
ทิปโก้ประสาน 3 โรงงานรับช่วงต่อลูกไร่ หลังยุติไลน์การผลิตสับปะรดกระป๋อง ด้านเกษตรจังหวัดติดตามสถานการณ์ผลกระทบใกล้ชิด พร้อมเตรียมส่งเสริมให้เกษตกรบางส่วนหันมาปลูกสับปะรดผลสด MD2 หรือสยามโกลด์ ทดแทน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศ และตลาดส่งออก
นางศันสนีย์ เกษตรสินสมบัติ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีบริษัท ทิปโก้ ไพน์แอปเปิ้ล จำกัด หยุดการดำเนินงานในธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสับปะรดกระป๋องตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประสานข้อมูลเพื่อดูว่าเกษตรกรในพื้นที่จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นสัดส่วนการผลิตสับปะรดกระป๋องของทิปโก้ อยู่ที่ประมาณ 22% โดยมีเกษตรกรที่เป็นลูกไร่อยู่ในพื้นที่ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ และ อ.บางสะพาน
ที่ผ่านมาทางทิปโก้ได้มีการแจ้งเตือนเกษตรกรที่เป็นลูกไร่ว่า จะมีการปิดไลน์การผลิตยาว ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งชะลอผลผลิต พร้อมทั้งประสานกับโรงงานสับปะรด 3 แห่ง ให้รับเกษตรกรที่เป็นลูกไร่ต่อจากทิปโก้ ได้แก่ โรงงานสับปะรดที่ อ.กุยบุรี 1 แห่ง อ.หัวหิน 1 แห่ง และ อ.สามร้อยยอด อีก 1 แห่ง ซึ่งตอนนี้เริ่มมีเกษตรกรไปสมัครกับโรงงานทั้ง 3 แห่งแล้ว
ปัจจุบันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีโรงงานแปรรูปสับปะรด จำนวน 13 แห่ง แต่ไม่ได้เปิดไลน์การผลิตครบทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกสับปะรดของประจวบคีรีขันธ์ลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ประมาณ 270,000 ไร่ ประกอบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งช่วงที่สับปะรดออกสู่ตลาดมากจะเป็นช่วงต้นปี ตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2567 มีผลผลิตรวมประมาณ 249,176 ตัน และตลอดทั้งปี 2567 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 450,000 ตัน
แต่ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตที่ลดลง ทำให้ราคาสับปะรดส่งโรงงานดีมาก อยู่ที่ประมาณ 10-12 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้โรงงานมีต้นทุนที่สูงมาก จนเกิดภาวะขาดทุน ต้องยกเลิกการผลิตสับปะรดกระป๋องไป จากเดิมทิปโก้เคยผลิตได้จำนวนมาก ตั้งแต่สถานการณ์โควิดเป็นต้นมา แต่หลังจากนั้นปริมาณการผลิตลดลงต่อเนื่องกว่าครึ่งของกำลังการผลิตรวม
“ส่วนแนวโน้มสถานการณ์การปลูกสับปะรดในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่อง เกษตรกรมีการปรับตัวไปปลูกพืชชนิดอื่นผสมผสาน แต่พอปีนี้เมื่อสับปะรดมีราคาสูง ราคาดี มีความเป็นไปได้ ที่เกษตรกรบางส่วนจะวนกลับมาปลูกสับปะรดใหม่ แต่ต้องติดตามสภาพอากาศที่แปรปรวนด้วย เพราะที่ผ่านมาสภาพอากาศแล้งจัด แต่เดือนตุลาคมเริ่มมีฝนชุก ผลผลิตอาจจะดีขึ้น”
นางศันสนีย์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่สับปะรดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนใหญ่ปลูกแต่สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย สำหรับส่งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปส่งออก เมื่อเกิดวิกฤตราคา หรือการส่งออก จะกระทบหนัก ดังนั้น ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบางส่วนหันมาปลูกสับปะรดผลสด เพื่อการบริโภค ที่ชื่อว่า สับปะรดพันธุ์ MD2 หรือสยามโกลด์ ซึ่งมีคุณลักษณะเนื้อแน่น กรอบ เนื้อสีเหลืองทอง บริโภคแล้วไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม วิตามิน C สูงถึง 4 เท่า
และสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน หรือที่ทิปโก้ทำตลาดในชื่อว่า “สับปะรดหอมสุวรรณ” โดยปัจจุบันพบว่าตลาด MD2 ดีมาก
แต่พื้นที่ปลูกยังมีน้อยไม่เพียงพอ ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกสับปะรดปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงาน อาจปรับเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์ MD2 ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดพร้อมส่งเสริม
หลังจากเกิดสถานการณ์อย่างโรงงานทิปโก้ยุติไลน์การผลิต ได้มีกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ฯลฯ มาปรึกษากับทางสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยทางสำนักงานเตรียมเชิญเกษตรกรแกนนำที่ปลูกสับปะรด MD2 หรือสยามโกลด์ เข้าร่วมประชุมถึงแนวทางในการทำตลาดสับปะรดผลสด MD2 ที่ตลาดกำลังไปได้ดีจากการจำหน่ายในประเทศ
โดยมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศด้วย โดยเกษตรกรจะต้องมีการปรับตัว เนื่องจากมาตรฐานการส่งออก จะต้องมีการจัดการผลผลิตก่อนส่งออก มีรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติตามให้ผ่านมาตรฐาน แต่หากทำได้เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน
อนึ่ง ในอดีตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เคยมีพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 402,905 ไร่ และยังเป็นแหล่งแปรรูปสับปะรดเพื่อการบริโภคและส่งออกที่ใหญ่ที่สุด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท ทำให้ได้รับการเรียกขานว่า ประจวบคีรีขันธ์เป็นเมืองหลวงสับปะรด ซึ่งพันธุ์สับปะรดที่นิยมปลูกเพื่อส่งโรงงานมากที่สุดคือ สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย