เกาะกูดวืดเที่ยวไฮซีซั่นพันล้าน การเมืองทุบมู้ดคนแห่ยกเลิกเดินทาง

เกาะกูด

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว-ชาวบ้าน “เกาะกูด” จ.ตราด ร้องนักท่องเที่ยว “ยกเลิก” การเดินทางที่จองมาล่วงหน้า ช่วงไฮซีซั่น ต.ค.-พ.ย. เหตุกระแสข่าวโลกโซเชียลร้อนแรง ดึงเกาะกูดไปเชื่อมโยงเป็นประเด็นการเมือง อ้างเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา พร้อมนัดรวมพลก่อม็อบที่เกาะกูดอีก ทั้งที่เอกสารเมื่อ 118 ปีระบุชัดว่าเป็นของไทย ทำนักท่องเที่ยวกลัวไม่กล้าเดินทางมา ด้านนายอำเภอและนายก อบต.เกาะกูด ออกแถลงการณ์ร่อนหนังสือในโลกโซเชียลเร่งสร้างความเชื่อมั่น

ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง อยู่ ๆ “เกาะกูด” จ.ตราด ถูกหยิบยกไปเชื่อมโยงเป็นประเด็นทางการเมือง เรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชา ทั้งที่เอกสารต่าง ๆ ในอดีตระบุชัดว่า พื้นที่เกาะกูดเป็นของประเทศไทย ไม่มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ แต่ยังไม่จบ มีความพยายามจุดกระแสความรักชาติขึ้นมา และกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เตรียมลงพื้นที่ เพื่อจัดกิจกรรมมาเป็นระลอก ข่าวคราวความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างจริงจังต่อชาวบ้าน และผู้ประกอบการในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจได้สอบถามประชาชนในพื้นที่เกาะกูด รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรม ที่พักร้านค้าต่างพูดทำนองเดียวกันว่า ปกติช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกาะกูด จังหวัดตราด คึกคักอย่างมาก โดยทุกปีเกาะกูดมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละประมาณ 300,000 คน สร้างรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ช่วงไฮซีซั่นของทุกปีนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะมีการจองที่พักล่วงหน้า

แต่ล่าสุดจากกระแสข่าวดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยว โทร.มาสอบถามจำนวนมาก เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ต่าง ๆ บางรายตื่นตระหนก ถึงกับขอยกเลิกการเดินทางเกรงไม่ปลอดภัย นายก อบต.และ นอภ.เกาะกูด หวั่นกระทบท่องเที่ยวเกาะกูดกำลังฟื้นตัวหลังโควิด-19 และเป็นช่วงเข้าสู่ไฮซีซั่น จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวไทย ยืนยันพื้นที่เป็นของไทยแน่นอน

นายเดชาธร จันทร์อบ นายก อบต.เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ว่า ตามข่าวจากสื่อโซเชียลลงข่าวเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล รวมถึงการจะเสียแผ่นดินเกาะกูดนั้น มีนักท่องเที่ยวโทรศัพท์มาสอบถามเป็นจำนวนมาก จึงได้ชี้แจงใน 2 กรณี คือ 1) แผ่นดินเกาะกูดเป็นของไทย 100% เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด มีคนไทยทำมาหากินมาครั้งบรรพบุรุษถึงปัจจุบัน ไม่มีการเสียแผ่นดินให้แก่กัมพูชาแต่อย่างใด

และ 2) พื้นที่ทับซ้อนในทะเลที่มีทรัพยากรมูลค่ามหาศาลไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวเกาะกูด สถานประกอบการ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวบนเกาะกูด เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องดำเนินการเจรจาผลประโยชน์ของชาติต่อไป

ADVERTISMENT

“ในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยว โทร.มาเช็กข้อมูลก่อนการเดินทาง บางคนกลัวถึงกับยกเลิกการเดินทางไป เป็นเรื่องที่น่าเสียดายถ้ากลุ่มต่าง ๆ นำเรื่องการเมืองมาปั่นกระแส จะกระทบกับการท่องเที่ยวของเกาะกูดที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด-19 และเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดี จากที่กำลังเข้าสู่ไฮซีซั่นเดือนแรก คือเดือนตุลาคม ห้องพัก 1,600 ห้อง มีอัตราเข้าพัก 70-80% มีทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ตอนนี้ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการดูแลแรงงานต่างด้าวของตนเอง ที่มีอยู่บนเกาะประมาณ 500-600 คน ให้อยู่ในพื้นที่ตั้งของตัวเอง ไม่ออกมารวมตัวกันทำกิจกรรม” นายเดชาธรกล่าว

ทางด้านนายไพรัช สร้อยแสง นายอำเภอเกาะกูด ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 เน้นย้ำชี้แจงว่า อำเภอเกาะกูดเป็นดินแดนของประเทศไทยอย่างชัดเจน ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 125 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1907) แต่ยังมีกลุ่มบุคคลผู้รักชาติพยายามแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ถึงกับจะลงมาจัดกิจกรรมในพื้นที่เกาะกูด ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประชาชนบนเกาะกูดอย่างร้ายแรง เพราะอำเภอเกาะกูดประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก

ADVERTISMENT

มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศเดินทางมาปีละไม่ต่ำกว่า 300,000 คน สร้างรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท จึงขอให้กลุ่มผู้รักชาติได้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนนำเสนอข่าว เพราะจะเป็นผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเกาะกูดโดยตรง

ทางด้านนายวัชรพงษ์ ประวาศวิล เจ้าของแมงโกรฟบังกะโลแอนด์เรสเตอรองท์ เกาะกูด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข่าวพื้นที่เกาะกูดลักษณะนี้ เสมือนนำเรื่องพื้นที่เกาะกูดไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เคยมีครั้งหนึ่งปลายปี 2566 นักท่องเที่ยวไทย โทร.มาถามและยกเลิกการเดินทางเพราะกลัว ถึงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 มีข่าวว่าจะมีการนัดชุมนุมบนเกาะกูด แต่ได้ยกเลิกไปแล้ว มีนักท่องเที่ยวสอบถามและบางรายยกเลิกไป ซึ่งกระแสข่าวในโซเชียลจะทำให้นักท่องเที่ยวไทยหวาดกลัว จริง ๆ พื้นที่เกาะกูดไม่มีปัญหาใด ๆ ข่าวทางโซเชียลที่เป็นแง่ลบต้องการนำไปเกี่ยวข้องกับทางการเมือง