“ทุเรียนไทย” วิกฤตซ้ำซ้อน จีนพบแบคทีเรียสั่งตรวจเชื้อเพิ่ม 4 ชนิด

chilled

มรสุมของผู้ส่งออกทุเรียนไทยปี 2567 ถือว่าหนักหนาสาหัส ตั้งแต่เผชิญคู่แข่งอย่างเวียดนามแล้ว ล่าสุดมีพายุลูกใหญ่ถาโถมเข้ามา หลังการตรวจพบการปนเปื้อนสารแคดเมียม และยังเร่งหาทางแก้ไขปัญหากันอยู่ ล่าสุดจีนได้ยกระดับมาตรการนำเข้าทุเรียนแช่เยือกแข็งจากไทย หลังจากการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งของไทยอย่างหนัก เพราะเป็นการประกาศแบบไม่ทันตั้งตัว

ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ส่งหนังสือไปยังผู้ส่งออกว่า ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้แจ้งกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกทุเรียนเยือกแข็งว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้ยกระดับมาตรการการนำเข้าทุเรียนแช่เยือกแข็งจากไทย โดยแจ้งมาตรการ ดังนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 67 เป็นต้นไป สินค้าทุเรียนแช่เยือกแข็งที่จะนำเข้าประเทศจีน ต้องแนบรายงานผลวิเคราะห์ (Test Report)

โดยแสดงผลเชื้อก่อโรค 4 ชนิด คือ 1.Salmonella 2.Staphylococcus Aureus 3.Listeria Monocytogenes 4.Escherichia Coli โดยเชื้อดังกล่าวจะต้องไม่เกินค่ามาตรฐานตามข้อกำหนดเชื้อก่อโรคอาหาร GB 29921-2021 โดยห้องปฏิบัติการที่ออกผล Test Report จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ในขอบข่ายของการตรวจเชื้อโรคดังกล่าว ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกยังไม่มีความพร้อมในการส่งผลทดสอบให้ชะลอการส่งออกไปก่อน โดย มกอช.อยู่ระหว่างการเร่งหารือข้อสรุปมาตรการที่ยกระดับนี้ กับสำนักงาน GACC

chilled

นายสมศักดิ์ เลิศสำโรง ผู้จัดการ บริษัท อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มกอช.แจ้งมาตรการการระงับการส่งออกค่อนข้างกะทันหัน ขณะที่บริษัทมีตู้ทุเรียนแช่เยือกแข็ง 4-5 ตู้ เตรียมส่งออกเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ทำให้ต้องระงับการส่งออกทันที เพื่อรอความชัดเจนเรื่อง มาตรการยกระดับ ที่ มกอช.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานศุลกากรแห่งประเทศจีน และการส่งตัวอย่างทุเรียนไปตรวจหาเชื้อ 4 โรคที่กำหนด จะเกิดการกระจุกตัวเพราะห้องแล็บมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรรับรองมีจำนวนจำกัด

และการขนส่งตัวอย่างไปตรวจต้องใช้รถห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิตามมาตรฐาน และระยะเวลาการตรวจเท่าที่ทราบปกติใช้เวลานาน 20-25 วัน ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมาก เพราะเงินลงทุนทำทุเรียนแช่แข็งประมาณตู้ละ 8-9 ล้านบาท สูงมากกว่าการส่งออกทุเรียนสด 3 เท่า เงินจะหมุนเวียนเข้าบริษัทช้าลง

ADVERTISMENT

“มาตรการที่จีนออกมาเป็นผลดีกับทุเรียนแช่เยือกแข็งของไทยที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตลาดจีน ผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือ แต่ควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนออกประกาศ และขั้นตอนการดำเนินงานตามมาตรการต้องชัดเจน เพื่อให้การตรวจปล่อยตู้สินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น ห้องแล็บที่ตรวจรับรองต้องมีเพียงพอกระจายออกไปตามภูมิภาค หรือให้สถาบันการศึกษามาช่วยตรวจเพื่อความสะดวกรวดเร็ว เวลาที่เหมาะสมควร 7-10 วัน และความชัดเจนของการสุ่มตัวอย่างการตรวจตามมาตรฐาน เพื่อให้ผ่านมาตรฐานของ GACC” นายสมศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกทุเรียนไปตลาดต่างประเทศเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จีนตรวจพบเจอเชื้อโรคและ มกอช.แจ้งให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกตรวจเชื้อ 4 ชนิดและแนบรายงานผลวิเคราะห์ ซึ่งการส่งตรวจต้องรอผลอย่างเร็วสุด 7-15 วัน มีผลต่อการส่งออกไปตลาดจีนล่าช้ากว่าตลาดจะขายได้ และระบบการขนส่งที่ส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้ทางเรือ จากเดิม 10-15 วัน ทำให้ล่าช้าเพิ่มไปเป็น 20-25 วัน และสภาพตลาดทุเรียนแช่เยือกแข็งในจีน

ADVERTISMENT

chilled

ขณะนี้ ตลาดขายยากอยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจจีนไม่ดี ค่าเงินบาทแข็ง หากแลกเงินหยวนจาก 1 บาท เท่ากับ 4.9 หยวน ตอนนี้เหลือ 4.6-4.7 หยวน ทุเรียนแช่เยือกแข็ง ขนาด 27 ตัน ตู้ละ 8 ล้านเศษ ขาดทุนไปแล้วตู้ละประมาณ 3 ล้านกว่าบาท รวมทั้งคู่แข่งทุเรียนเวียดนามที่ขายราคาถูกกว่า

ตอนนี้โรงงานหยุดชะงักเพราะต้องรอใบตรวจเชื้อในการส่งออก และหยุดซื้อเพราะของอยู่ในสต๊อกจำนวนมาก ผู้ประกอบการเองขาดทุนเพราะราคาตลาดจีนปลายทางร่วง ราคาต้นทุน 360-380 บาท/กก. เนื้อเกรด A ขายได้ 300 บาท และยังขายยาก ถ้าขายตอนนี้ต้องยอมขาดทุน กก.ละ 80 บาท 1 ตู้จะขาดทุน 2 ล้านบาทเศษ ผู้ประกอบการบางรายต้องสต๊อกไว้ขายปลายปีที่คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และค่าเงินบาทน่าจะอ่อนตัวลง

“การควบคุมคุณภาพเป็นเรื่องที่ดี จีนให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย ต้องยอมรับว่าที่มาของทุเรียนแช่เยือกแข็ง บางโรงงานไม่ได้มาตรฐาน และบางแห่งแกะเนื้อขาย แต่ไม่ได้ทำเป็นโรงงาน ควบคุม ดูแลความสะอาดไม่ได้ ประกอบกับคุณภาพทุเรียนไทยที่ทำแช่แข็งปีนี้ได้เนื้อเกรด A น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเกรด B เกรด C ตอนนี้คนจีนแห่ไปซื้อทุเรียนเวียดนามกัน เพราะเทียบราคาต้นทุน กก.ละ 250-280 บาท สิ่งที่รัฐบาลต้องช่วยตอนนี้คือ ช่วยให้ห้องแล็บออกใบตรวจเชื้อ 4 ชนิดให้เร็วขึ้น เพื่อให้การขนส่งไปถึงปลายทางได้รวดเร็ว เพราะส่วนใหญ่ขนส่งทางเรือที่ใช้เวลามากอยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

“ตลาดอเมริกา เป็นตลาดใหม่ของทุเรียนแช่เยือกแข็งของไทย ที่ยังมีมาร์เก็ตแชร์น้อย รัฐบาลควรช่วยเจรจาเปิดตลาด ควรส่งเสริมภาคเอกชนให้ไปทำการตลาด ออกบูทในงาน FOOD ต่าง ๆ ในตลาดอเมริกา ยุโรป ซึ่งขายได้ราคาดีกว่าตลาดจีน ผู้ประกอบการไทยยังทำตลาดได้น้อยมาก ยังเข้าไม่ถึงตลาดทั้งที่มีโรงงานได้มาตรฐานและใช้วัตถุดิบมาตรฐาน ซึ่งการทำตลาดไม่ใช่เรื่องง่าย หากรัฐให้การสนับสนุนตลาดจะไปได้ดี เพราะการทำทุเรียนแช่เยือกแข็งมีความเสี่ยงกว่าทุเรียนผลสดในเรื่องการเคาะราคาล่วงหน้า เมื่อได้ออร์เดอร์การเจรจาตกลงซื้อขายทำสัญญาเป็นปีต่อปี ต้องประมาณราคาซื้อ-ขายล่วงหน้าก่อนเริ่มฤดูกาลทางภาคใต้และภาคตะวันออก ต้องวางแผนหลังตกลงทำสัญญาซื้อ-ขาย ส่งผลผลิต 4-8 เดือนเป็นการคาดการณ์ที่มีความเสี่ยงและขึ้นอยู่กับปริมาณทุเรียน” แหล่งข่าวกล่าว

chilled

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งรายใหญ่อีกราย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทส่งทุเรียนไปตลาดจีน ทั้งแช่แข็งทั้งลูก แกะเนื้อพู-เม็ด ปกติต้องมีการส่งตรวจแล็บอยู่แล้วตามมาตรฐาน มกษ 9046-2560 เมื่อ GACC แจ้งมาให้ตรวจเชื้อ 4 ชนิด ต้องระบุให้ตรวจเพิ่มเติม เป็นเรื่องที่ดีเพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนแช่เยือกแข็งของทุเรียนไทย เพราะปัจจุบันยังมีเรื่องของการนำเข้าทุเรียนเวียดนามผลสดไม่ได้คุณภาพมาตรฐานมาแปรรูป แต่กลับนำมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยแช่เยือกแข็งส่งออก ด้วยราคาที่ต่ำกว่า และทางเวียดนามมีโรงงานที่ส่งออกได้ขึ้นทะเบียนกับ GACC จำนวนน้อย ช่วงฤดูกาลของภาคใต้ที่ผ่านมา ทางบริษัทเคยถูกผู้ส่งออกจีนบางรายนำเอกสารไปใช้สวมสิทธิทุเรียนแช่เยือกแข็งที่นำเข้าจากเวียดนาม 3 ตู้

“จริง ๆ การตรวจปล่อยตู้ของกรมวิชาการเกษตรมีการตรวจคุณภาพอย่างเข้มข้นจะเป็นผลดีกับผู้ส่งออก เพราะถ้าตู้หลุดออกไปถึงตลาดจีนถ้าพบทุเรียนไม่มีคุณภาพจะถูกตีกลับ แต่หาคนรับผิดชอบไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวในสมาคมทุเรียนใต้ให้ข้อมูลว่า ทุเรียนแช่เยือกแข็งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและได้พูดคุยกันมานาน ทั้งปัญหาการนำทุเรียนเวียดนามเข้ามาสวมสิทธิ และปัญหาการแกะเนื้อทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานในโรงงานขนาดเล็กและการแกะเนื้อตะกร้า ปัญหาดังกล่าวยังพบอยู่ แม้ว่าเวียดนามจะส่งผลสดออกไปจีนได้ แต่ไทยสามารถนำเข้าทุเรียนวียดนามมาแปรรูปได้

แต่ในทางปฏิบัติจริงมีการนำเข้ามาแปรรูปและสวมสิทธิเป็นทุเรียนแช่เยือกแข็งของไทยส่งออก แต่เพิ่งมีมาตรการคุมเข้มยกระดับมาตรการนำเข้า และก่อนหน้านี้มีมาตรการคุมเข้มตรวจสารปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนผลสด ทำให้ราคาทุเรียนรูดต่ำลง

ซึ่งหลายคนมีความเห็นว่าไทยน่าจะตอบโต้ด้วยการตรวจเข้มสินค้า ผัก ผลไม้จีนบ้าง เพราะพบสินค้าด้อยคุณภาพ รัฐบาลควรมีมาตรการปกป้องคนในประเทศบ้าง เพราะทุเรียนมูลค่า 100,000 ล้านบาท แค่ 10% ของยอดขาดดุล และควรหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย

chilled

ทางด้าน นายวสันต์ ริ่นรมย์ นายกสมาพันธ์ทุเรียนภาคตะวันออก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการตรวจเข้มยกระดับทุเรียนแช่เยือกแข็งจะช่วยยกระดับมาตรฐานผลผลิตแปรรูปทุเรียนไทย นอกเหนือจากทุเรียนผลสด เพราะทุเรียนแช่เยือกแข็งมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไทยมีผลผลิตแช่เยือกแข็งส่งออกจำนวนมาก เป็นโอกาสที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

นายศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวเพิ่มเติมตอนท้ายว่า การตรวจเชื้อโรคดังกล่าวไม่ใช่ของใหม่ เป็นหลักสากลที่ทุกประเทศปฏิบัติเช่นเดียวกัน รวมทั้งไทยยึดมาตรฐานนี้เช่นกัน ขึ้นอยู่ความเข้มข้นแต่ละประเทศ มกอช.ออกประกาศแจ้งให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ตรวจเชื้อโรคดังกล่าว ควรชี้แจงให้ทราบและเข้าถึงหลักปฏิบัติสากล เพราะอาจจะเข้าใจว่าจีนบีบเรา

จริง ๆ แล้วจีนให้ความปลอดภัยเรื่องอาหารมาก การปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารเพราะจีนเป็นประเทศใหญ่มีประชากรเป็นพันล้านคน ถ้าเกิดการระบาดของโรคพวกนี้ ก็เหมือนกับการระบาดของอหิวาตกโรค