“เชียงใหม่” ชงรถไฟฟ้า 3 สาย จี้รัฐทุ่ม 9 หมื่นล้านแก้จราจร

trainCNX

ภาพการจราจรติดขัดอย่างหนักช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนพยายามผลักดัน “โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ หรือโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ (สายสีแดง)” ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว หลังตั้งไข่ ตั้งแต่ 9 ปีที่ผ่านมา

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษารูปแบบระบบขนส่งสาธารณะ โดยเชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบขนส่งขนาดรอง (Feeder) ต่าง ๆ กับรถไฟ รถโดยสารและท่าอากาศยาน โดยมีระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เป็นระบบหลัก ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ 1) สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี

2) สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกศรีบัวเงินพัฒนา และ 3) สายสีเขียว ช่วงแยกรวมโชคมีชัย-ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีทางเลือกโครงข่ายอยู่ 2 รูปแบบ คือ โครงข่าย A (โครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างใต้ดินและระดับดิน) และโครงข่าย B (โครงสร้างทางวิ่งระดับดินทั้งหมด) นั้น

หอฯจี้ทำพร้อมกัน 3 เส้นทาง

นายกฤษฏิภาชย์ ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเร่งโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ หรือรถไฟฟ้าเชียงใหม่ (สายสีแดง) ซึ่งมีแผนจะทำอุโมงค์ลงใต้ดินในเส้นทางเขตเมืองชั้นใน ในความเห็นส่วนตัวมองว่า หากทำรูปแบบนี้ค่าก่อสร้างงานโยธาจะเพิ่มสูง และจะทำให้รายได้กับต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่สอดรับกัน

ขณะเดียวกันจำเป็นต้องจัดทำเส้นทางโครงข่ายที่เชื่อมโยง (Feeder) เพื่อรวบรวมคนที่อาศัยอยู่เส้นวงแหวนรอบ 2 และรอบ 3 หรือถนนรองตามตรอกซอย เพื่อเดินทางเข้าสู่เมือง

ดังนั้น หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จึงขอเสนอต่อรัฐบาลให้เร่งรัดผลักดันโครงการรถไฟฟ้าให้เกิดพร้อมกันทั้ง 3 เส้นทาง หากทำเส้นทางเดียว หากให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงทุนเอง จะไม่คุ้มค่า

ADVERTISMENT

และจำเป็นต้องวางแผนควบคู่กันคือจุด Park & Ride เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารเข้าเมืองจากอำเภอรอบนอก ขณะที่เส้นทางสายสีแดง สุดปลายทางสี่แยกแม่เหียะ ปัจจุบันพบว่าที่ดินทั้ง 2 ฝั่งเป็นที่ดินของเอกชน ไม่มีจุดที่จะสามารถทำ Park & Ride ได้ และอยู่ในจุดควบคุมเรื่องความสูงด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้สนามบิน

แนะขยายสายสีแดงถึงหางดง

นายกฤษฏิภาชย์กล่าวต่อไปว่า ควรขยายจุดปลายทางสายสีแดงออกไปถึงเขตอำเภอหางดง บริเวณสี่แยกสะเมิง ซึ่งพอมีพื้นที่ว่างเปล่าของกรมทางหลวง ทำ Park & Ride โดยมีรถหมวด 4 ที่วิ่งไปอำเภอทางตอนใต้ อาทิ อำเภอหางดง สันป่าตอง ฮอด จอมทอง จุดนี้จะกลายเป็น Station และ Park & Ride ที่รองรับชุมชนขนาดใหญ่ในโซนนี้ทั้งหมดเข้าสู่เมืองได้

ADVERTISMENT

แผนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย อาจจะเป็นรูปแบบการก่อสร้างต่อเนื่อง เช่น เมื่อเริ่มก่อสร้างสายสีแดงแล้ว 50% เริ่มสร้างสายสีเขียวต่อ และต่อด้วยสายสีน้ำเงิน เพื่อให้มีความต่อเนื่อง

ซึ่งทั้งหมดควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี ที่จะสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 เบื้องต้นคาดว่าการลงทุนรถไฟฟ้าทั้ง 3 เส้นทาง ประมาณ 90,000 ล้านบาท เฉลี่ยเส้นละ 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีคนใช้บริการราว 100,000 คนต่อวัน ซึ่งงบฯลงทุนทั้ง 3 เส้นดังกล่าว ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการสร้างรถไฟฟ้า 1 เส้นในกรุงเทพฯ เส้นเดียว 150,000 ล้านบาท

ปัจจุบันเชียงใหม่กำลังประสบกับภาวะวิกฤตจราจรหลายจุด อาทิ สี่แยกศาลเด็ก สี่แยกพรอมเมนาดา สี่แยกแม่เหียะ สี่แยกรินคำ ฯลฯ ถ้ามีรถไฟฟ้า 3 สายเกิดขึ้น จะสามารถขนคนจากรอบนอกเข้ามาสู่เมืองได้จำนวนมหาศาล ขณะที่ปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวเร็วมาก

โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรต่าง ๆ ขยายออกสู่วงแหวนทั้ง 3 รอบ จำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนรองรับ กรณีที่รัฐบาลจะลงทุนเพียง 1 เส้นทางก่อน อาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ครบวงจร ต้องมีการเชื่อมโยงอำเภอรอบนอกทุกเส้นทาง ที่สำคัญควรพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการในการสนับสนุน แรงจูงใจให้คนใช้รถขนส่งมวลชนมากขึ้น และลดการใช้รถส่วนตัว

ชงบัตรสวัสดิการรัฐจ่ายค่ารถ

นอกจากนี้ นายกฤษฏิภาชย์เสนอว่า การทำให้คนใช้รถส่วนตัวทิ้งรถหันมาใช้รถไฟฟ้าได้ ภาครัฐควรมีเงินอุดหนุน (Subsidy) เช่น กลุ่มคนรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้นำบัตรนี้มาจ่ายเป็นค่าเดินทางส่วนหนึ่ง หรือเก็บค่ารถเข้าเมือง 30 บาท ประชาชนจ่าย 10 บาท และอีก 20 บาท รัฐสนับสนุน

ซึ่งเงินส่วนนี้มาจากการเก็บภาษีล้อเลื่อน แบ่งมาสนับสนุนให้คนบางกลุ่มที่มีรายได้น้อย จะทำให้ระบบขนส่งมวลชนสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นรูปธรรมและเข้าถึงคนทุกกลุ่ม คือ คนที่ใช้รถยนต์จ่ายภาษี และนำเงินภาษีที่จัดเก็บได้มาสนับสนุนให้ประชาชนบางส่วน เพื่อให้เกิดการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนได้อย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้คนใช้รถขนส่งมวลชนกันมากขึ้น และลดการใช้รถส่วนตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการ (FS) (ฉบับปรับปรุง) ฉบับธันวาคม 2566 ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ รูปแบบการก่อสร้างเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) วางแนวเส้นทางสายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) วิ่งตามแนวเหนือใต้ เริ่มต้นบริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์

โดยออกแบบโครงสร้างเป็นทางวิ่งระดับดิน วิ่งไปตามแนวถนนโชตนา (ทางหลวงหมายเลข 107) จนถึงบริเวณแยกศาลเชียงใหม่ แล้วเลี้ยวขวาวิ่งตามแนวถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ไปจนถึงแยกสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ข้ามคลองชลประทานแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนคันคลองชลประทาน ไปจนถึงบริเวณสี่แยกหนองฮ่อ แล้วจึงเลี้ยวซ้ายขนานไปกับถนนหนองฮ่อ (ทางหลวงหมายเลข 1366) ไปจนถึงแยกกองกำลังผาเมือง ซึ่งจุดนี้ ทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเปลี่ยนจากทางวิ่งระดับดินเป็นทางวิ่งใต้ดิน

จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามแนวถนนโชตนาอีกครั้ง ลอดผ่านทางลอดที่แยกข่วงสิงห์ ไปตามแนวถนนช้างเผือก ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ไปจนถึงถนนมณีนพรัตน์ (ถนนเลียบคูเมืองด้านนอกฝั่งทิศเหนือ) แล้วเลี้ยวขวาไปจนถึงแจ่งหัวลิน จึงเลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนบุญเรืองฤทธิ์ ผ่านโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนถึงแจ่งกู่เฮือง ไปตามถนนมหิดล (ทางหลวงหมายเลข 1141) ไปจนถึงแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ วิ่งตรงไปยังแนวคลองระบายน้ำด้านข้างท่าอากาศยานเชียงใหม่

ซึ่งจะเปลี่ยนจากระดับใต้ดินเป็นทางวิ่งระดับดิน แล้ววิ่งออกไปที่ถนนเชียงใหม่-หางดง (ทางหลวงหมายเลข 108) ไปสิ้นสุดบริเวณแยกแม่เหียะสมานสามัคคี

โดยรายงานเบื้องต้นจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังศึกษาทบทวนวิเคราะห์ข้อมูลโครงการ รายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา พร้อมทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม.

โดยล่าสุด มีแนวคิดศึกษา ปรับแผนสร้างทางวิ่งใหม่ โดยจะพัฒนาเป็นอุโมงค์ใต้ดินในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน จากเดิมอยู่บนดินตลอดแนวเส้นทาง คาดว่าปี 2568 จะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้น หลังจากนั้น ปี 2569 เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2570-2571 จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการ และในปี 2571 เริ่มงานก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดบริการในปี 2574