ปั้นเมืองใหม่ ‘หาดใหญ่ 2’ ดัน รพ.ศูนย์กลางธุรกิจ

hatyai

สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ ชงกระทรวงสาธารณสุข ดันตั้ง “เมืองใหม่หาดใหญ่แห่งที่ 2” โดยโรงพยาบาลหาดใหญ่แห่งใหม่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ปักหมุดพื้นที่ ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ กว่า 2,000 ไร่ รอยต่ออำเภอหาดใหญ่เป็นที่ตั้ง วางผังเมืองเติบโตสู่เมืองสุขภาพ (Healthy City) แก้ปัญหาคนไข้ล้นในเมือง ทะลวงเส้นทางจราจร แก้ปมน้ำท่วมใจกลางเมือง เผยตัวเลขลงทุนเฟสแรก 3 พันล้าน เทียบชั้นโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล เลขาธิการสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา Songkhla Urban Lab สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา บริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดสงขลา กลุ่ม YEC สงขลา สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา Tuber Coworking Space และมูลนิธิทักษิณคดีศึกษา

ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รองรับการพัฒนาหาดใหญ่สู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมีความเห็นว่า ปัจจุบันเมืองหาดใหญ่เติบโตอย่างไร้ทิศทาง มีปัญหาจราจรติดขัด และฤดูฝนน้ำท่วมหนักในหลายจุด ประกอบกับทางโรงพยาบาลหาดใหญ่มีปัญหาคนไข้ล้นเตียง และมีแผนขยายโรงพยาบาลแห่งใหม่เพิ่ม

ดังนั้น เพื่อให้เมืองเติบโตโดยมีการวางผังเมืองในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเป็นระบบ จึงได้จัดหาที่ดินเพื่อสร้างเมืองหาดใหญ่แห่งที่ 2 ประมาณ 2,000 ไร่ ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่ดินรอยต่อกับเมืองหาดใหญ่ ในลักษณะการพัฒนาเมืองสุขภาพ (Healthy City) โดยมีโรงพยาบาลหาดใหญ่แห่งที่ 2 เป็นศูนย์กลาง หรือ HOD (Hospital Oriented Development)

โดยวันที่ 11 ตุลาคม 2567 จะนำเสนอโครงการให้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้กระทรวงผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่าในเฟสแรกจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

โดยที่ดินที่ทำโรงพยาบาลอาจจะใช้เพียง 100 ไร่ ส่วนที่เหลือจะทำในลักษณะให้เอกชนมาทำสัญญาเข้าบริหารพัฒนาที่ดิน จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมดูแล คล้ายกับโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อยู่ในทำเลที่สามารถสร้างรายได้จากพื้นที่โดยรอบเพื่อหล่อเลี้ยงโรงพยาบาลได้ในระยะยาว โรงพยาบาลก็เลี้ยงตัวเองได้

Advertisment

“เมื่อสร้างโรงพยาบาล จะมีชุมชน ร้านค้าเกิดขึ้นตามรอบโรงพยาบาล ควรจะมีการวางผังเมืองให้เติบโตอย่างเป็นระบบ โครงการจัดหาที่ดินเพื่อเสนอสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่แห่งที่ 2 โดยที่ดินที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ต้องมาจากกระบวนการรับบริจาคที่ดิน ซึ่งช่วงแรกมีเอกชนเสนอมา 16-17 แปลง ซึ่งเราได้เลือกมีการพิจารณาทำเลที่เหมาะสม มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ”

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ 1.โรงพยาบาลแห่งใหม่จะต้องไม่กระจุกอยู่ในตัวเมือง แต่ยังคงเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลแห่งแรก มีรัศมีไม่เกิน 10-15 กิโลเมตร วัดจากวงเวียนน้ำพุหาดใหญ่ 2.ควรตั้งอยู่บนถนนสายประธาน หรือสายหลักของเมือง และมีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกรวดเร็ว เช่น เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมือง, การเดินทางของบุคลากรทางการแพทย์, การขนย้ายผู้ป่วยจากสถานที่ห่างไกล, ทำเลไม่ควรห่างจากสนามบินนานาชาติหาดใหญ่, ทำเลที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม

Advertisment

สำหรับเป้าหมายพื้นที่สร้างเมืองใหม่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ซึ่งเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ที่มีจำนวน 18 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำเกษตรสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ถือเป็นชานเมืองเทศบาลนครหาดใหญ่

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ อ.บางกล่ำมีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตติดต่อทางทิศเหนือของ อ.หาดใหญ่ มีระยะห่างกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ประมาณ 10 กม. ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับถนนสายเอเชีย มีเส้นทางรถไฟสายใต้วิ่งพาดผ่าน ขณะเดียวกันในอนาคตก็มีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ บริเวณพื้นที่ชายแดนเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา ซึ่งห่างจากสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ประมาณ 10 กม. จึงไม่มีปัญหาทั้งรัศมีการบิน เสียงรบกวน เป็นพื้นที่เขตปลอดภัยทางเดินอากาศ นอกจากนี้ด้านทิศตะวันออกติดกับคลองอู่ตะเภา อ.หาดใหญ่ เพราะฉะนั้นทำเลนี้จึงมีความเหมาะสม

นายสิทธิศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ได้ลงไปสำรวจพิจารณาที่ดินที่มีความเหมาะสมไว้จำนวน 2 แปลง เป็นที่ดินที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เป็นที่สาธารณประโยชน์ แปลงหนึ่งมีที่ดินประมาณ 1,300 ไร่ อีกแปลงมีที่ดินประมาณ 880 ไร่ สามารถสร้างเมืองใหม่ได้ ที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับท้องถิ่นและส่วนราชการที่ดูแลอยู่เพื่อพิจารณาความเหมาะสมมากที่สุด ปัจจุบันมีการทำสัญญาให้เกษตรกรมาเช่าปลูกสวนยาง รายละ 15 ไร่ มีระยะเวลา 5 ปี หากจะใช้พื้นที่ต้องมีการจ่ายชดเชยให้เกษตรกร

โรงพยาบาลหาดใหญ่แห่งที่ 2 ออกแบบโดยใช้แนวคิด “เมืองสุขภาพโดยมีโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลาง” หรือ HOD (Hospital Oriented Development) เป็นการพัฒนาเมืองโดยมีโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลาง โดยรอบจะเป็นพื้นที่บริการสาธารณสุข, บริการด้านสุขภาพ, ที่อยู่อาศัย, พาณิชยกรรมด้านสุขภาพ รวมถึงมีบทบาทเป็นโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ครบถ้วน มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีงานวิจัยรองรับ

นอกจากนี้ เรามีนักวางผังเมืองและทีมงานที่จบด้านการออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) เพื่อออกแบบผังเมืองอย่างละเอียด เช่น สร้างถนนรูปแบบไหน, ชนิด-ความสูงของต้นไม้, ความกว้างของทางเท้า มีระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) รองรับ จะเป็นเมืองปลอดมลพิษ ฯลฯ ทั้งนี้ ผังเมืองลักษณะดังกล่าวยังไม่ได้แพร่หลายในประเทศไทย เพราะคนทั่วไปจะคุ้นชินกับผังเมืองที่แบ่งที่ดินตามสีต่าง ๆ มากกว่า ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการตอบแทนและสร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลในระยะยาวได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันหาดใหญ่กลายเป็นเมืองที่มีความพร้อมทางด้านศัลยกรรมและเวชศาสตร์ความงาม มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับประเทศอาเซียนใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการผลักดันให้สงขลาเป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Economic Corridor : AWC) จึงมีความพร้อมทั้งมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ กลายเป็นจุดเด่นของจังหวัดในการขับเคลื่อนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ได้ เมื่อมีผู้เข้ารับบริการด้านการแพทย์มากขึ้นก็ถือเป็นการนำรายได้เข้าสู่จังหวัด

นายแพทย์ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุผลที่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่แห่งที่ 2 เพราะโรงพยาบาลสุดท้ายที่จะส่งต่อผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาลใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี นราธิวาส ยะลา โดยเฉพาะเคสอาการหนัก ทำให้เตียงผู้ป่วยที่มีประมาณ 800-1,000 เตียงเต็มล้น ซึ่งปกติทุกอำเภอจะมีโรงพยาบาลระดับอำเภอ แต่อำเภอหาดใหญ่ไม่มีโรงพยาบาลระดับอำเภอ กลายเป็นโรงพยาบาลหาดใหญ่ ต้องรับผู้ป่วยตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนถึงผ่าตัดหัวใจ ทำให้คนไข้แต่ละวันมีปริมาณมาก