
เหตุการณ์ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน “จังหวัดภูเก็ต” เมืองท่องเที่ยวหลัก ที่นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างมุ่งไปเช่นกัน “โสภณ ทองไสย” หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ได้มาบอกเล่าถึงสาเหตุของอุทกภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูเก็ต และแนวทางป้องกันและแก้ไขของจังหวัด
ปัญหา Rain Bomb บนภูเขา
ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนตุลาคมเป็นฤดูฝนฝั่งอันดามัน สัปดาห์ที่แล้วได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นยางิ แม้ขึ้นฝั่งทางจีนตอนใต้ แต่จุดศูนย์กลางของพายุหมุน ซึ่งเรามีลมประจำถิ่น ปกติความเร็วลมอาจจะ 20-25 กม.ต่อ ชม. แต่ศูนย์กลางพายุจะดูดความชื้น ดูดมวลอากาศเข้าไป เพิ่มความเร็วลม เพิ่มการก่อตัวของเมฆ ทำให้ฝนตกในพื้นที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ภูเก็ตยังเผชิญกับการเกิด “ระเบิดฝน” หรือ Rain Bomb คือ ฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตาเฉพาะจุดในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้เกิดเหตุการณ์ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก เช่น ที่ ต.กมลา อ.กะทู้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เป็น Rain Bomb ปริมาณฝน 330 มิลลิเมตร ภายในเวลาเพียง 3 ชม. และดินถล่มที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เป็น Rain Bomb ฝนตกเพียงไม่กี่ชั่วโมง ปริมาณน้ำฝนตกถึง 200 กว่า มล. ทำให้แผ่นดินที่อุ้มน้ำ ชุ่มน้ำอยู่สไลด์ลงมา
ดินผุกร่อนบ้านเนินเขาเสี่ยง
ที่น่าห่วงคือ ดินของภูเก็ต มีฐานข้อมูลทางธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีชี้แจงให้ฟังว่า เป็นดินที่เป็นหินแกรนิต มีอายุเก่าแก่เป็น 100 ล้านปีแล้ว ถึงเวลาที่จะผุกร่อน และยุ่ย ถ้าเราหยิบหินเหล่านี้ก้อนเล็ก ๆ ไปแช่น้ำอยู่นาน ๆ แล้วนำมาบีบ มันจะยุ่ยออกมาเป็นเม็ดทราย
ซึ่งลักษณะเช่นนี้อยู่ทั่วภูเขาของภูเก็ต พอโดนน้ำฝนปริมาณมาก ที่เห็นเป็นทรายไหลลงมา นั่นคือหินเดิมที่แตกออกมาเป็นเม็ดน้ำก็ไหลนำทรายลงมา ในอดีตหลายสิบปีก่อนที่ ต.กะรน เคยเกิดดินถล่มลงมา แต่สมัยนั้นยังไม่มีบ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง ความเสียหายก็ไม่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สิน
49 ชุมชน 3 อำเภอเสี่ยงสูง
ต้องยอมรับภูเก็ตมีพื้นที่ราบน้อย ในการสร้างที่อยู่อาศัย อาคาร สถานประกอบการต่าง ๆ ทำให้มีการไปสร้างอาคารตามเนินภูเขาด้วยระดับความสูงต่าง ๆ ซึ่งมีกฎหมายยกเว้นอยู่ อนุญาตให้สร้างได้ในบางจุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องพึงระมัดระวังไว้ด้วย
ดินในภูเก็ตเป็นหินที่มีความผุ แม้หลักวิศวกรรมที่มีความเชื่อถือ ที่มีความเชื่อมั่นในเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ อาจจะใช้ไม่ได้ก็ได้ ทั้งโรงแรม บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เราไม่มั่นใจว่าการก่อสร้างฐานรากจะแข็งแรงเพียงใด
ขอแจ้งเตือนไปยังชุมชน จากการศึกษาข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี ได้ระบุพื้นที่เสี่ยงหลัก ๆ ใน 10 ลุ่มน้ำของจังหวัดภูเก็ต จำนวน 49 ชุมชน กระจายอยู่ทั้ง 3 อำเภอ มีทั้งพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม
จริง ๆ การศึกษาเรื่องดินโคลนถล่ม ทางน้ำไหลผ่านทางธรรมชาติ มีหลายสถาบันการศึกษาเข้ามาศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ภูเก็ตมีความละเอียดอ่อน เช่น กรณีเหตุดินสไลด์ ภายในหมู่บ้านเทพบุรี กู้กู ต.รัษฎา อ.เมือง เป็นลักษณะภูเขาเป็นเนินดิน ดินที่อุ้มน้ำมาก ๆ กรณีที่จังหวัดเชียงรายเป็นภูเขาดินแบบเดียวกัน
น้ำท่วมซ้ำซาก บ้านขวางร่องน้ำ
อีกกรณีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่ เนื่องจากบริเวณที่เป็นทางไหลของน้ำจากภูเขาลงทะเลจะเป็นร่องทางน้ำตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเรื่องการใช้ประโยชน์ของที่ดิน การออกเอกสารสิทธิ เรื่องการอนุญาตก่อสร้างต่าง ๆ มีการไปกีดขวางทางน้ำ ทำให้เกิดความเสียหาย
ยกตัวอย่าง หน้าวัดฉลอง เป็นเส้นทางน้ำไหลลงมาจากภูเขา แต่ด้านขวามือมีการก่อสร้างอาคาร บ้านเรือนเต็มไปหมด ถัดไป “ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก” มีวัดใต้ ลักษณะเป็นที่ลุ่มตามธรรมชาติ บ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม พื้นที่เสี่ยงก็ได้รับความเดือดร้อนทุกครั้งที่ฝนตก ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งตามธรรมชาติน้ำจะไหลไปที่ลุ่ม
สิ่งที่มนุษย์ทำให้เกิดขึ้นมี เช่น โครงการก่อสร้างหมู่บ้านต่าง ๆ ขึ้นมา ไปขวางทางน้ำ มีการสร้างกำแพง ทำให้น้ำกลับมาไหลบนถนน ทำให้ถนนกลายเป็นคลองไปในตัว
แนวทางแก้ไข ผมเคยพูดกับผู้บริหารบางคนว่า บริเวณที่เป็นทางน้ำไหลผ่านต้องทำเป็น “อุโมงค์ยักษ์” เหมือน กทม. หรือเมืองที่เป็นเกาะเหมือนเรา เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แต่ของเราการระบายน้ำมันเป็นการไหลบนผิวดิน ซึ่งอาจจะทำคูระบายน้ำ แต่ผิวดินเดิมที่เป็นแอ่ง เป็นร่องน้ำธรรมชาติ มันก็ไหลของมันตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ผมย้ายมารับผิดชอบ ปภ.ภูเก็ต สังเกตว่า หน่วยงานที่ช่วยกันเร่งระบายน้ำ การพร่องน้ำ ใช้เวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมงก็คลี่คลายไป
แนะสังเกตดินอุ้มน้ำเสี่ยง
สำหรับแนวทางการป้องกัน สิ่งแรกประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต้องหัดสังเกตช่วยเหลือตัวเอง ก่อนอื่นถ้าเกิดมีฝนตกหนัก ประชาชนที่อยู่ใกล้ภูเขา ใกล้คลอง ใกล้ร่องน้ำธรรมชาติ ให้สังเกตเรื่องดินโคลนถล่ม ให้ดู “การเปลี่ยนสีของน้ำ” ถ้าเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น สีดินบนภูเขา อาจจะมีดินโคลนถล่มลงมาได้
ตอนนี้สูตรทฤษฎีที่บอกว่า ฝนตก 100 มล.ถึงจะอพยพประชาชน ผมมองว่าอาจจะเป็นความประมาทไปแล้ว เพราะตอนนี้ลักษณะฝนตกต่อเนื่องกันมา 2-3 เดือนแล้ว การอุ้มน้ำของดินที่อยู่บนภูเขาที่สูง มันอิ่มตัว พร้อมจะไหลลงมาได้ตลอดเวลา อย่าประมาท บางครั้งฝนตกบนภูเขา 100 มล. อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาได้ แต่ถ้าวัดบนที่ราบ 100 มล.ก็อาจไม่มีอะไรเกิดขึ้น
วันก่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับมอบกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนจากกรมทรัพยากรธรณี ไปให้ผู้นำท้องถิ่นในชุมชนเสี่ยง 30 หมู่บ้านไปใช้วัด ตอนนี้ผู้นำท้องถิ่น หลายหมู่บ้านได้มีการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชนในกลุ่มไลน์ ชุมชนต่างตื่นตัว แจ้งรายงานปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มารวมที่ส่วนกลางเพื่อหาค่าเฉลี่ย เพื่อตัดสินใจให้ท้องถิ่นเตรียมการดำเนินการต่าง ๆ ต้องถึงขั้นอพยพแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ ทางกรมทรัพยากรณีธรณี มีโครงการจะมาติดตั้ง “เครื่องวัดมวลดิน” ตัวนี้จะวัดเรื่องดินโคลนถล่มได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะมาติดตั้งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในปีงบประมาณ 2568 จะเน้นติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงหลัก
ทุกฝ่ายจัดเวรเฝ้าระวังกันเต็มที่
ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ ปภ. และทุกหน่วยงานก็เฝ้าระวังกันเต็มที่ กลัวจะเข้าไปช่วยประชาชนได้ล่าช้า ช่วงนี้ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ดินฟ้าอากาศ คำเตือนของทางราชการเพื่อความปลอดภัยของทุกคน เรามีช่องทางการแจ้งเตือนหลายช่องทาง ทั้งการแจ้งผ่านกลุ่มไลน์ต่าง ๆ ของจังหวัด มี 14-15 กลุ่มไลน์
ขอบคุณทางกรมอุตุนิยมวิทยาฝั่งตะวันตก จะแจ้งสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ทุก 30 นาที ทาง สทนช.แจ้งตรงกับผมด้วย ข้อมูลมีความแม่นยำ
จังหวัดมีการจัดทำแผนแม่บทดินโคลนถล่มทั้งเกาะ ทำเรื่องการติดตั้งเครื่องมือ เทคโนโลยีรายงานได้เรียลไทม์ผ่านระบบมือถือ การเฝ้าระวังในชุมชนที่มีความเสี่ยง การฝึกซ้อมแผนในชุมชนที่มีความเสี่ยง สามารถเอาตัวรอดได้ รู้ว่าจุดไหนจะเป็นที่ปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดกำลังเร่งดำเนินการกันอยู่