหนดชำระ และพักชำระค่างวดลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้และไม่ผิดนัดชำระหนี้ เป็นเวลา 3 งวด โดยขอเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 67

และ EXIM มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน, เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม, เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี ส่วนมาตรการช่วยเหลือวงเงินกู้ระยะยาว จะขยายระยะเวลาเงินกู้สูงสุด 7 ปี, ปรับลดดอกเบี้ยปีแรกลง 0.50% หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก, พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 1 ปี

ด้านแบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรถยนต์ อาทิ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น และผ่อนชำระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน ลดค่างวดการผ่อนชำระ 50% หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี ให้สินเชื่อ Top Up ซ่อมแซมบ้าน อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน

ขณะที่ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ประเมินสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทยปี 2567 ทั้งในส่วนของพายุที่เข้าสู่ไทยโดยตรงและผลกระทบทางอ้อมต่อไทย รวมถึงการเข้าสู่ภาวะลานีญาอย่างเต็มตัวในเดือน ต.ค. 67 คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 4.65 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.27% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ดีขึ้น และการพัฒนาระบบป้องกันของภาคเอกชนโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม จะช่วยลดทอนผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2554

อัดงบฯซ่อม-สร้างแหล่งท่องเที่ยว

ด้าน นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯอยากให้ความมั่นใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ว่า กระทรวงได้เตรียมพร้อมเรื่องของบประมาณสำหรับนำมาฟื้นฟู ซ่อม สร้าง แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบแล้ว และจะดำเนินการทันทีหลังจากสถานการณ์น้ำกลับสู่ภาวะปกติ โดยหลังจากนี้จะมีการประสานงานระหว่างทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้รับเหมา รวมถึงทุกหน่วยงานต่าง ๆ ให้ช่วยกันเร่งฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาโดยเร็ว และพร้อมรองรับกับฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นในช่วงปลายปีนี้ “ทุกภาคส่วนต้องมีการเร่งปรับแผนฟื้นฟูท่องเที่ยวในสถานที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว” นายสรวงศ์กล่าว

ด้าน นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย พบว่าเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย “ได้รับผลกระทบหรือเกิดความเสียหายไม่มากนัก” เมื่อเทียบกับธุรกิจในภาคการค้าชายแดนแม่สาย เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงราย อาทิ วัดร่องขุ่น, วัดห้วยปลากั้ง, วัดร่องเสือเต้น, ไร่ชาดอยช้าง, ไร่เชิญตะวัน, สิงห์ปาร์ค ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่สูง น้ำไม่ท่วม

“น้ำท่วมเชียงรายครั้งนี้ภาพที่ออกมาหนักมากในพื้นที่แม่สาย ซึ่งกระทบหนักในเชิงการค้าชายแดนและภาคประชาชนที่ถูกทั้งน้ำและโคลนถล่มบ้านเรือน แต่พื้นที่ดังกล่าวเป็นเมืองการค้าชายแดนไม่ใช่พื้นที่ท่องเที่ยว ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวจึงไม่กระทบมากนัก” นายชำนาญกล่าว แต่ยอมรับว่า จังหวัดเชียงรายทั้งจังหวัดน่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมแน่นอน เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งในไทยและชาวต่างชาติอาจยังไม่เชื่อมั่นว่าแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสามารถเดินทางไปเที่ยวได้ตามปกติแล้วแค่ไหนอย่างไร