“วงษ์พาณิชย์” ครบ 50 ปี ตั้งเป้าสู่ ESG 2 พันสาขาใน กทม.

Wongphanit

“วงษ์พาณิชย์” ครบรอบ 50 ปี ตั้งเป้าสิ้นปี 2567 เล็งขยายสาขาให้ครบ 2,500 สาขา พร้อมปักหมุดสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ESG ขณะที่สาขาเมืองแมริแลนด์ USA มีแผนรับซื้อรถยนต์มารีไซเคิลเพิ่มจาก 300 กว่าคัน/วัน เป็นวันละ 1,000 คัน/วัน

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2567 ถือเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี ในการดำเนินธุรกิจเป็นผู้เก็บรวบรวมรับซื้อขยะรีไซเคิลรายใหญ่ ปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั่วทุกภูมิภาค 2,451 สาขา สามารถเก็บรวบรวมขยะรีไซเคิลได้ 1.5 ล้านตันต่อปี และตั้งเป้าสิ้นปี 2567 จะขยายสาขาให้ถึง 2,500 สาขา

โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีอยู่เพียง 200 สาขา ตั้งเป้าอยากให้มีการขยายสาขาเพิ่มจำนวน 2,000 สาขา เพื่อรองรับประชากรกว่า 10 ล้านคน และตั้งเป้าในปี 2030 พร้อมการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) เน้นความสะอาดและความปลอดภัยของสังคม ธุรกิจต้องมีความยั่งยืน ปลอดภัยทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงต้องมีธรรมาภิบาล

“วงษ์พาณิชย์ ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2516 ครบรอบ 50 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา และก้าวต่อไปในปี 2030 ตั้งเป้าไว้ว่าอยากเห็นวงษ์พาณิชย์กรุ๊ป ขึ้นป้ายใหญ่หน้าโรงงาน พร้อมการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG เน้นความสะอาดและความปลอดภัยของสังคม เพราะเรารวยคนเดียวไม่ได้ ต้องให้สังคมปลอดภัยด้วย เราถึงจะอยู่ได้ ปีนี้ผมอายุ 70 ปีแล้ว

ปัจจุบันมีทายาท 5 คน ซึ่งแต่ละคนทำธุรกิจต่อยอดเกี่ยวเนื่องกับกิจการหลักของกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการโลกสะอาด (Waste to Energy-Waste to Recycle) มุ่งเน้นด้านนวัตกรรม-เทคโนโลยี-นานาชาติ” ดร.สมไทยกล่าว

ดร.สมไทยกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันแฟรนไชส์ของวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป ได้กระจายไปอยู่ทั่วโลก เช่น เมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว เปิดมาแล้ว 26 ปี มีมูลค่าลงทุนกว่า 100 ล้านบาท มีทั้งหมด 9 สาขา, ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองแมริแลนด์ เปิดมา 16 ปี มียอดรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท/ปี เน้นรับซื้อแอร์ ทีวี ตู้เย็น ขยะพลาสติก

รวมถึงรับซื้อรถยนต์รีไซเคิลกว่า 300 คัน/วัน อนาคตตั้งเป้าหมายต้องรับซื้อให้ได้วันละ 1,000 คัน/วัน, สาขาที่ประเทศญี่ปุ่น เน้นรีไซเคิลรถยนต์ จำนวน 100 กว่าคัน/วัน, ประเทศกัมพูชา เน้นรีไซเคิลวัสดุทั่วไป เช่น กระป๋อง อะลูมิเนียม เหล็ก กระดาษ รวม 1 วัน ได้ประมาณ 100-20 ตัน/วัน

ADVERTISMENT

ดร.สมไทยกล่าวต่อไปว่า การดำเนินธุรกิจช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นขยะรีไซเคิลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ “กล่องเครื่องดื่ม” ใช้แล้วถูกทิ้งไปในถังขยะ และเดินทางไปที่หลุมฝังกลบขยะ ประมาณ 80,000 ตัน/ปี ดังนั้น ทางบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ทำโครงการ “ปฏิบัติการหยุดทิ้ง กล่องเครื่องดื่มใช้แล้วขายได้กับกิจกรรม กล่องนมรักษ์โลก (ชุมชน)” ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2

โดยวันนี้กล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว สามารถนำมาขายที่สาขาวงษ์พาณิชย์ทั่วประเทศได้ในราคา 5 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นเงินกว่า 400 ล้านบาท/ปี เท่ากับ 50 ปีที่ผ่านมา หลายคนสร้างขยะจากการทิ้งกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว 4 ล้านตัน หรือ 4,000 ล้านกิโลกรัม เป็นเงินกว่า 20,000 ล้านบาท

กิจกรรมนี้ทางวงษ์พาณิชย์ได้รับการสนับสนุนเรื่องการเรียกกลับคืน เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ด้วยวิธีการรีไซเคิล ตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในการเรียกกลับคืนผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ Extended Producer Responsibility (EPR) จาก บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด และยังมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในหลายพื้นที่

เช่น หน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก, โรงเรียนพิณพลราษฎร์ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก, โรงเรียนบ้านเข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และโรงเรียนเทศบาล 1 (ทีโอเอ วิทยา) อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ กิจกรรมการคัดแยกกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว หลังการบริโภค วงษ์พาณิชย์ทำหน้าที่รับผิดชอบตั้งเป้าหมายเก็บรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วจากภาคประชาชน ไม่ต่ำกว่า 30,000 กิโลกรัม ภายในเดือนธันวาคม 2567 ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ www.wongpanit.com

นายปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้ส่งเสริมให้เกิดการจัดการกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่ถูกวิธีอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนด้วยการนำกลับไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น

นายสมยศ วัฒน์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด โรงงานแปรรูปกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วเป็นเยื่อกระดาษใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มยูเอชที กล่าวว่า กล่องเครื่องดื่มมีวัตถุดิบหลักเป็นเยื่อกระดาษที่ดี มีส่วนประกอบเป็นพลาสติก และอะลูมิเนียมฟอยล์

ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการแยกเยื่อกระดาษแล้ว จะสามารถได้เยื่อกระดาษคุณภาพสูง ไปใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษรีไซเคิล กระดาษทิสชู่ เป็นต้น ขณะเดียวกันพลาสติก และอะลูมิเนียมฟอยล์ยัง สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกด้วย เช่น แผ่นอิฐเทียมปูพื้นถนน ไม้เทียม เป็นต้น