
เผยเกษตรกรไม่กระทบ “ทิปโก้” เลิกผลิตสับปะรดกระป๋อง เพราะสามารถส่งผลผลิตให้โรงงานอื่นได้ โดยปีนี้ขาดแคลนหนักวัตถุดิบน้อยกว่าความต้องการเกินครึ่ง ดันราคาสูง 13-14 บาท/กก. แพงกว่าราคาเหมาะสมถึง 2 เท่า ด้าน “ไซโก้” อีกโรงงานใหญ่ ยอมรับกระทบหนักต้องลดค่าใช้จ่าย หยุดผลิตเป็นพัก ๆ เพราะต้นทุนแพงและผลผลิตไม่เพียงพอ แต่พยายามยื้อให้นานที่สุด หวังปีหน้าสถานการณ์ดีขึ้น ชี้เหตุไม่นำเข้าเพราะต้นทุนยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ทิปโก้หยุดไม่กระทบเกษตรกร
จากกรณีบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้หยุดการดำเนินงานในธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสับปะรดกระป๋องของ บริษัท ทิปโก้ ไพน์แอปเปิ้ล จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง และสภาวะความผันผวนของปริมาณและราคาของวัตถุดิบนั้น
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูประบุว่า เกษตรกรที่ส่งขายให้กับบริษัทดังกล่าวสามารถไปเจรจาขายสับปะรดให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ได้ เพราะการซื้อ-ขายสับปะรดเดิม เป็นลักษณะคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ดังนั้นเมื่อทิปโก้ไม่ผลิตก็ไปเจรจาให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ อีกทั้งผลผลิตสับปะรดในประเทศนั้นยังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในปัจจุบัน โดยปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตสับปะรดกระป๋องในประเทศมีประมาณ 15 ราย รวมบริษัททิปโก้ด้วย
ชี้เหตุผลผลิตน้อยทุบสถิติ
ผลผลิตสับปะรดในประเทศในปี 2567 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 7 แสนตัน แต่กำลังการผลิตต่อวันอยู่ที่ 5,000 ตันต่อวัน หรือประมาณ 1.5 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งผลผลิตในปีนี้ยังขาดแคลนอยู่มาก ทำให้ผู้ประกอบการแย่งรับซื้อ ดันให้ราคาสับปะรดหน้าโรงงานอยู่ที่ 13-14 บาทต่อกิโลกรัม และหากมองว่าราคาที่เหมาะสมที่ทุกฝ่ายอยู่ได้ ควรจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8 บาทต่อกิโลกรัม
โดยตลาดส่วนใหญ่ยังมีความต้องการอยู่และ 97% ประเทศไทยส่งออกสับปะรดกระป๋อง แช่แข็ง-แช่อิ่ม และน้ำสับปะรด ตลาดหลัก เช่น สหรัฐ-ยุโรป
“สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่เข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด จะเริ่มเข้าโรงงานในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เพื่อผลิตและส่งออก โดยความผันผวนของผลผลิตสับปะรดยอมรับว่ามีผลต่อการดำเนินการธุรกิจ แม้ความต้องการคำสั่งซื้อในตลาดจะมี แต่หากผลผลิตขาดแคลน ราคาสูงก็กระทบต่อการทำธุรกิจ”
ภัยแล้งทุบซ้ำดันราคาสูงลิ่ว
สำหรับปัญหาผลผลิตสับปะรดขาดแคลนนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แม้ในอดีตบางช่วงจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านตันในปี 2554 แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิต และยิ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเจอปัญหาภัยแล้งยิ่งกระทบต่อผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง มีผลต่อราคาและต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก พื้นที่ที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลก
อีกทั้งสับปะรดส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศเท่านั้น ไม่มีการนำเข้า ส่วนคู่แข่งสำคัญของไทย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งมีผลผลิตเยอะและต้นทุนถูกกว่า
“SAICO” ชี้แพงขึ้นเกือบ 3 เท่า
นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (มหาชน) หรือไซโก้ “SAICO” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทไซโก้และบริษัททิปโก้ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบสับปะรดอย่างหนักต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว เนื่องจากปัญหาความร้อน แล้ง ไม่มีน้ำ ทำให้ผลผลิตสับปะรดทั้งระบบเหลือเพียง 660,000 ตัน
โรงงานผู้ผลิตสับปะรดรายอื่นเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้มีการแย่งกันซื้อจากเกษตรกรส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นไปสูงมาก จากช่วงปกติราคา 5 บาทต่อ กก. ปัจจุบันขึ้นไปสูงถึง 13 บาทต่อ กก. ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมัน และค่าแรงกำลังจะปรับขึ้นอีก ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการแบกภาระกันหนักขึ้นไปอีก
หวังปี’68 สถานการณ์ดีขึ้น
ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัท ไซโก้ เองยอดขายและยอดการผลิตหายไปมากกว่า 50-60% ต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว แต่พยายามประคับประคองกันไป เพราะประเมินสถานการณ์ปี 2568 คาดหวังว่าผลผลิตสับปะรดจะมากขึ้น เพราะฝนเริ่มตกลงมาแล้ว ขณะเดียวกันต้องมองทิศทางสถานการณ์ตลาดปีหน้าด้วย แต่ในทางกลับกันหากปีหน้าราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และตลาดไม่รับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบให้กับทางบริษัท
“ที่ผ่านมาในอดีต 10 กว่าปีก่อน ประเทศไทยเคยมีผลผลิตสับปะรดมากที่สุด 2.5 ล้านตัน ผ่านมาประมาณ 5 ปีลดลงเหลือ 1.5 ล้านตัน ปี 2561 ลดมาเหลือประมาณ 1 ล้านตัน และปี 2567 ลดเหลือประมาณ 660,000 ตัน หายไปมากกว่า 60% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เราคาดหวังว่าเอลนีโญผ่านไป ปีหน้าผลผลิตจะดีขึ้น” นางสาวกัญญภัคกล่าว
โรงงานขาดทุนถ้วนหน้า
ประธานไซโก้กล่าวอีกว่า 2 ปีมานี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตสับปะรดทุกรายขาดทุนกันถ้วนหน้า เพียงแต่ใครจะทนไหว ใครพอมีสายป่านที่จะทนได้ ช่วงปีที่ผ่านมาเราได้เห็นหลายธุรกิจปิดตัวไป บริษัทรายใหญ่ ๆ คงประเมินแล้วว่า ถ้าทำต่อไปขาดทุน เขาหยุดวันนี้แล้วเก็บเงินนั้นไปลงทุนทำอย่างอื่นดีกว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทว่าการขาดทุนที่เกิดขึ้นยอมรับได้มากน้อยเพียงใด
ที่ผ่านมามีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่มีโรงงานผลิตสับปะรด 2 แห่ง ที่ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ก็ตัดสินใจปิดโรงงานที่ประจวบฯไป 1 แห่ง ก่อนหน้าบริษัท ทิปโก้ ประกาศปิดในส่วนการผลิตสับปะรด
เผยเหตุไม่นำเข้าจาก ตปท.
นางสาวกัญญภัคกล่าวต่อไปว่า การขาดแคลนวัตถุดิบทำให้โรงงานไซโก้เอง ปี 2566 ต้องหยุดการผลิตไปประมาณ 5 เดือน ปี 2567 ช่วงที่เปิดผลิตด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ผลิตได้ไม่เต็มกำลังการผลิต และพนักงานที่มีอยู่จำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนที่ต้องแบกรับภาระสูงมาก
ที่ผ่านมาบริษัทแก้ปัญหาโดยลดกำลังการผลิต ลดคนไปบางส่วน และเคยมีความคิดว่าจะปิดโรงงานผลิตจาก 2 แห่งเหลือเพียง 1 แห่ง แต่ผู้บริหารประชุมกัน และในที่สุดตกลงกันว่า จะยอมรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แล้วมาสู้ โดยลดกำลังการผลิต ตัดลดค่าใช้จ่าย มาสู้กันอีกเฮือกว่าไปต่อได้หรือเปล่า แต่ถ้าไปไม่ได้ก็ต้องหยุด
“วัตถุดิบสับปะรดสดไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศมาผลิตได้ เพราะควบคุมเรื่องโรค แมลง การขนส่งต้องใส่ตู้แช่เย็น ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนที่สูงกว่าจะมาถึงประเทศไทย และช่วงที่ผ่านมาในต่างประเทศมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนเช่นกัน”