เชียงใหม่ปลุกเทศกาลยี่เป็ง ดัน Soft Power คาดเงินสะพัด 2 พันล้าน

เชียงใหม่ปลุกเทศกาล “ยี่เป็ง” ดันเป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Festival Economy ยกระดับสู่เทศกาลนานาชาติ อัด 4 บิ๊กอีเวนต์ดึงนักท่องเที่ยวไทย-เทศ คาดเงินสะพัด 2 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ แถลงข่าวโครงการยกระดับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ และกิจกรรม Networking ณ โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่

นางศุภาดา ชัยวงศ์ ผู้แทนการตลาด สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) ภาคเหนือ เปิดเผยว่า

เทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่เป็นเทศกาลประจำเมืองที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และคุณค่าของวัฒนธรรมล้านนา และถือเป็นเทศกาลระดับนานาชาติที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเมืองอย่างยั่งยืนให้กับจังหวัด สอดคล้องกับนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาลของจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังตอบสนองต่อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศภายใต้ฐานอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

โดย TCEB ให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญกับเทศกาลยี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็น 1 ใน Flagship ภายใต้ Festival Economy ของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นเทศกาลที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงไฮซีซั่น ให้เกิดมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคเหนือ และยังสามารถดึงนักเดินทางคุณภาพสูงที่มีจังหวัดเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทาง

Advertisment

นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว กล่าวว่า ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ร่วมผนึกกำลังกันในครั้งนี้ มีความมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ “เทศกาล Yi Peng : Lanna Light Festival 2024” ภายใต้แนวคิด “ล้านนา บูชา และแสงไฟ” โดยปีนี้เตรียมจัดงานเทศกาล “ยี่เป็งเชียงใหม่” ในวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2567

Advertisment

โดยเชื่อมโยงด้วย 4 กิจกรรมหลัก พร้อมส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในเทศกาล ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วมฟื้นฟูเมืองหลังสถานการณ์น้ำท่วมสู่ยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และกระตุ้นการมาเยือนของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงและนักเดินทางไมซ์ ที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ต่อเนื่องในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ

สำหรับการร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจัดเทศกาลยี่เป็งในปีนี้ โดยการใช้กลไกเทศกาลซึ่งถือเป็น Soft Power ของจังหวัดเชียงใหม่ จะส่งผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะสามารถยกระดับสู่เทศกาลนานาชาติต่อไป

นางพัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากที่จังหวัดเชียงใหม่ ประสบกับปัญหาอุทกภัยเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระยะนี้อยู่ในช่วงการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ซึ่งงานเทศกาลยี่เป็งหรือลอยกระทงถือเป็นกิจกรรมในช่วงต้นฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่น

โดยข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจอัตราการจองห้องพักของโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามียอดจองในช่วงไตรมาส 4 นี้ ราว 80% โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลยี่เป็งหรือลอยกระทง อัตราการจองห้องพักก็อยู่ที่ราว 80% ขณะที่วันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 3 วัน ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลยี่เป็งปี 2567 นี้จะเพิ่มขึ้นกว่า 20% หรือราว 2,000 ล้านบาท จากปี 2566 ที่มีรายได้ราว 1,600 ล้านบาท

สำหรับกิจกรรมหลักทั้ง 4 กิจกรรม ประกอบด้วย

1.Yi-Peng Communication ร่วมพัฒนาช่องทางการประชาสัมพันธ์กิจกรรม สินค้า และบริการสำหรับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ โดยประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และ Website www.visitlannaassociation.com เพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์เทศกาลยี่เป็งและเทศกาลอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลของเทศกาลยี่เป็ง รวมถึงสินค้าและบริการท้องถิ่นไปสู่กลุ่มเป้าหมาย

2.Yi-Peng Illumination กิจกรรมต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมวิถีชาวล้านนา การประดับประดาไฟในพื้นที่ สาธารณะ วัด ชุมชน และคาเฟ่ และความร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่จัดทำและตกแต่งร้านค้าให้เป็นไปตามเทศกาลยี่เป็ง กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ในบรรยากาศยามค่ำคืนเพื่อสร้าง Night-time Economy ส่งเสริมภาพลักษณ์และบรรยากาศให้กับเทศกาลยี่เป็งในฐานะ Night-Light Festival

3.Yi-Peng Product & Service คัดเลือกและนำเสนอสินค้าและบริการพิเศษสำหรับเทศกาลยี่เป็ง ที่สอดคล้องกับแนวคิด “ล้านนา บูชา แสงไฟ” โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการและร้านค้านำเสนอสินค้าและบริการที่สะท้อนวัฒนธรรมล้านนาและเทศกาลยี่เป็ง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น เมนูอาหาร ผลิตภัณฑ์สปา งานหัตถกรรม และร่วมจัดกิจกรรม networking เพื่อการพัฒนาเครือข่ายแบบบูรณาการในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อส่งเสริมการขายร่วมกัน เป็นต้น

4.Yi-peng Navigator จัดทำแผนที่รวบรวมข้อมูลกิจกรรมภายในงานเพื่อสื่อสารข้อมูลให้กับผู้มาเยือนเทศกาลยี่เป็ง และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวตามเส้นทางภายใต้แนวคิดรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อทำภารกิจ (mission) ภายในงานยี่เป็ง ส่งเสริมการชื่นชมบรรยากาศในสถานที่สำคัญ ใช้จ่ายตามร้านค้า ร้านอาหารที่ร่วมรายการ ภายใต้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมถึงการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในกลุ่มจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้งานเทศกาลช่วยกระตุ้นผลกระทบเชิงบวกในพื้นที่ภาคเหนือ

นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ประธานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรม “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน จะเป็นกิจกรรมแรกของเมือง ภายใต้การทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายและเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ผู้เป็นส่วนสำคัญในการจัดทำกิจกรรมนี้สืบทอดกันมาเป็นเวลาเกือบ 10 กว่าปี โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการจุดผางประทีปแทนการปล่อยโคมลอยในตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อสืบสานประเพณีชาวล้านนาและส่งเสริมการสร้างความร่วมมือร่วมใจกัน ภายใต้แนวคิด “ล้านนา บูชา และแสงไฟ” เพื่อใช้เทศกาลยี่เป็งในปีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูเมืองเพื่อการเริ่มต้นใหม่ของชาวล้านนาภายหลังอุทกภัย

โดยปีนี้ยอดการผลิตผางประทีปคาดว่าจะมากถึง 100,000 ดวง ซึ่งเป็นการผลิตจากหลายชุมชน อาทิ บ้านเหมืองกุง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง, อำเภอฮอด และอำเภออมก่อย ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน และยังเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนด้วย