
เหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ครั้งใหญ่ ระหว่างวันที่ 3-7 ตุลาคม 2567 นานร่วมสัปดาห์ มวลน้ำมหาศาลไหลบ่ารุนแรงและขยายวงกว้าง ท่วมบ้านเรือน พื้นที่เศรษฐกิจจมอยู่ใต้น้ำ เป็นอีกหนึ่งหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ยังไม่รวมถึงการถูกลดทอนจากปัญหา PM 2.5 ถือเป็น ภัยพิบัติิ 2 โจทย์ใหญ่ ที่จะกลายเป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจภาคเหนือ
ท่องเที่ยวชะงักภาระหนี้พุ่ง
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ ต้องดูผลกระทบทุกเซ็กเตอร์ ได้แก่ 1.สิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย อาทิ บ้านชั้นเดียว บ้านสองชั้น อาคารพาณิชย์ แหล่งอุตสาหกรรม ร้านค้า ระดับผลกระทบแตกต่างกันไป 2.ความสูญเสียด้านการท่องเที่ยว น้ำท่วมทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก
3.ผู้ได้รับผลกระทบต้องหยุดงาน หยุดเรียน ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ สูญเสียรายได้รายวัน
4.ภาคเกษตร ความเสียหายมี 2 รูปแบบ คือ เสียหายแบบยับเยิน (Damage) เช่น พื้นที่เกษตรเสียหาย 100% หรือสูญเสียเพียงบางสิ่ง เช่น ข้าวไม่ได้ตายสิ้นเชิง แต่ผลผลิตต่อไร่ลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้ภาครัฐไม่ได้นำมาคำนวณ ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด อาจไม่สามารถจ่ายได้ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด
สำหรับผลกระทบหลักที่เป็นความสำคัญอันดับแรก คือ 1.ความเสียหายของบ้านเรือน ภาครัฐเยียวยา รายละ 5,000-9,000 บาท เทียบไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้น 2.ภาคอุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ เครื่องจักรเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่
3.การเสียชีวิต เป็นสิ่งที่มีมูลค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์มากกว่าสิ่งปลูกสร้างหลายเท่า 4.ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น จากการนำเงินไปซ่อมแซมบ้าน และปัญหาการเจ็บป่วยที่จะตามมา โดยเฉพาะความเครียด
รศ.ดร.วิษณุกล่าวว่า น้ำท่วม จ.เชียงใหม่ สามารถมองได้หลายมิติ คือ 1.น้ำไม่ได้ท่วมในพื้นที่ซ้ำซากเดิม แต่มีการกระจายตัวของพื้นที่ใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน (Climate Change) และการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยน โดยเฉพาะการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ มีการขยายตัวออกรอบนอกเมือง ถมที่สูง แต่ที่ดินใกล้เคียงต่ำ โดยไม่มีการวางผังเมือง และภาครัฐไม่ได้ดูว่าที่ตรงไหนต่ำ เสี่ยงน้ำท่วม ต้องวางท่อระบายน้ำให้มากขึ้นเพื่อการไหลของน้ำ
ทั้งนี้ ผังเมืองมีความเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมโดยตรง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ถมที่สร้างบ้านและมีการตัดถนน ซึ่งสร้างขวางทางน้ำ ไม่มีพื้นที่ซับน้ำ มีการเร่งการลงทุนของภาคอสังหาฯขยายตัวทุกพื้นที่ทั้งในเมืองและรอบนอก แต่ไม่มีใครบริจาคที่สำหรับสาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งรองรับน้ำหรือแก้มลิง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ พื้นที่รองรับน้ำลดน้อยลง ฝนตกอาจจะเท่าเดิม แต่ขีดความสามารถในการรองรับน้ำน้อยลง เชียงใหม่จึงต้องมีการบูรณาการการใช้ประโยชน์ที่ดินกับน้ำ และมีมาตรการที่ไม่ให้มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ภูเขา เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม่มีพื้นที่ซับน้ำ
รศ.ดร.วิษณุกล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลนำงบประมาณไปเยียวยาผลกระทบจากภัยพิบัติบ่อยขึ้น แต่ไม่มีการนำเงินไปลงทุนเพื่อป้องกัน งบประมาณในระบบป้องกันน้อย แต่เน้นแก้ที่ปลายเหตุ และมีแนวโน้มที่ไทยจะเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้น ขณะที่ในภาคอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่าความเสียหายต้องนำมาประเมินในเชิงลึก เช่น การตัดถนนเส้นหนึ่งระยะ 1 กม. คิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ และน้ำท่วมทำให้ถนนพังกี่กิโลเมตร สามารถประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายออกมาได้
จี้ทำผังคุมเมืองขยายไร้ทิศทาง
นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องถอดองค์ความรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเชียงใหม่ ที่ผ่านมาการจัดการมีระบบการรองรับที่ดีพอหรือไม่ เช่น การวางผังเมือง การตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยให้ชาวบ้านขึ้นไปถางป่า ปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนป่าไม่สามารถอุ้มน้ำ ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของทิศทางน้ำ การขยายตัวของเมือง การรุกล้ำลำน้ำ สร้างอาคารขวางทางน้ำ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วม ต้องเอาแผนที่มากางดูว่าตรงไหนถูกรุกล้ำจนกลายเป็นคอขวด ระยะยาวต้องมีการทำกำแพงเพื่อป้องกันแม่น้ำปิงให้สูงขึ้น เพื่อจะรับมวลน้ำ นอกจากนี้ ต้องเร่งทำอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง ซึ่งจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้
นายจุลนิตย์กล่าวต่อไปว่า การช่วยเหลือภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมา ทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนค่อนข้างมาก เช่น เชียงราย อาสากู้ภัยเข้าพื้นที่เร็วมาก แต่ด้วยระบบการทำงาน ขั้นตอน กฎระเบียบ ทำให้ล็อกการทำงานของหน่วยราชการให้ล่าช้า ตรงนี้จึงเป็นส่วนที่ต้องพิจารณาใหม่ นอกจากนี้การใช้งบประมาณการช่วยเหลือ การสั่งการ ที่มีขั้นตอนบางครั้งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ไม่สามารถสั่งการได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้คล่องตัวขึ้น
ททท.เร่งกระตุ้นฟื้นท่องเที่ยว
นางพัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 เป็นระยะของการฟื้นฟูบ้านเมืองเชียงใหม่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม คาดว่าต้องใช้เวลาราว 1 เดือน และอาจจะทำให้เชียงใหม่ขาดโอกาสการท่องเที่ยวในช่วงเดือนตุลาคมไป ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น
ทั้งนี้ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ ได้วางแผนเชิงรุกเพื่อกระตุ้นและฟื้นการท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พฤศจิกายน-ธันวาคม) โดยกำหนดแผนรุกตลาดต่างประเทศและในประเทศในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน โดยเตรียมจัด FAM Trip ในตลาดกลุ่มประเทศเอเชีย อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ เพื่อนำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้กับเอเย่นต์และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศดังกล่าว
ขณะเดียวกัน เตรียมรุกตลาดการท่องเที่ยวในประเทศไปพร้อม ๆ กัน โดยจัดโรดโชว์ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อนำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวและสินค้าการท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งจะก่อให้เกิดตลาดท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคในช่วงไฮซีซั่น
นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายนเป็นเทศกาลยี่เป็ง หรือลอยกระทง ได้ปรับแผนการท่องเที่ยวใหม่ จะทำให้ตลอดเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งเทศกาลยี่เป็ง โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี ที่เป็นจุดขายสำคัญของเชียงใหม่
นางพัศลินทร์กล่าวต่อว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม 2567) สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 7.3 ล้านคน เป็นสัดส่วนคนไทย 70% และต่างชาติ 30% (ตัวเลขเกือบเท่ากับปี 2019 ก่อนเกิดโควิด)
ขณะที่รายได้การท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 66,000 ล้านบาท (ยังน้อยกว่าปี 2019) ซึ่งคาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจากการปรับแผนรุกหนักด้านการตลาด แม้จะเสียโอกาสทางการตลาดในเดือนตุลาคมไป ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากโรงแรมหลายแห่ง ที่การ Booking ห้องพักเริ่มมีการทยอยจองเข้ามาเรื่อย ๆ