
เมืองกรุงเก่ามั่นใจพร้อมรับมือน้ำเขื่อน-ฝน เตรียมพื้นที่รับน้ำ 7 ทุ่ง กว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอต่อการรับมือทั้งน้ำเขื่อน-ฝน และทะเลหนุุน อีกทั้งชาวนาจำนวนมากเริ่มวิดน้ำเข้าที่นา เพื่อรองรับการทำนาปรังเดือน ธ.ค.นี้ ขณะที่การนิคมฯเตรียมแผนรับมือเช่นกันใน 3 นิคมหลักของจังหวัด มั่นใจไม่กระทบ กรมชลฯชี้แจง กมธ.จัดการน้ำ เชื่อไม่มีปัญหาเพราะปีนี้การระบายน้ำและฝนน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา
กรุงเก่าเตรียม 7 ทุ่งรับน้ำ
นายชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่มีความกังวลกับมวลน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายลงมา ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีพื้นที่รองรับน้ำเพียงพอ ขณะที่จังหวัดเตรียมพื้นที่รับน้ำ 7 ทุ่ง (ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบ้านแพน ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง) ได้กว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพียงพอต่อการรับน้ำที่จะมาเพิ่ม เพื่อปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ มีประตูระบายน้ำครบถ้วน
ส่วนด้านนิคมอุตสาหกรรมทำคันกั้นน้ำสูง นอกจากนี้ อยุธยาเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ทำให้สามารถคาดการณ์ขนาดมวลน้ำที่จะลงมา โดยดูจากทิศทางและระยะเวลาในการบริหารจัดการน้ำ ยืนยันไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอยปี 2554
มั่นใจรับมือน้ำเขื่อน-ทะเลหนุน
“พื้นที่ 7 ทุ่งเพียงพอต่อการรับน้ำที่จะมาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาวะปริมาณน้ำใต้เขื่อนสูงจากฝนตกหนัก, ภาวะน้ำทะเลหนุนทำให้มีน้ำขึ้น-น้ำลง 5-10 ซม. หรือแม้กระทั่งเขื่อนเพิ่มกำลังการระบายน้ำสูงถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตร การใช้พื้นที่รับน้ำ 7 ทุ่ง ยังคงเป็นหนึ่งในการบริหารจัดการเชิงระบบที่ดี”
ประธานสภาอุตฯกล่าวอีกว่า การมี Module ในเรื่อง กรมชลประทานที่ขุดคลองบางบาล-บางไทร ที่คาดการณ์ว่าจะทำให้เกิดการเร่งระบายน้ำออกทะเลให้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้มีบางพื้นที่ใช้ประตูน้ำเป็นตัวกั้น ควรสร้างกำแพงกั้นริมแม่น้ำตลอดทาง เพื่อป้องกันการรุกล้ำและเพื่อยกระดับแนวกั้นน้ำให้สูงเทียบเท่ากรุงเทพฯ” นายชัยกฤตกล่าว
กนอ.กำชับ 3 นิคมเตรียมพร้อม
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า 3 นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ที่อยู่ใน จ.พระนครอยุธยา เป็นพื้นที่เสี่ยง คือ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า ซึ่งให้แต่ละนิคมรายงานและประเมินเข้ามาให้ทราบทุกวัน รวมถึงการตรวจเช็กระบบเขื่อน ระบบสูบน้ำ และเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว
สำหรับระบบป้องกันน้ำท่วมในแต่ละนิคมอุตสาหกรรมนั้น ในส่วนนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบคันดินบดอัดแน่นเสริมด้วยวัสดุป้องกันคอนกรีต ความยาว 5.5 กิโลเมตร สูง 8.2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมสถานีสูบน้ำ 1 สถานี เครื่องสูบน้ำ 4 ชุด มีกำลังสูบน้ำได้สูงสุด 21,600 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำรอง 1 แห่ง และบ่อหน่วงน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง
เสริมคันดิน-ระดมเครื่องสูบ
นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบคันดินบดอัดแน่นเสริมด้วยคอนกรีต ความยาว 10 กิโลเมตร ความสูง 6 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมสถานีสูบน้ำ 4 สถานี เครื่องสูบน้ำ 18 ชุด มีกำลังสูบน้ำได้สูงสุด 32,400 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำรอง 4 แห่ง และบ่อหน่วงน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง
นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบคันดินบดอัดแน่นเสริมด้วยวัสดุป้องกัน ความยาว 11.1 กิโลเมตร ความสูง 5.4 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมสถานีสูบน้ำ 1 สถานี เครื่องสูบน้ำ 5 ชุด มีกำลังสูบน้ำสูงสุด 54,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำรอง 1 แห่ง และบ่อหน่วงน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง
กรมชลฯวางมาตรการ
ด้านนายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ถึงแผนการระบายจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมวางมาตรการดูแลและชดเชยผู้ที่ได้รับความเสียหาย ว่าจะต้องมีการดำเนินงานอย่างไร
ทางสำนักบริหารจัดการน้ำฯได้ยืนยันถึงแผนการจัดการน้ำ และความพร้อมในการเตรียมรับมือ จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบเหมือนน้ำท่วมปี 2554 แน่นอน และยังไม่ถึงขั้นต้องออกมาตรการชดเชยในตอนนี้
ที่นาผันน้ำเข้ารอปลูกนาปรัง
“เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เยอะ เกษตรกรบางรายผันน้ำเอาไว้เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในการเพาะปลูกข้าวนาปรังที่จะเริ่มในช่วงเดือนธันวาคม 2567 นี้ ซึ่งพื้นที่รับน้ำเป็นการเปิดโดยความสมัครใจตามความต้องการ รวมไปถึงขณะนี้ สำนักบริหารจัดการน้ำฯได้เร่งระบายน้ำออกไปแล้วบางส่วน และผันน้ำเข้าในเขตพื้นที่ชลประทานแล้ว เพื่อใช้ในการเพาะปลูกข้าวนาปรังของเกษตรกร”
ประสานแผนระบายน้ำ
นายธเนศร์กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนบน โดยเฉพาะทุ่งบางระกำ ซึ่งมีพื้นที่รับน้ำทั้งสิ้น 265,000 ไร่ สามารถรับน้ำได้ปริมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากของแม่น้ำยม และปีนี้แม่น้ำยมเกิดอุทกภัย 2 ครั้ง ในรอบหลายปี ทำให้ปัจจุบันทุ่งบางระกำรองรับน้ำเกินความจุแล้ว อยู่ที่ 571 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้จะรับน้ำเกินความจุ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่รับน้ำและยังสามารถรับน้ำได้
ทุ่งรับน้ำเหลือพื้นที่อีกเยอะ
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง ฝั่งตะวันออก ซึ่งมีอยู่ 5 ทุ่งในการรับน้ำ คือ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 256,680 ไร่ สามารถรับน้ำได้ประมาณ 437 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันรับน้ำอยู่ที่ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 341 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง ฝั่งตะวันตก มีอยู่ 5 ทุ่งในการรับน้ำ คือ ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 730,969 ไร่ สามารถรับน้ำได้ประมาณ 869 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันรับน้ำอยู่ที่ 228 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรับน้ำได้อีก 640 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ดังกล่าวยังสามารถรับน้ำได้
ปีนี้น้ำเขื่อน-ฝนน้อยกว่าปี’64-65
ดังนั้นแผนการจัดการในตอนนี้ ยังเป็นการระบายน้ำส่วนเกินเข้าสู่พื้นที่ชลประทาน ส่วนเกษตรกรสามารถผันน้ำเพื่อกักเก็บใช้ทางการเกษตรได้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นจากการระบายน้ำและฝนตกในพื้นที่ มองว่าปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2564 และ 2565 สามารถรับและระบายน้ำลงสู่ชลประทานและเขื่อนเจ้าพระยาได้