“เถ้าฮงไถ่” รุก-ก้าวตลอด 40 ปี ชี้รัฐไม่เคยปกป้องเซรามิกไทย

Tao Hong Tai
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

“เซรามิก” ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก จากกระแสการรุกเข้ามาของสินค้าจีน ส่งผลให้หลายโรงงานผลิตใน จ.ลำปาง และราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ต้องทยอยปิดตัวไป แต่ “เถ้าฮงไถ่” หนึ่งในตำนานเมืองโอ่งราชบุรีที่ยังมีลมหายใจ ได้ปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงมาตลอด 40 ปี

ขณะเดียวกันยังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสินค้าเซรามิกไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ลูกค้าสามารถดีไซน์สินค้าได้อย่างตามใจ โดยที่ยังสามารถคงอัตลักษณ์งานหัตถกรรมไทยไว้ได้ ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์ “พงษ์ศักดิ์ สุพานิชวรภาชน์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เถ้าฮงไถ่ จำกัด ถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และทิศทางที่จะก้าวไปข้างหน้า

Tao Hong Tai

Q : สถานการณ์เซรามิกใน จ.ราชบุรี

เดิมใน จ.ราชบุรี มีโรงผลิตโอ่งกว่า 40 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลือประมาณ 20 แห่ง แบ่งเป็นผลิตโอ่งมังกร กระถางมังกร อ่างบัวมังกร ประมาณ 10 แห่ง และเปลี่ยนมาผลิตเซรามิก 3-4 แห่ง ปัจจุบันคาดว่าอาจจะเหลือโรงงานผลิตโอ่งไม่ถึง 20 แห่ง มีการทยอยปิดเปลี่ยนไปสร้างปั๊ม ขายเป็นที่ดินให้เช่า หรือทำเป็นตลาดนัด

อีกปัจจัยสำคัญคือ มีการแข่งขันทางการค้าของตัวสินค้าชนิดเดียวกัน เหมือนกับถังพลาสติก ที่มาเป็นคู่แข่งกับถัง และโอ่งมังกร เช่นเดียวกับชามตราไก่ของจีนที่เข้ามาขายแข่งในไทยด้วยราคาถูก

Tao Hong Tai

ADVERTISMENT

Q : ผลกระทบที่ได้รับโดยตรง

สินค้าเซรามิกไทยได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงโควิดที่มีการล็อกดาวน์ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจนถึงปัจจุบัน ทำให้การส่งออกสินค้าหลาย ๆ อย่างหยุดชะงัก ทำให้โรงงานเริ่มมีปัญหาจากที่ให้คนงานทำงานพิเศษช่วงกลางคืนก็ต้องหยุดลง ในช่วงโควิดคนเริ่มอยู่บ้านมากขึ้น

จึงมีกลุ่มลูกค้าบ้านหรือรายย่อยซื้อกระถางทีละ 1-2 ใบ เพื่อตกแต่งบ้าน แต่กลุ่มลูกค้าโรงแรมหยุดการสั่งซื้อ และกลุ่มลูกค้าต่างประเทศจากที่ซื้อครั้งละ 1-3 ตู้ก็เริ่มหยุดลง

ADVERTISMENT

Tao Hong Tai

Q : ยอดขายหลังช่วงโควิดถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมามีกลุ่มลูกค้าทั่วโลก แบ่งเป็น ตลาดภายในประเทศ 70% และตลาดต่างประเทศ 30% แม้ว่าโควิดผ่านพ้นไป แต่มูลค่าการขายไม่ได้ดีนัก ล่าสุดกลุ่มภายในประเทศลดลงเหลือ 60% และส่วนภายนอกประเทศลดลงเหลือเพียง 10-15%

โดยตลาดภายในประเทศ ลูกค้าบ้านเริ่มเงียบ แต่การสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าโรงแรม รีสอร์ตที่อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงตามเกาะต่าง ๆ เริ่มกลับมารีโนเวต ทำการสั่งของใหม่ ส่วนตลาดต่างประเทศเริ่มกลับมาโดยกลุ่มสถาปนิกสั่งไปใช้ในโรงแรม รีสอร์ต เช่น มัลดีฟส์ และสหรัฐอเมริกา เป็นรูปแบบตลาดขายส่ง แต่กำลังซื้อลดลง จากเดิมเคยส่งเดือนละ 1 ตู้

ตอนนี้กลายเป็น 2-3 เดือน/ตู้ บางครั้ง 4-5 เดือน/ตู้ ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังการผลิต “เถ้าฮงไถ่” อยู่ที่ประมาณ 100-110% และมีออร์เดอร์ลูกค้ากว่า 120% แต่เนื่องจากงานหัตถกรรมเป็นชิ้นงานที่อาศัยกลุ่มช่างฝีมือเฉพาะทางโดยตรง ไม่สามารถใช้เครื่องจักรในการผลิตได้

Q : ผลกระทบจากสินค้าจีนที่รุกหนัก

จริง ๆ ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีน และเวียดนามเข้ามาตีตลาดนานแล้ว ส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมของลูกค้าจำนวนมากต้องการซื้อของราคาถูก ยังไม่มีวิธีที่จะสามารถสู้ได้ ตอนนี้สินค้าจีนได้เข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยที่รัฐบาลไทยยังคงปล่อยไม่มีการป้องกัน หรือเก็บภาษี เหมือนเป็นการเชื้อเชิญเข้ามา เรามีลูกค้าเป็นโรงแรมของคนต่างชาติที่ไปลงทุนในประเทศจีน ได้สั่งซื้อสินค้ากับเราเพราะต้องการสินค้าที่มีรูปแบบโมเดิร์น ทันสมัย

ซึ่งทางรัฐบาลจีนพยายามกีดกัน เนื่องจากต้องการให้ซื้อสินค้าภายในประเทศ เราต้องทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต สถานที่ผลิต ลูกค้าบางรายก็ยกเลิก แต่บางรายยังซื้อซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีการควบคุมมาตรการนำเข้าที่ค่อนข้างเข้มแข็ง

Tao Hong Tai

Q : ความต่างของงานเซรามิกจีนกับไทย

จีนเน้นงานอุตสาหกรรม แต่ “เถ้าฮงไถ่” เน้นงานหัตถกรรม งานปั้นด้วยฝีมือคนต้องใช้เวลารอ 1-4 เดือน เช่น ตลาดอเมริกาที่ซื้อกันมาเกือบ 20 ปี บอกว่าของเวียดนามและจีนถูกกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อกับเราคือ

ลูกค้าสามารถสั่งรูปแบบและสีที่ต้องการได้ ปัจจุบันไทยมีสินค้าหัตถกรรมหลายแห่ง แต่ยังขาดการส่งเสริมให้มีมูลค่า ควรส่งเสริมการทำแบรนด์ให้มากขึ้น

Q : จุดเด่นที่ทำให้เถ้าฮงไถ่ยังก้าวต่อไปได้

เรามีจุดเด่นที่สำคัญคือ สามารถเลือกกลุ่มลูกค้าที่พึงพอใจในสินค้าของเรา แล้วทำให้มี Margin เพิ่มขึ้น จริง ๆ งานหัตถกรรมของไทยเป็นงานศิลปะ งานกึ่งอาร์ต แต่ปัญหาคือผู้ผลิตต้องหาตลาดที่เหมาะสมกับลูกค้า ต้องเป็นราคาที่ลูกค้าพึงพอใจแล้วสามารถใช้จ่ายกับสินค้าของเราได้ นอกจากนี้ ความซื่อสัตย์ของธุรกิจที่มีต่อลูกค้าที่ไม่ต้องการให้สินค้าไปขายแข่งที่ตลาดอื่น ปัจจุบันมีลูกค้าอเมริกามาซื้อกับเราหลายราย ปัจจุบันมีการร่วมมือกับศิลปินจากหลายประเทศ

แต่ละประเทศมีความต้องการสินค้าเซรามิกต่างกัน เช่น ญี่ปุ่น ต้องการสินค้าขนาดเล็ก ประเภทสินค้าวางตกแต่งบนโต๊ะทำงาน ไม่เกิน 15-20 ซม., ยุโรป เน้นรูปงานอาร์ต และทางจีน เน้นสินค้าที่มีสีแดง ทอง ในรูปแบบกึ่งโมเดิร์น ส่วนทางสหรัฐอเมริกา เน้นรูปแบบฟังก์ชั่นสามารถใช้งานได้ รวมถึงการให้ลูกค้าเป็นผู้ออกแบบได้เอง

Tao Hong Tai

Q : อุปสรรคการทำธุรกิจเซรามิก

เราพยายามปรับตัวตลอดเวลา หากลุ่มลูกค้าใหม่ที่ชื่นชอบสินค้าของเราทำสินค้าตัวอย่างให้ดู เน้นการพูดคุยหาจุดร่วมในแบบที่ผู้ซื้อ-ผู้ขายพึงพอใจกัน ตอนนี้ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้น ทั้งค่าดิน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรง ปัจจุบันไทยมีแรงงานด้านนี้ค่อนข้างน้อย และมีการปรับค่าแรงสูงขึ้น

แต่ในขณะที่จีนและเวียดนามเป็นอุตสาหกรรมใหญ่กว่า มีจำนวนแรงงานมากกว่า ค่าแรงถูกกว่า ซึ่งไทยยังไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเน้นรูปแบบงานหัตถกรรมให้มากขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตามที่ลูกค้าต้องการได้ ไม่ต้องมีปริมาณการซื้อขายมาก ต่อมาคือรูปแบบการใช้สอยสินค้า ลูกค้าอาจสั่งให้ลดขนาดได้ตามที่ต้องการ

Q : อยากให้รัฐบาลสนับสนุนในด้านใด

1.รัฐควรกำหนดมาตรการภาษี จำกัดการนำเข้า ส่งเสริมให้มีการขึ้นภาษีนำเข้า 20-30% หรือเก็บภาษีการลงทุนของคนจีน เพื่อให้สินค้าทุกอุตสาหกรรมภายในประเทศสามารถอยู่ได้ มิเช่นนั้นอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยล้มหมด

2.รัฐบาลควรส่งเสริมการส่งออกงานหัตถกรรมไทยไปตลาดต่างประเทศ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความต้องการในกลุ่มลูกค้าแต่ละประเทศ เช่น อย่านำสินค้าเพียง 1 ชนิด ไปส่งขายให้กับทุกประเทศ และรัฐต้องจัดหาล่ามแปลภาษาให้เมื่อมีการค้าไปต่างประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกการส่งออก รัฐควรบริการด้านชิปปิ้งให้ผู้ประกอบการไทยด้วย

Tao Hong Tai

Q : ทิศทาง “เถ้าฮงไถ่” ในอีก 3 ปี

ยังคงเน้นทำตามปริมาณการสั่งซื้อที่ลูกค้าต้องการ และพยายามรักษากลุ่มกำลังคนในการผลิตให้สามารถอยู่กับบริษัทได้ โดยที่ลูกค้ายังต้องรอคิวตามที่กำหนด ซึ่งลูกค้าต่างประเทศหลายกลุ่มเข้าใจและยอมรับเงื่อนไขส่วนนี้ได้ จะมีการแพลนสินค้าที่ต้องการให้ส่งออกล่วงหน้า 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่หากเป็นสินค้าเร่งด่วนจากกลุ่มลูกค้าเก่า จะผลิตให้ทันตามความต้องการ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมให้คงอยู่

หรือสินค้าบางชนิดที่อนาคตยังสามารถขายได้ จะมีการทำเก็บไว้ล่วงหน้า และจะพยายามมองหาฐานลูกค้าใหม่ที่ชื่นชอบในงานหัตถกรรมของ “เถ้าฮงไถ่”