
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สัญจรจังหวัดขอนแก่น เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการชุมชน จ.ขอนแก่นและจ.ข้างเคียง นำผลิตภัณฑ์เข้าเจรจาธุรกิจกับเทรดเดอร์/บายเออร์ รายใหญ่ระดับประเทศ เพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างการรับรู้สินค้าชุมชนถิ่นอีสาน ผลตอบรับดีเกินคาด ! หลังสามารถปิดดีลสินค้าจับคู่ธุรกิจได้ถึง 34 คู่เจรจา มูลค่ารวมกว่า 3.27 ล้านบาท
วันที่ 18 กันยายน 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างเทรดเดอร์/บายเออร์รายใหญ่ของประเทศไทย กับผู้ประกอบการสินค้าชุมชนจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดข้างเคียง เช่น อุดรธานี บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น จ.ขอนแก่น
โดยมีเทรดเดอร์/บายเออร์ 7 ราย ได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์, บริษัท คัลเจอร์ คอนเน็กซ์ จำกัด, Nature Life Herb, โรงแรมโฮเทลโมโค, โรงแรม Amman Unique Hotel และโรงแรมเดอ ปริ้นเซส จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมเวทีเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการชุมชน เพื่อนำผลิตภัณฑ์ชุมชนแดนอีสานเข้าจำหน่ายในศูนย์การค้าและร้านค้าต่าง ๆ ของเทรดเดอร์และบายเออร์ที่เข้าร่วมเจรจาธุรกิจ
การเจรจาธุรกิจข้างต้น เป็น 1 ในกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าผู้ประกอบการชุมชนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยแบ่งการจัดงานออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2567 กิจกรรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่ตลาดเชิงรุกพัฒนาทักษะด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการ หัวข้อ “การตลาดแบบยั่งยืน” โดย ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ SME และฝึกปฏิบัติ (Workshop) “การจัดวางสินค้าอย่างมืออาชีพ” โดยคุณปรีย์ดารา ลัมพสาระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัด Display ผลิตภัณฑ์ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวน 56 ราย
ส่วนที่ 2 วันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับเทรดเดอร์/บายเออร์ชั้นนำ 7 ราย โดยภายในงานผู้ประกอบการได้นำผลิตภัณฑ์มาแสดง (Display) เพื่อให้เทรดเดอร์/บายเออร์ได้เห็นผลิตภัณฑ์ก่อนการเจรจาธุรกิจ ทั้งนี้ ระหว่างการเจรจาธุรกิจ เทรดเดอร์/บายเออร์ได้ให้คำปรึกษาแนะนำ ถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และแพ็กเกจจิ้งเพื่อดึงดูดความน่าสนใจผู้บริโภค ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นขึ้นด้วย
ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับความรู้/รับฟังข้อเสนอแนะที่ดี ก่อนนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าจำหน่ายภายในศูนย์การค้า และร้านค้าต่าง ๆ ยังถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ แสดงถึงความมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว ตลอดจนสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ประกอบการชุมชนระยะยาว
ผลการเจรจาธุรกิจประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ภายในวันเดียวสามารถปิดดีลการเจรจาได้ถึง 34 คู่ สร้างมูลค่าการค้ากว่า 3.27 ล้านบาท โดยมียอดขายภายในงานทันที 25,294 บาท ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากเทรดเดอร์/บายเออร์ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ของใช้รักษ์สิ่งแวดล้อม 2) เครื่องแต่งกายผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ 3) กาแฟ 4) ข้าวตอกคั่วกะทิ และ 5) ซอสปรุงรส
โดยทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าชุมชนที่เป็นไฮไลต์มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว และคาดว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย เป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนได้ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีอรมนกล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประเทศไทยมี MSME จำนวนทั้งสิ้น 3,225,743 ราย มีมูลค่า 6,317,181 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.2 ของ GDP รวม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 35.1 โดยเป็นผู้ประกอบการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 752,529 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 23.32 ของจำนวน MSME ทั้งหมดของประเทศ