
แม่สาย-เชียงราย เข้าสู่โหมดฟื้นฟูเมือง ผู้ผลิตสินค้า-ห้างค้าปลีก/ค้าส่ง ระดมสินค้าอุปโภคบริโภคลงพื้นที่ พร้อมคาดการณ์ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ประกันภัยเริ่มออกสำรวจความเสียหาย พบ “รถยนต์” ทำประกันไว้สูงสุดถึง 328 ล้านบาท รองลงมาเป็นร้านค้า สถานประกอบการ โรงแรม รีสอร์ต
สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เมือง จ.เชียงราย ได้คลี่คลายลงไปเป็นลำดับ โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นฟูเมืองที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทั้งอาคารบ้านเรือน สถานที่ทำการประกอบการค้าขาย ขณะที่หน่วยงานราชการก็กำลังเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้เร็วที่สุด โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวภายหลังการพบปะเจ้าหน้าที่ที่กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมงานประสานพลัง ประสานใจ และมอบสิ่งของอุปโภคบริโภค ไปยังพื้นที่ประสบภัยที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล
“ทุกส่วนมีความพร้อมเพื่อจะลงไปช่วยเหลือประชาชน ในส่วนของทางภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบ ขอให้เป็น 3 กรอบ คือ ก่อน เกิด และหลังเกิด อุทกภัยเป็นหน้าที่ภาครัฐที่ต้องดูแล วันนี้ถือเป็นบทเรียนใหม่ ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อให้การสูญเสียน้อยลง โดยเห็นด้วยที่ต้องปรับปรุงในเรื่องของเทคโนโลยีในการแจ้งเตือนประชาชน ต้องได้รับข้อมูลจริง ๆ และขณะนี้เรื่องของการช่วยเหลือจากภาคเอกชนก็ได้รับทราบว่า ทุกคนได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือ รวมถึงมีโรงครัวพระราชทาน จะได้เป็นการร่วมมือกันของทุกฝ่าย” น.ส.แพทองธารกล่าว
วงษ์พาณิชย์รับซื้อขยะจมโคลน
ด้าน ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ผู้ก่อตั้งประธานบริหาร กลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป ผู้ประกอบการรับซื้อขายสินค้ารีไซเคิลรายใหญ่ ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบัน “ขยะ” ที่ อ.แม่สาย-อ.เมืองเชียงรายมีจำนวนมาก หลายคนทรัพย์สินถูกน้ำท่วม จมฝังในดินโคลนเสียหาย หมดตัว ทางกลุ่มวงษ์พาณิชย์อยากให้ทุกคนเปลี่ยนเป็นการนำขยะเหล่านี้ ทั้งเศษกระดาษ พลาสติกทุกชนิด เตาแก๊ส เครื่องใช้ไฟฟ้า เศษเหล็ก โครงสร้างอะลูมิเนียม ไม้ท่อนใหญ่ ที่นอนขนาดใหญ่สามารถถอดนำสปริงที่อยู่ด้านในมาแยกขายเปลี่ยนเป็นเงิน เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้
ปัจจุบันมีศูนย์รีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ 2 แห่งที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย สามารถรองรับขยะได้แห่งละประมาณ 250 ตัน/วัน รวม 2 สาขากว่า 500 ตัน โดยทางศูนย์ได้เตรียมเงินไว้พร้อมรับซื้อประมาณ 100,000 บาทต่อสาขาต่อวัน
“ทางวงษ์พาณิชย์พยายามรับซื้อของที่มาจากภัยพิบัติน้ำท่วม เพื่อให้คนมีรายได้ ข้าวของเครื่องใช้ที่มีดินโคลนติดก็นำมาขายได้หมด ราคาของขึ้นลงแต่ละวันดูได้ที่หน้าเพจ เช่น เศษเหล็ก ราคา 7-8 บาท/กก., อะลูมิเนียม ราคา 40-70 บาท/กก. (แล้วแต่ประเภท), เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์-คอยล์ไฟฟ้า-ไส้กรองอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นโลหะที่มีมูลค่าสูง
ส่วนแอร์ ทีวี ตู้เย็น มีราคาตั้งแต่ 1,500-5,000 บาท, เศษกระดาษ ราคา 4-5 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับประเภทกระดาษ สำหรับไม้ท่อนใหญ่นำมาขายได้ สามารถนำไปแปรรูปเป็นวงกบประตู หน้าต่าง แยกขายเป็นชุดได้ หรือแม้กระทั่งส้วม ชักโครก อ่างล้างหน้า แยกขายเป็นของมือสองขายได้เช่นกัน” ดร.สมไทยกล่าว
นางสาวประกายทิพย์ เรืองตระกูลไพศาล ผู้จัดการร้านวงษ์พาณิชย์ สาขาบ้านเวียงหอม อ.แม่สาย กล่าวว่า ทางร้านเพิ่งกลับมาเปิดทำการ ปรากฏมีลูกค้านำของมาขายจำนวนมากกว่าปกติถึง 50% ส่วนมากเป็นชาวบ้านที่เก็บกวาดบ้านหลังน้ำท่วม ของที่ชาวบ้านนำมาขาย จะเป็นของเปื้อนดินโคลน ไม่ได้ล้างน้ำออก ดังนั้นจะหักน้ำหนักโคลน-ของเสียออก ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ทางร้านจะต้องเตรียมเงินสำรองเพื่อรับซื้อไว้เพิ่มขึ้น โดยให้ราคารับซื้อตามใบราคาที่ประกาศในกลุ่มไลน์ลูกค้า ส่วนมากจะเป็นเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อหุงข้าว พัดลม เตียง ราวตากผ้า ที่นอนสปริง ประเภทสินค้าพลาสติก ขวดน้ำดื่ม โต๊ะ เก้าอี้ ตะกร้า
ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังน้ำลด
นายธเนศร์ บินอาซัน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทผนึกคู่ค้าในพื้นที่ เช่น สินธานี, สหธานี, ทวียนต์ฯ ฯลฯ เปิดบริการซ่อมสินค้าฟรีค่าแรงและลดค่าอะไหล่ 50% พร้อมจัดแคมเปญให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าไฮเออร์ในราคาพิเศษ เชื่อว่าน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ พร้อมนำข้อมูลมาพัฒนาแผนรับมือเหตุอุทกภัยในภาคอีสานด้วย
สอดคล้องกับทิศทางของ “แอลจี” ซึ่งนายอำนาจ สิงหจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือ ส่งผลกระทบกับดีลเลอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นกัน โดยเบื้องต้นคู่ค้าในเชียงรายได้รับผลกระทบ 10 ร้านค้า จากทั้งหมด 30 ร้านค้า บริษัทเดินหน้าช่วยเหลือทั้งคู่ค้าและผู้บริโภค ด้วยบริการตรวจเช็ก-ซ่อมสินค้าฟรีค่าแรงและค่าอะไหล่ลด 50% ถึง 30 พ.ย. 67 และเตรียมจัดโปรฯขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าสินค้าให้นานขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ
ด้าน “โตชิบา” ผนึกคู่ค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย, แพร่, พะเยา, น่าน เช่น ร้านทวียนต์มาร์เก็ตติ้ง, ศักดิ์ชัย โซลูชั่น, ตุนเซอร์วิส, กิติชัยพาณิชย์, เอสพี พานิชย์ และสมศักดิ์ อิเล็กทรอนิกส์ จัดโครงการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบฟรีค่าแรงและส่วนลดค่าอะไหล่ 50% ตั้งแต่วันที่ 1-30 ก.ย. 67 รวมถึงเปิดบริการซัก-อบผ้าฟรี พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ร้านค้า-ศูนย์ซ่อมที่ได้รับผลกระทบประมาณ 10 แห่งใน 4 จังหวัด
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวเข้ามาว่า ประมาณปลายไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ในภาคเหนือ-อีสานจะมีดีมานด์ความต้องการใช้ “เครื่องใช้ไฟฟ้า” เพิ่มขึ้น จากการซื้อทดแทนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย โดยสินค้าที่จะมีดีมานด์สูง จะเริ่มจากหม้อหุงข้าว-กระติกน้ำร้อน-พัดลม ตามด้วยตู้เย็น-ตู้แช่-เครื่องซักผ้า-ทีวี-แอร์ ทั้งนี้จะไล่เรียงตามรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่าแต่ละแบรนด์จะระดมโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เช่น ลดราคา ผ่อนชำระ 0% ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค
เชียงรายสรุปผลกระทบ 10 วัน
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ รายงานสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รายงานข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 9-18 กันยายน 2567 รวมทั้งสิ้น 9 อำเภอ 35 ตำบล 167 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) โดยตลาดชุมชนเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ร้านค้า/สถานประกอบการ 92 แห่ง ราษฎรได้รับผลกระทบเบื้องต้น 53,209 ครัวเรือน เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 2 ราย พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 14,138 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โค 894 ตัว กระบือ 141 ตัว สุกร 1 ตัว แพะ/แกะ 25 ตัว สัตว์ปีก 19,500 ตัว สุนัข 145 ตัว และแมว 154 ตัว
ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงเรียน จำนวน 31 แห่ง ถนน 7 จุด และคอสะพาน 4 จุด แนวโน้มสถานการณ์อยู่ในระดับคลี่คลาย-เฝ้าระวัง ไม่มีฝนตก ระดับแม่น้ำสาย แม่น้ำกก และแม่น้ำโขง อยู่ในระดับลดลง
คปภ.แนะผู้เอาประกันรีบแจ้งเคลมเสียหาย
นางพรทิพย์ อินทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า คปภ.จังหวัดเชียงราย ได้สำรวจความเสียหายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัย กรณีเหตุการณ์น้ำท่วม ด้วยอิทธิพลพายุยางิในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สายและอำเภอเมืองเชียงราย ณ วันที่ 18 กันยายน 2567 ได้รับรายงานความเสียหายของทรัพย์สินเอาประกันภัยจากบริษัทประกันในพื้นที่เบื้องต้นแล้ว จำนวน 17 บริษัทดังนี้
รถยนต์ ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ จำนวน 976 คัน ประมาณความเสียหายจำนวน 328,892,000 บาท, บ้านและที่อยู่อาศัย จำนวน 457 หลัง ประมาณความเสียหายจำนวน 2,140,000 บาท, รถจักรยานยนต์ (ภาคสมัครใจ) จำนวน 30 คัน ประมาณความเสียหายจำนวน 1,500,000 บาท, ทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ ได้แก่ ร้านค้า-สถานประกอบการ-โรงแรม-รีสอร์ต จำนวน 16 แห่ง ประมาณความเสียหายจำนวน 20,300,000 บาท
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.จังหวัดเชียงรายและภาคธุรกิจประกันภัย ได้เตรียมแผนรับมือในการเยียวยาให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการและประสานงานด้านการประกันภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดเชียงราย เพื่อเปิดรับแจ้งเคลม ให้คำปรึกษาแนะนำขั้นตอนการขอรับค่าสินไหมทดแทน และชี้แจงสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย พร้อมทั้งติดตามเร่งรัดการตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 2 แห่ง คือ สำนักงาน คปภ.จังหวัดเชียงราย และที่ว่าการอำเภอแม่สาย
“ขอให้ประชาชนที่ได้จัดทำประกันไว้และได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ รีบแจ้งเหตุให้บริษัทประกันภัยทราบ” นางพรทิพย์กล่าว
เปลี่ยนเงินฟื้นฟูเป็นเงินเยียวยา
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ได้รับรายงานความเสียหายทั้งหมดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพราะมีความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งภาคเกษตรและประมง ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฯกับกรมประมง จะมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบตามนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการลดขั้นตอนการช่วยเหลือที่มีความยุ่งยากและใช้ระยะเวลายาวนานในการเยียวยา โดยจะปรับให้เร็วขึ้น มีการปรับเปลี่ยนระเบียบการใช้เงินจาก “เงินฟื้นฟูเกษตรกร” ที่ได้รับความเสียหายจะได้รับ “เงินเยียวยา” แทน
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้ประสานผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ และห้างท้องถิ่น นำสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ชำระล้างทำความสะอาด เข้าไปจำหน่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และยังได้ประสานกับห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ห้างท้องถิ่น เปิดพื้นที่จำหน่ายผักสด ไข่ไก่ด้วย
“ได้มอบหมายให้ค้าภายในจังหวัด-พาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเป็นรายวัน ปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่น้ำท่วมว่า สินค้าขาดแคลนหรือไม่ มีสินค้าเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคหรือไม่ และประสานให้ห้างค้าปลีกท้องถิ่นเพิ่มปริมาณสต๊อกสินค้า และปรับการขนส่งให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง” นายวัฒนศักย์กล่าว
ล่าสุด สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ออกแถลงการณ์ระดมผู้ประกอบการ “ปันน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม” โดยลดราคาสินค้าช่วยประชาชน โดย นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันสร้างผลกระทบต่อภาคการค้าปลีกไทยมากกว่า 1,000 ล้านบาท จึงได้ผนึกกำลังผู้ประกอบการค้าปลีกร่วมการลดราคาสินค้าเป็นกรณีพิเศษ อาทิ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง “ไทวัสดุ” ลดราคาสูงสุด 60% “ดูโฮม” ลดราคาสินค้ากลุ่มซ่อมแซมสูงสุด 60% “โฮมโปร” มอบเงินช่วยเหลือผ่าน โฮมโปร วอลเล็ต มูลค่า 300 บาทให้กับสมาชิก รวมทั้ง นำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียหายจากน้ำท่วมมาแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ รับส่วนลดสูงสุดกว่า 10,000 บาท
กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค “ท็อปส์” ลดราคาสินค้ากว่า 7,000 รายการ กับล็อกราคาสินค้าจำเป็นกว่า 400 รายการ “บิ๊กซี” ลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคและอาหารสด ของใช้ในครัวเรือน “แม็คโคร” ลดราคาสินค้าจำเป็นกว่า 4,000 รายการ “โลตัส” ลดราคาสินค้ากว่า 5,000 รายการ
นอกจากนี้ทางศูนย์กาารค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน, เดอะมอลล์, สยามพิวรรธน์, บิ๊กซี, โลตัส ยังร่วมมอบพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการฟื้นฟูตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ค้าปลีกไทยขอเสนอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อาทิ การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย, การ “ยกเว้น” ภาษีนิติบุคคล, การขยายเวลาการยื่นภาษี, การลดอัตราการส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง และลดค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น