
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
จังหวัดตราด 1 ในเมืองน่าเที่ยว ช่วงก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวปีละ 2.1 ล้านคน สร้างรายได้ปีละ 20,000 ล้านบาท ปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยว 1.8 ล้านคน ทำรายได้ 13,718 ล้านบาท ปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) จำนวนนักท่องเที่ยว 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16.29% รายได้ 15,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.44% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และด้วยเทรนด์ของโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มาแรง
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “จารุวรรณ จินตกานนท์” นายกสมาคมการค้าตราดเวลเนส (TRAT Wellness Trade Association) ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2567 ถึงทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความพร้อมก้าวสู่ Wellness Tourism และโอกาสความเป็นไปได้ของการเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว
จุดแข็ง Wellness City
จารุวรรณเล่าถึงที่มาของการจัดตั้งสมาคมการค้าตราดเวลเนส ว่า หลังโควิด-19 นักท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เทรนด์การท่องเที่ยวรักสุขภาพ ทำให้ต้องเน้นคุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณ การท่องเที่ยวแบบ Wellness Tourism เป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูงจึงตอบโจทย์ได้ ข้อมูลสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute หรือ GWI) รายงานว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีค่าใช้จ่ายต่อหัว ประมาณ 50,000 กว่าบาทต่อการมาเที่ยว 1 ครั้ง สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปราว 53%
และหลังการแพร่ระบาดของโควิด หลายประเทศหันมาผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ปี 2020-2525 มูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 7.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จาก 4.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี และกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโตมากที่สุด เฉลี่ย 21% ต่อปี จ.ตราดมีความเป็น Wellness City อยู่แล้ว ทั้งอาหารธรรมชาติและเป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียว ในช่วงโควิด-19 มีสถานประกอบการหลายแห่ง
โดยเฉพาะที่เกาะช้างทำมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิดได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข จึงเห็นทั้งจุดแข็งและโอกาสการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Wellness Tourism
“หลังโควิด-19 พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ต้องการมาเที่ยวธรรมชาติ ทานอาหารที่ปลอดภัยดีต่อสุขภาพ ถ้า จ.ตราดยังทำการท่องเที่ยวแบบเดิม ๆ ความเป็นกรีนอย่างเดียวคงไม่พอ จะไม่มีวันชนะในเวทีโลก คำถามคือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เลือกมาตราด จึงชูอาหารและธรรมชาติ (Food & Nature) ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาและสร้างความแตกต่างเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยว”
ตั้งเป้า Wellness Tourism
หมุดหมายของสมาคม คือ ปั้น จ.ตราดให้เป็น Wellness Tourism ทั้งตัวเมือง เกาะช้าง เกาะกูด แผนระยะสั้น 4 ปี 2567-2570 ทำ 4 เรื่องหลัก คือ 1) การสร้างมาตรฐานให้มีความเชื่อมั่น อสินค้า บริการและกิจกรรม ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข จ.ตราด สร้างมาตรฐานระดับจังหวัด Trat Wellness & Safety Tourism : TWST นอกจากสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานแล้ว ได้เพิ่มเรื่องความปลอดภัยด้วย มีผู้ประกอบการ ที่พัก ร้านอาหาร นวด สปา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผ่านการอบรมเกณฑ์มาตรฐาน 2 รุ่น ประมาณ 100 ราย
และจะมีการจัดอบรมเพิ่มขึ้น ตอนนี้เราพร้อมพัฒนาไปสู่มาตรฐานระดับชาติ Thailand Wellness Award : TIWA และภายใน 2 ปีนี้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จะช่วยพัฒนาเกาะช้างตามเกณฑ์การประเมิน Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC เป็นการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก หากเกาะช้างผ่านเกณฑ์ GSTC จะได้บรรจุไว้ในแหล่งท่องเที่ยวโลก
2) ทำการตลาด ด้วยการสร้าง Branding “ชีวิตดี…มีที่ตราด” ทานอาหารสด ๆ จากร้านอาหาร ที่พักสะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน การจัดอีเวนต์ การสื่อสาร สื่อโซเชียลทุกช่องทาง สร้างการรับรู้ 3) การหาพันธมิตรใหม่มาร่วม จากภาคีหลัก สาธารณสุขจังหวัดตราด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อพท. และ 4) การพัฒนาแผนระยะยาว 10 ปี โดยผลักดันเข้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย
จ.ตราดพร้อมเป็น Wellness Tourism จากการสร้างมาตรฐานสินค้า บริการ กิจกรรมเพื่อสุขภาพและสร้างชุมชนให้เป็นเวลเนส (Wellness Community) เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ต้องทำให้ได้ ก่อนนี้นักท่องเที่ยว 90% เชื่อว่า Wellness เบ็ดเสร็จในโรงแรมเดียว แต่สมาคมจะต้องหาพันธมิตรในแต่ละชุมชนมาพัฒนาให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน
เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงเป็นองค์รวมของ Wellness Tourism นักท่องเที่ยวเลือกที่จะใช้บริการเวลเนสเมื่อเดินทางถึงตัวเมือง เกาะช้าง เกาะกูด สามารถเลือกกิจกรรมสุขภาพตามที่ต่าง ๆ เกาะช้างมีความเป็น Wellness Community ชัดเจนมากที่สุด เพราะมีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานมากที่สุด โรงแรมที่พัก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร สปา นวด อาบทราย ดำน้ำ
รวมทั้งกิจกรรมใหม่ ๆ ของอุทยาน ที่จะมีขึ้น จะทำให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาพักผ่อนยาวนานขึ้น ใช้จ่ายเงินมากขึ้น
“ภาพของ Wellness Community นักเที่ยวมาเที่ยวเกาะช้าง อาจจะนอนโรงแรมคืนละ 1,000-2,000 บาท แต่เลือกที่จะไปนวด ในสำนักที่ได้มาตรฐาน ชม.ละ 800 บาท จากที่ทั่วไป ชม.ละ 250 บาท หรือไปอาบทรายอีกโรงแรมหนึ่งที่มีแห่งเดียวครั้งละ 3,000-4,000 บาท หรือนั่งเรือ พายเรือเล่นชมธรรมชาติที่อ่าวสลักคอกในชุมชน จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ Wellness Community ที่เกิดขึ้นหลาย ๆ แห่ง จะทำให้ Wellness Tourism มีความเข้มแข็งยั่งยืน”
เปิดแลนด์มาร์กทัวร์บนบก-ใต้น้ำ
ภาคีเครือข่ายหลักอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง โดยคุณเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยาน ได้เตรียมเปิดมิติใหม่ของการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พื้นที่เกาะช้างมีป่าเขาขนาดใหญ่กลางทะเลเปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามมาเจียระไน โครงการหลัก ๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะ 2-4 ปีนี้ คือ 1) การพัฒนาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ (Nature Walking Trail) มีกิจกรรมอาบป่า เสียงบำบัด พักแรมเต็นท์ และการเดินป่าใช้ระบบป้ายสื่อความหมายและระบบติดตามตัว (GPS Trekking)
2) การพัฒนาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ (Canopy Walkway) เป็น Landmark แห่งใหม่ของการท่องเที่ยวบนเกาะช้าง และ 3) การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติใต้น้ำ (Under Water Trail) บริเวณหมู่เกาะรังที่เป็นแห่งเดียวในประเทศไทย
“โครงการต่าง ๆ ของอุทยานสอดคล้องกับ Wellness Tourism การพัฒนากิจกรรมและการให้บริการความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ไกด์นำเที่ยว ทั้งในพื้นที่ป่าและทะเลต้องขึ้นทะเบียน คาดว่าบางโครงการจะมีความพร้อมตั้งแต่ปี 2569-2570 น่าจะเป็นช่วงจังหวะที่สมาคมพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแผน 4 ปี เกาะช้างคือเพชรเม็ดงามที่ก๊อบปี้ไม่ได้ เพราะเป็นเกาะมีธรรมชาติ ป่าเขา ทะเล เป็นการเที่ยวเสมือนจริง ต่างจาก Wellness ที่อื่น ๆ ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีก๊อบปี้กันได้ และเกาะช้างถ้าไม่เข้าไปใช้อย่างมีระบบอนาคต 10-20 ปี จะถูกทำลายเสียหายในที่สุด”
เพิ่มรายได้กว่า 200 ล้าน/ปี
ช่วงระยะเวลา 4 ปี (2567-2570) คือ จากปี 2567 ก่อตั้งและเปิดตัว ระยะ 2-3 ปีแรกได้สร้างพันธมิตร เครือข่ายและความเข้าใจ และเริ่มจัดกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อประกาศความเป็น Wellness Tourism ปี 2570 มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเวลเนสทั่วโลก ซึ่งโครงการสำคัญ ๆ ของภาคีเครือข่าย เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างจะมารองรับอย่างสอดคล้องกัน
“คาดว่า ระยะ 2 ปีแรก Wellness Tourism จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดตราดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท เรายังไม่พร้อมสมบูรณ์จะรับกลุ่มลูกค้าระดับ A หรือ A+ โดยโฟกัสกลุ่มลูกค้าระดับ B+ กลุ่มคนไทย ที่มีกำลังซื้อสูง คาดว่ามีจำนวนมากพอ ตอนนี้ผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับจังหวัด ที่มีความพร้อมหลายแห่ง แม้แต่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เริ่มขายแบรนด์ Wellness ชีวิตดี…มีที่ตราดกันแล้ว”
ดึงรัฐลงทุนเพิ่มรายได้หมื่นล้าน/ปี
จ.ตราดได้รับการประกาศเขตระเบียงเศรษฐกิจและเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มเติมเป็นเขตที่ 10 ตามแผนพัฒนา 10 ปี ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานเข้าถึง Wellness Tourism เป็นความสำคัญ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่กำลังซื้อสูงทั้งไทยและต่างประเทศ ได้รับความสะดวกสบาย สะอาด สมาคมเสนองบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทให้ภาครัฐสนับสนุน คาดว่าในระยะเวลา 10 ปี จะทำรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 10,000 ล้านบาท
“เกาะช้าง” พื้นที่ป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ขนาดใหญ่อยู่กลางทะเลแห่งเดียวของไทย เป็นจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว หากภาครัฐสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ถนนรอบเกาะ เส้นทางจักรยาน การกำจัดขยะ น้ำเสีย หรือการลงทุนขนาดใหญ่ในระบบโลจิสติกส์ ที่จะนำนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูงเข้าถึงให้มีความสะดวกสบาย และใช้ระยะเวลารวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ
มีตัวอย่างจากการออกบูทกับ ททท. นักท่องเที่ยวไฮเอนด์จากฮ่องกง ชอบทะเล ชอบเกาะช้าง แต่มีวันหยุดแค่เสาร์-อาทิตย์เลือกบินไป จ.ภูเก็ต สมุย เพราะความสะดวก รวดเร็ว