
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“หัวหิน” หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย อยู่ภายใต้การบริหารของเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หัวหินเติบโตขึ้นทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ภายใต้พื้นที่รวม 86.36 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 ตำบล คือ ต.หัวหิน และ ต.หนองแก มีจำนวนประชากรตามฐานทะเบียนบ้าน 62,454 คน (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2566) เนื่องจากเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การเติบโตของเมืองมาพร้อมกับปัญหาในหลายมิติ พร้อมมีประชากรแฝงอีกนับแสนคน
จากข้อจำกัดดังกล่าว สภาเทศบาลเมืองหัวหิน จึงมีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ให้เปลี่ยนแปลงฐานะจาก “เทศบาลเมืองหัวหิน” เป็น “เทศบาลนครหัวหิน” โดยจะมีผลในวันที่ 28 มีนาคม 2568
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นพพร วุฒิกุล” นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน หรือ “นายกหนุ่ย” ถึงแผนงาน และทิศทางในอนาคตที่อยากออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อเพิ่มอำนาจในการบริหารที่มีความเป็นอิสระในรูปแบบ “เมืองพิเศษ” เช่นเดียวกับเมืองพัทยา
“เสื้อโหล” ไม่เหมาะกับหัวหิน
นายกหนุ่ยเล่าว่า เทศบาลหัวหินมีความพยายามในการพัฒนาทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง และกำลังเปลี่ยนแปลงฐานะขึ้นเป็นเทศบาลนครหัวหิน ในเดือนมีนาคม 2568 แต่มองว่ายังไม่เพียงพอกับการบริหารงานและพัฒนาหัวหิน ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนครบทุกด้าน
จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษา “โครงการวิจัยเทศบาลเมืองหัวหิน เพื่อเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” จะเป็นโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อก้าวสู่เป้าหมายใหม่กับแผนการพัฒนาหัวหินสู่ “เมืองท่องเที่ยวพิเศษ” หัวหินเมืองแห่งความสุข สู่นครแห่งการพักผ่อนระดับโลก
ปัจจุบันการบริหารงานมีปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะด้านงบประมาณ และข้อกฎหมายต่าง ๆ เปรียบได้กับ “เสื้อโหล” หัวหินได้รับเสื้อโหลเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเสื้อโหลไม่เหมาะกับหัวหินในหลายปัจจัย ทำให้เกิดผลกระทบ ชะลอการพัฒนา และเป็นข้อจำกัดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองหัวหิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ แต่กลับถูกบีบบังคับ และจำกัดในข้อกฎหมายและงบประมาณ
การดำเนินงานภายใต้สถานะเทศบาลเมือง ทำให้ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ทั้งงบประมาณ การตัดสินใจโครงการ และนโยบายด้านการท่องเที่ยว ทำให้ขาดอำนาจในการบริหารแบบอิสระ เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เทศบาลเมืองหัวหินไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาหรือโอกาสทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการพัฒนาที่ล่าช้า เช่น การพัฒนาสกายวอล์กที่เขาหินเหล็กไฟ เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศอีกมาก
ขณะนี้มีการออกแบบวางแผนและเตรียมการในหลายด้าน แต่ติดขัดข้อกฎหมายหลายประการทำให้โครงการต้องหยุดชะงัก
นอกจากนั้น มีเทศกาลและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว บนชายหาดหัวหิน เช่น เทศกาลดนตรีแจ๊ซบนชายหาด Huahin Jazz Festival เป็นอีเวนต์ที่เคยโด่งดังมากเมื่อ 10 ปีก่อน ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบเพลงแจ๊ซจากทั่วโลกเดินทางมา แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนพื้นที่สาธารณะ บนชายหาดต่าง ๆ ได้ แม้มีการขออนุญาตเฉพาะ ไม่สามารถทำได้ ทำให้ขาดโอกาสในการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในส่วนนี้
หากสามารถปลดล็อกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ จะส่งผลดีต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว และดึงรายได้มาสู่ประเทศอีกมาก
ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ปัญหาชัดเจน ได้แก่ การจัดการขยะ น้ำเสีย และการจราจรติดขัดในช่วงฤดูท่องเที่ยว อีกทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การกัดเซาะชายฝั่งที่ส่งผลกระทบต่อความสวยงามของชายหาดและคุณภาพน้ำทะเลที่ลดลง การพัฒนาเมืองจึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการบุคลากรด้านการบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น แต่การฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรในภาคการบริการยังไม่เพียงพอตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มีความคาดหวังสูงต่อการบริการระดับสากล
คืบอีกก้าวสู่ “เทศบาลนคร”
เมื่อหัวหินได้รับการยกฐานะเป็น “เทศบาลนคร” จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในด้านการบริหารจัดการและศักยภาพในการพัฒนา เมืองจะมีอำนาจในการตัดสินใจและการบริหารงานที่เป็นอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณและการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของเมืองได้ทันที หัวหินจะมีอำนาจในการจัดการที่เพิ่มขึ้น
การมีฐานะเป็นเทศบาลนครจะทำให้หัวหินมีอำนาจในการกำหนดนโยบายและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐบาลกลาง ทำให้สามารถวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างทันท่วงที มีการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การยกระดับเป็นเทศบาลนครหัวหินจะช่วยสนับสนุนแผนการพัฒนาหัวหินสู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลกได้มากขึ้น ทั้งด้านการบริการ สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น ระบบขนส่งมวลชน การจัดการขยะ และน้ำเสีย รวมถึงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มุ่งสู่เมืองปกครองพิเศษ
นายกหนุ่ยบอกว่า สำหรับความเป็นไปได้และความหวังในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้านการท่องเที่ยว ที่กำลังเร่งศึกษาวิจัยอยู่นั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้แทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน
โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากมีอำนาจในการบริหารงานในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะทำให้การพัฒนาหัวหินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สิ่งสำคัญ จะต้องผลักดันให้มีการออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อเพิ่มอำนาจในการบริหารและการจัดการด้านต่าง ๆ มีความคล่องตัวและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการเสนอกฎหมายเฉพาะนี้จะเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การออกกฎหมายจะเป็นส่วนสำคัญช่วยส่งเสริมพัฒนาเมืองหัวหินให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติที่มีประสิทธิภาพ คล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น
โดยเฉพาะการให้เทศบาลนครหัวหินสามารถดูแลพื้นที่ชายหาดทั้งหมดได้เอง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่าง ๆ บนชายหาด อาทิ การจัดงานเทศกาลหัวหินแจ๊ซเฟสติวัลที่มีชื่อเสียงระดับโลก
จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2566 จำนวน 44,240.75 ล้านบาท โดยรายได้ไม่น้อยกว่า 70% มาจากการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอหัวหิน ปี 2567 คาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีเป้าหมายที่จะดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวสูงถึง 3.5 ล้านล้านบาททั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวอย่างหัวหินเติบโตตามไปด้วย
การยกระดับเทศบาลเมืองหัวหินเป็นเทศบาลนครและพัฒนาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้านการท่องเที่ยวในอนาคต จะช่วยให้หัวหินสามารถพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น