อยุธยาดันเมืองใหม่บ้านม้า ชู “บ้านภาชี” 800 ไร่ฮับโลจิสติกส์

Chaikrit
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“พระนครศรีอยุธยา หรืออยุธยา” เมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “เมืองมรดกโลก” จากยูเนสโก (UNESCO) ทำให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันด้วยโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อการเดินทางสู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ได้ทั้งทางถนน ทางราง และมีเส้นทางขนส่งทางน้ำเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ ทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เกือบ 2,000 แห่ง มีนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม 5 แห่ง และในอนาคตจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์พาดผ่าน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ชัยกฤต พุ่มเข็ม” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงแผนที่จังหวัดตั้งเป้าพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์

ชง ครม.ท่าเรือบกบ้านภาชี

อยุธยามีความพร้อมด้านระบบขนส่งเชื่อมต่อทั้งทางน้ำ ทางราง และทางบก และตั้งอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ปัจจุบัน อ.วังน้อย เป็นที่ตั้งคลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าของห้างสรรพสินค้าใหญ่หลายแห่ง มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี อยุธยามีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม การลงทุน และการจ้างงาน เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม 5 แห่ง มีผู้ประกอบการกว่า 1,933 บริษัท จึงจำเป็นต้องบูรณาการระบบโลจิสติกส์

โดยการผลักดันจัดตั้ง “โครงการพัฒนาท่าเรือบก” (Dry Port) บริเวณริมทางรถไฟชุมชนทางรถไฟบ้านภาชี มีพื้นที่อยู่ 872 ไร่ จัดทำเป็นแผนแม่บท เพื่อเชื่อมโยงระบบ “การขนส่งทางน้ำ-ราง-บก” ที่มีอยู่ ให้เป็นระบบการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (Multitransport) นำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ให้เกิดประสิทธิผล ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพิ่มโอกาส และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันสถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี เป็นโครงข่ายเชื่อมสถานีรถไฟ 10 แห่ง ทั้งสายเหนือ สายอีสาน ในอนาคตมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ส่วนขยายจากรังสิต-อยุธยา), สถานีรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-หนองคาย) และสถานีรถไฟรางคู่เพื่อรองรับการขนส่งจากประเทศจีน

ส่วนเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ที่ อ.นครหลวง มีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 28 ล้านตันต่อปี มูลค่ากว่าแสนล้านบาท เชื่อมต่อภาคเหนือและภาคอีสาน ผ่าน อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา เชื่อมกับแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำสำคัญของประเทศ

Advertisment

high speed station

ด้านคมนาคมทางบกเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือ อีสาน และภาคตะวันตก โดยมีทางหลวงแผ่นดิน (ทล.) รองรับหลายเส้นทาง เช่น ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงต่างระดับเชียงรากน้อย-บางปะอิน เป็นถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ผ่าน จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา มีรถขนาดใหญ่ใช้เส้นทางถึง 60.55%, ถนนพหลโยธิน มีรถขนาดใหญ่

Advertisment

เช่น รถบรรทุก รถบัส ใช้เส้นทาง 39.00% และทางหลวง 32 มีรถขนาดใหญ่ 24.08% นอกจากนี้ อยู่ระหว่างก่อสร้างทางหลวงพิเศษ MR6 (สายบางปะอิน-นครราชสีมา) ปัจจุบันเปิดใช้งานในส่วน อ.ปากช่อง-นครราชสีมา ส่วนช่วงบางปะอิน-สระบุรี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในอนาคตมีแผนพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ MR10 (วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3)

อย่างไรก็ตาม จังหวัดจำเป็นต้องปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อขอแก้พื้นที่สีเขียว (พื้นที่เกษตรกรรม) ให้เป็นสีม่วง (พื้นที่อุตสาหกรรม) โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันออก ครอบคลุม อ.ภาชี อ.นครหลวง อ.วังน้อย เพื่อรองรับโครงการท่าเรือบก อ.ภาชี ในรัศมี 50 กม. ที่ยังขาดการพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภค หรือด้านระบบขนส่งภายใน จึงเหมาะแก่การเป็น “เมืองใหม่” (New Towns) สำหรับภาคอุตสาหกรรม

ดันสถานีไฮสปีดไปบ้านม้า

ปัจจุบันอยุธยามีปัญหาในการวางโครงข่ายเส้นทางคมนาคมอีกหลายเรื่อง เนื่องจากหน่วยงานที่ทำโครงการไม่ได้มองภาพรวมทั้งจังหวัด เช่น การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วางแผนตั้งสถานีรถไฟไฮสปีดอยู่ที่สถานีอยุธยาเดิม โดยให้ใช้ร่วมกับรถไฟของ ร.ฟ.ท. โดยชานชาลารถไฟของ ร.ฟ.ท.จะอยู่ที่ระดับพื้นดิน

ส่วนรถไฟไฮสปีดจะอยู่ชั้นที่ 3 ผมเห็นว่า ไม่มีความเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ (TOD) เพราะปัจจุบันพื้นที่บริเวณดังกล่าวสามารถขยายเมืองได้อีกเพียง 30% ควรย้ายไปตั้งที่ “สถานีรถไฟบ้านม้า” ต.บ้านเกาะ ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศเหนือเพียง 3,600 เมตร สามารถพัฒนาเมืองต่อไปได้ตามต้นแบบหลักการพัฒนา TOD

สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แยกได้ 5 ประการ ได้แก่ 1.บริเวณรัศมี 1 กิโลเมตรรอบสถานีรถไฟอยุธยา เหลือพื้นที่ของภาคเอกชนที่จะพัฒนาได้เพียงร้อยละ 39.42 ทำให้การเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะยากต่อการพัฒนาให้การใช้บริการครอบคลุม 2.สภาพจราจรช่วงเวลาเร่งด่วนมีความแออัด ทำให้การรองรับของถนนที่ต้องเชื่อมโยงภายในเมืองไม่สามารถรองรับได้ถึง 3 สถานี

3.ห่างจากแหล่งจ้างงาน ส่งผลต่อปริมาณผู้เข้าใช้บริการสถานีรถไฟทั้ง 3 แห่ง ทั้งสถานีรถไฟรางคู่ สถานีรถไฟชานเมือง และสถานีรถไฟไฮสปีด นอกจากนี้ ตัวสถานีเดิมยังติดกับทางหลวงหมายเลข 3053 เพียงเส้นเดียว ไม่สามารถรองรับประชาชนในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงได้ เช่น อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี 4.มีข้อจำกัดด้านพื้นที่โบราณสถานกว่า 14 แห่ง จึงยากต่อการขยายเมือง

5.หากสร้างสถานีไว้ในตำแหน่งเดิม อาจต้องใช้งบประมาณสูงสำหรับการเวนคืนที่ดิน ซึ่งไม่สอดคล้องต่อการทิศทางการพัฒนาเมือง เนื่องจากพื้นที่เกาะเมืองเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยากต่อปรับเปลี่ยนสถานภาพของพื้นที่

high speed station

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ของจังหวัดได้มีความเห็นตรงกันว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมในการสร้างรถไฟไฮสปีด พร้อมเสนอสถานีรถไฟบ้านม้า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเมือง มีระยะห่างจากสถานีเดิม 3,600 เมตร เพราะ 1.สถานีบ้านม้า เป็นสถานีต้นน้ำขึ้นสายเหนือและสายอีสาน และเชื่อมต่อสนามบิน 2.พื้นที่สถานีบ้านม้า มีที่ตั้งใกล้ทางหลวงหมายเลข 32, 3053 และ 3061 สามารถลดความแออัดจราจรในเมืองได้

3.สถานีบ้านม้า มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองต้นแบบตามนโยบายและมาตรการ การคัดเลือกเมืองต้นแบบ TOD เช่น เศรษฐกิจเข้มแข็ง, แหล่งงานขนาดใหญ่, อัตราส่วนการเพิ่มของประชากรเมืองสูง และพื้นที่มีความพร้อมต่อการเป็น “เมืองใหม่” หรือ New Town พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสู่ภูมิภาค

4.ไม่ส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน “เมืองมรดกโลก” เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 500 ปี 5.หากย้ายไปที่สถานีบ้านม้า จะมีพื้นที่ใกล้เคียงติดกับทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) สามารถสร้างสถานีขนส่ง “บขส.” ได้ เพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ ถนน กับราง

ขอให้ กรอ.ยับยั้งการลงนาม ทำสัญญาก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง และขอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ทำการศึกษาพัฒนาเมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ตามแนวโครงข่ายสถานีรถไฟบ้านม้า ที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาเมืองให้มีการเติบโตและสามารถจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างด้านคมนาคม ตามหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง เพื่อให้ผลการศึกษาสามารถนำมาปฏิบัติให้ได้ผลจริงอย่างเป็นรูปธรรม เราได้ยื่นเหตุผลและความจำเป็นทั้งหมดไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา

ขอย้ายบ้านโพธิ์เชื่อมเส้น 356

ส่วนกรมทางหลวงที่มีโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 356 (ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้) จาก 2 ช่องจราจร ให้เป็น 4 ช่องจราจร ทาง กรอ.เล็งเห็นปัญหาในระยะยาวรถติด จึงเสนอว่าควรขยายเป็น 6 ช่องจราจรเลย ขณะเดียวกัน เสนอให้ย้ายสถานีรถไฟบ้านโพธิ์ ทำรางให้เชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 356 เพื่อเพิ่มอัตราการใช้บริการ ปัจจุบันมีคนใช้บริการเพียง 0.2% เพราะตัวสถานีห่างกับถนน 356 ประมาณ 2 กม.

ปรับโครงข่ายวงแหวนรอบ 3

สำหรับถนนกาญจนาภิเษกที่มีปริมาณรถจนเต็มศักยภาพ กรมทางหลวงได้เริ่มโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายถนนวงแหวนรอบนอก กทม. รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) ตอนแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 32-บรรจบทางหลวงหมายเลข 305 ส่วนที่ 1 เห็นด้วย แต่เส้นทางเดิมที่กำหนดไว้ต้องวิ่งจากทางหลวงหมายเลข 32 กม.0+000 ต.หันสัง อ.บางปะหัน ผ่าน อ.นครหลวง อ.ภาชี อ.มหาราช อ.อุทัย ผ่านนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง และชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องเวนคืนพื้นที่เมือง และชุมชน

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเปลี่ยน เลี่ยงขึ้นไปทางทิศเหนือ แล้ววนมาบรรจบที่ อ.ภาชี อ.อุทัย และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) บริเวณ กม.36+000 รวมระยะทาง 36 กิโลเมตร หากยึดรูปแบบตามเดิม จะทำให้การพัฒนาเมืองไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร จะกลายเป็น “เมืองอกแตก” ทันที เพราะการสร้างถนนวงแหวนจะต้องไม่ผ่านพื้นที่เมือง

ซึ่งจะกระทบต่อวิถีชุมชนเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น การพัฒนาเมืองอย่าไปกังวลเรื่องการเวนคืน แต่ต้องส่งเสริมการ
บูรณาการระบบขนส่งสาธารณะ เพราะการพัฒนาควรทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ หากไม่คิดจะทำ เพราะติดเงื่อนไขเรื่องการเวนคืน แล้วเมื่อไหร่เมืองจะเติบโต

เอกชนฝุ่นตลบ “ปมสถานีไฮสปีด”

ความขัดแย้งเรื่องจุดตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงวันนี้ยังมีควันคุกรุ่น โดยภาคเอกชนในจังหวัด มีความเห็นต่างเนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผล และผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ขณะที่กรมศิลปากรเป็นห่วงผลกระทบต่อโบราณสถานที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก

โดย นายเรียงทองบาท มีพันธุ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีการสำรวจความคิดเห็นในพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา ประชาชนในเกาะเมือง ชุมชนต่าง ๆ และผู้ประกอบการใน อ.พระนครศรีอยุธยา ต่างต้องการให้สร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่สถานีรถไฟอยุธยาเดิม เพราะเดินทางสะดวก และคนที่ใช้รถไฟความเร็วสูงน่าจะเป็นคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวไป-กลับ

หากการตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงที่สถานีบ้านม้า อาจเป็นไปได้ยาก เพราะอยู่ค่อนข้างไกลจากจุดท่องเที่ยว จำนวนประชาชนที่อาศัยบริเวณชุมชนบ้านม้า มีน้อยกว่าชุมชนในเกาะเมือง ดังนั้น จึงต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ การสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่สถานีบ้านม้า แล้วสร้างระบบฟีดเดอร์มารองรับ เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครรู้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่

“ตอนนี้โครงการมีความคืบหน้าไปมากแล้ว หากปรับเปลี่ยนจากสถานีอยุธยาเดิมไปสถานีบ้านไม้ ต้องทำการศึกษาใหม่ ระยะเวลาที่ต้องเลื่อนออกไปไม่เกิดความคุ้มค่า จะเป็นการเสียโอกาส การพัฒนา รายได้ เราไม่มีทางรู้อนาคต จะรอย่ำอยู่กับที่ โดยที่ไม่ไปไหนเลย ยกตัวอย่าง ใน 1 ปี อยุธยามีรายได้ 100 ล้านบาท หากขยับไปสร้างที่สถานีบ้านม้าต้องรออีกกี่ปี อาจจะ 10 ปี จะเสียรายได้มหาศาล แต่ถ้าหากสร้างที่สถานีอยุธยา อีก 5 ปี รถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ อาจสร้างรายได้เพิ่มเป็น 150 ล้าน/ปี แค่นี้ก็เห็นรายได้มหาศาล”

จึงอยากให้ภาครัฐหรือคนที่คัดค้าน ลองพิจารณาตัวเลือก (Option) ที่ 3 คือ การสร้าง 2 สถานี คือสร้างสถานีอยุธยาเป็นสถานีหลักสำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนสถานีบ้านม้าอนาคตอาจสร้างเพิ่มเติมเป็นจุดขนส่งสินค้า เพราะสถานีรถไฟความเร็วสูงไม่จำเป็นว่าต้องมีเพียง 1 สถานีต่อ 1 เมือง การใช้งบประมาณเพิ่มอีก 500-800 ล้านบาท เพื่อสร้างอีกสถานี เงินไม่ใช่อุปสรรคสำคัญต่อการจัดการ

high speed station

แต่ระยะเวลาที่ใช้งานต่างหากที่ต้องถูกเลื่อนออกไป จะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ยิ่งล่าช้า และอาจจะเกิดความเสี่ยงจากตัวเลือกที่ 4 สูงมากเช่นกัน อาจทำให้การตั้งสถานีอาจถูกข้ามไป คือ การไม่มีสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผมไม่อยากรับความเสี่ยงใน Option นี้ นายเรียงทองบาทกล่าวและว่า

ส่วนข้อกังวลที่หลายคนมองว่า อาจทำให้โบราณสถานถูกถอดถอนจากเมืองมรดกโลกของยูเนสโก ตนมองว่าไม่กระทบแน่นอน เนื่องจากการสร้างสถานี เป็นการสร้างครอบทับพื้นที่เดิมที่ควรอนุรักษ์ การพัฒนาและการอนุรักษ์เป็นสิ่งที่สามารถทำพร้อมกันได้ เพราะความเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ คือ จุดขายสำคัญของจังหวัด

เชื่อมั่นว่าคนที่ทำธุรกิจในจังหวัดต้องการคงจุดขายนี้ไว้ ทางกรมศิลปากรได้พยายามควบคุมการออกแบบอาคารต่าง ๆ ในตัวเมือง ให้ความเป็นเมืองโบราณล้อไปกับยุคสมัยใหม่ เพียงแต่อาจดึงการพัฒนาในรูปแบบเทคโนโลยีมาเป็นตัวเลือกให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งจะสามารถดึงเม็ดเงินภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ ช่วยให้คนในท้องถิ่นมีรายได้ ภาครัฐมีรายได้นำมาพัฒนาเมืองเพิ่มขึ้น เช่น เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ยังมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านตัวเมือง ประเทศอิตาลี มีรถไฟใต้ดินวิ่งผ่านเป็นจุดท่องเที่ยวได้