จังหวัดภูเก็ต เร่งตรวจสอบ ‘สยามซีเพลน’บินเที่ยวปฐมฤกษ์ ปมรันเวย์ขึ้นลงชั่วคราวในทะเล

จังหวัดภูเก็ต เร่งตรวจสอบ “สยามซีเพลน” บินเที่ยวปฐมฤกษ์ 11-13 ธ.ค. ปม “รันเวย์ขึ้นลงชั่วคราว” เครื่องบินทางทะเล ขณะที่เจ้าท่าห่วงความปลอดภัยการเดินเรือ รองผู้ว่าฯชี้ชัดต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานเจ้าท่า, สผ., อปท.ก่อน

นายสมาวิษฎ์ สุพรรณไพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งพื้นที่ขึ้นลงชั่วคราวการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations) โดยมี นางสาววรกัญญา สิริพิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สยามซีเพลน จำกัด พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สยามซีเพลน จำกัด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

สยามซีเพลนแจงเที่ยวปฐมฤกษ์ไม่ใช่พาณิชย์

นางสาววรกัญญา สิริพิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามซีเพลน จำกัด (Siam Seaplane) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มีเป้าประสงค์ ในการที่จะมีการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเลให้เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต จึงเป็นที่มาให้บริษัท สยามซีเพลนจะต้องทำการบินเที่ยวบินปฐมฤกษ์ First Seaplane Operations ตามคำแนะนำของกระทรวงคมนาคมและ กพท.

โดยเมื่อวันที่ 8-10 พฤษภาคม2567 กพท.และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ภายใต้กระทรวงคมนาคมได้จัด workshop ณ โรงแรมพูลแมนภูเก็ตอาร์คาเดีย ในทอนบีช อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่ง กพท.ได้จัดทำรายงานการประชุมมีข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

โดย บริษัท สยามซีเพลนได้รับการแจ้งข้อมูลจาก กพท. ว่า อยากจะมีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ Demo Fight ในวันที่ 11-13 ธันวาคม 2567 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยให้ทางบริษัทไปเลือกจุดขึ้นลงชั่วคราว และทำการศึกษาตามระเบียบของ กพท. ซึ่งปัจจุบันการทำการขึ้นลงในน้ำ โดยทาง กพท.ออกระเบียบขึ้นมา 1 ชุด กำกับดูแลสายการบินผู้ประกอบการในการทำหน้าที่ขึ้น-ลงในน้ำตามคอนเซ็ปต์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์ เป็นเพียง sandbox เพื่อให้เห็นว่า เครื่องบินทางทะเลมีการปฏิบัติการในแง่สิ่งแวดล้อมและสังคม และสิ่งที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ซึ่งเที่ยวบินปฐมฤกษ์อาจจะไม่ใช่เที่ยวบินจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการอนุญาตให้บินในเชิงพาณิชย์อีกครั้งหนึ่งโดยหน่วยงานอนุญาต คือ กพท.

ADVERTISMENT

ทางบริษัทเห็นว่าเดือนธันวาคม 2567 ใกล้เข้ามาแล้ว และตามระเบียบของ กพท.เห็นว่าทางบริษัทจะต้องได้รับหนังสือไม่ขัดข้องในการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในวันนี้ (6 พ.ย. 67) จึงต้องการให้ เห็นภาพเครื่องบินทะเล และการขึ้นลงชั่วคราว แตกต่างกับการขึ้นลงของสนามบิน ภูเก็ต-กระบี่-ดอนเมือง

โดยเมื่อนำอากาศยานขึ้นลงบนบก ยังมีที่ขึ้นลงชั่วคราว ไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่เท่าสนามบิน ไม่มีการรักษาความปลอดภัย ที่ใหญ่เท่าสนามบิน และโครงสร้างอื่นที่ซับซ้อนเท่าสนามบินจึงเรียกว่า “ที่ขึ้นลงชั่วคราว” หลักการนี้ทาง กพท.จึงนำมาใช้กับการขึ้นลงชั่วคราวทางทะเล

ADVERTISMENT

ในอนาคตทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT อาจจะเป็นผู้ลงทุน เรียกว่า สนามบินน้ำ แต่ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการน้อยราย จึงมีไกด์ไลน์ให้ผู้ประกอบการ เป็นผู้ขอพื้นที่ขึ้นลงชั่วคราว เนื่องจากรู้ระเบียบการปฏิบัติการบิน

ปัจจุบันการเข้าถึงเครื่องบินทางทะเลในพื้นที่ต่าง ๆ ยังเข้าถึงได้ยาก จึงคิดว่าน่าจะมีบริการเครื่องบินทะเลเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยทางบริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2019 หรือ 2562 ปัจจุบันดำเนินกิจการบินแบบบกไปบก หรือสนามบินสู่สนามบิน และจะร่วมกับ กพท.และ บวท.นำเครื่องบินทางทะเลเที่ยวปฐมฤกษ์ลงที่จังหวัดภูเก็ตเป็นที่แรก

ทีมงานประกอบด้วยหลายส่วน มีฝ่ายปฏิบัติการ และบริษัทที่ปรึกษาอาวุโส ซึ่งเครื่องบินสามารถบินได้ทั้งบนบกและในน้ำ เป็นเครื่องบินแบบมัลติเพอร์เพิส C208 สามารถใช้ได้ในการปฏิบัติการค้นหาสำรวจและเชิงท่องเที่ยว

เครื่องบินทะเล จะเป็นการบิน โดย กพท.ระบุว่า ต้องมี Demo Fight 1 จุดที่ภูเก็ต ปัจจุบันจัดเส้นทางบิน เริ่ม Take off จากอ่าวมะขาม ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต บินวนดูทิวทัศน์ไปที่เกาะเจมส์บอนด์ เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา และบินกลับมา ใช้เวลา 40-45 นาที ราคาประมาณ 35,000 บาทต่อเที่ยวบิน นั่งได้ 8 คน

ซึ่งการเดินทางเครื่องบินทางทะเล เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย กระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อย หลักการทางวิศวกรรม ไม่มีน้ำมันรั่วไหล แม้ว่ามีก็จะมีกรวยรองรับ ในเคสกรณีน้ำมันรั่วไหลออกมา สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับท้องถิ่นได้ มีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและหน่วยงานภาครัฐ และสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางการแพทย์ได้ ในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วน กรณีนำส่งอวัยวะ ของโรงพยาบาลสามารถดำเนินการให้ได้ สะดวกรวดเร็วและยืดหยุ่น ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดย กพท.ให้ใช้คำว่า สนามบินขึ้นลงชั่วคราวไม่ใช่สนามบินน้ำ ไม่มีการสร้างเป็นล็อก ๆ เหมือนสนามบินใหญ่ เป็นเพียงพื้นที่นำเครื่องบินมาลง ขนถ่ายผู้โดยสารเสร็จจะออกได้ทันทีจะไม่จอดเครื่องบินทิ้งไว้ในน้ำ ไม่มีการเติมน้ำมันและไม่มีการซ่อมบำรุงในน้ำ

โดยพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ 1,000 เมตร แต่หลักทำการบินจริง 600-800 เมตร ใช้โป๊ะเป็นตัวกลางในการขึ้นลงของเครื่องบินให้ผู้โดยสารมาที่โป๊ะ และมีเรือมารับในฝั่งตรงข้าม รูปแบบการบริการ เรือที่มารับผู้โดยสารไปส่งตาม จุดใกล้เคียง ที่ผู้โดยสารประสงค์จะไป ส่วนรูปแบบของทุ่น ยาว 10 กว้าง 4 เมตร ตามหลัก กพท.เป็นทุ่นลอยกลางทะเล

กลุ่มตลาดเป้าหมายเป็นกลุ่ม Premium Mass ขึ้นไป บริษัทมุ่งหวังเป็นแอร์ไลน์ มี Partner ที่เป็น MOU และอีกหลายแห่ง รวมทั้งที่เกาะยาวน้อย โดยให้บริษัทพาร์ตเนอร์ และ Agent จัดจำหน่ายตั๋ว ให้สัดส่วนในการจัดจำหน่ายตั๋ว อยู่ที่ 70 ต่อ 30 จำหน่ายผ่าน Partner โรงแรม เอาไปรวมกับห้องพักจัดเป็น Package สามารถจำหน่ายให้กับลูกค้า และ 30% จะเป็นลูกค้าที่มาจองตัวโดยตรงกับทางสายการบิน สำหรับราคา ชั่วโมงบิน สามารถให้ทุกคนเอื้อมถึงประสบการณ์นี้ได้ ไม่จำกัด จะต้องเป็นผู้โดยสารแบบ luxury เท่านั้น ดังนั้น ราคาต่อชั่วโมงบินจะอยู่ที่ 65,000 ถึง 70,000 บาท

ปกติทางบริษัทต้องทำการศึกษาการประเมินพื้นฐานพื้นที่ทำการขึ้นลง เพื่อส่งให้ กพท.อนุมัติด้านความปลอดภัย โดยประเมินตั้งแต่ห้วงน้ำ ห้วงอากาศ การจราจร ความถี่ในพื้นที่รูปแบบการจัดสรรการขึ้นลงต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน (Standard Operating Procedure : SOP) สำหรับแต่ละจุดในการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ จะถูกดูแลภายใต้ กพท. ซึ่ง กพท.จะปรึกษากับ บวท. โดยหน่วยงานอนุญาตจะเป็น กพท. ซึ่งจะบินได้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ เหมือนแอร์ไลน์ทั่วไป

“สุดท้ายจะได้บินเชิงพาณิชย์ได้จริงหรือไม่ต้องมีหลายส่วนประกอบกัน หรือทาง กพท.จะขอเพิ่มเงื่อนไขในช่วงการบินในช่วง Demo Fight ทางบริษัทไม่มีประเด็นเลื่อน เพียงแต่ทำตามไกด์ไลน์ของกระทรวงคมนาคมที่ให้ไว้ แต่หากว่าทาง กพท.ไม่สามารถขอยื่นยกเว้นกับทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้”

เจ้าท่าขอแผนวันเวลาแจ้งคนเดินเรือ

ทางด้าน นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต กล่าวว่า ทางขึ้นลงชั่วคราว ลักษณะรันเวย์ยาว 1,000 เมตร กว้าง 60 เมตร เกี่ยวข้องกับเจ้าท่า ต้องมีการแจ้งรายละเอียดไทม์ไลน์ วันเวลา ในการดำเนินการธุรกิจให้ชัดเจน เพราะจะต้องออกประกาศคำสั่งของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตแจ้งให้ชาวเรือทราบว่าจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ในบริเวณนี้ ให้ถือปฏิบัติตาม เพื่อความปลอดภัยทางทะเล ซึ่งจะต้องประสานกับ บ.วิทยุการบินฯ และศูนย์การจราจรทางน้ำ

ทุ่นต้องผ่าน ทช.-อปท. เห็นชอบ

ส่วนการวางทุ่น ตามที่บริษัทฯบอกเป็นการทิ้งสมอลงไป ห่างจากท่าเรือวิสิษฐ์พันวา อ่าวมะขาม ตำบลวิชิต ประมาณ 600 เมตร ในการขออนุญาตไม่เข้าข่ายสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เนื่องจากไม่มีการปักเสา ยึดติดตรึง แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในเรื่องปะการัง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดูแลพื้นที่สาธารณะทางน้ำ และถ้าอยู่ใกล้ฝั่งติดเกาะ ติดกับกรรมสิทธิ์หน้าที่ดินของผู้ใด ต้องได้รับความยินยอม จากบริเวณกรรมสิทธิ์ดังกล่าวด้วย

ประมงชี้รันเวย์เสี่ยงทับซ้อนพื้นที่จับสัตว์น้ำ

ทางด้าน นายประยุธ รัตนวรรณ ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องด้วยพื้นที่ มีประกาศไว้ เป็นที่อนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับรันเวย์ดังกล่าว จำนวน 1 แปลง และพื้นที่ทางด้านใต้ลงมาอีก 2 แปลง โดยให้มีการปรับขยับรันเวย์ ไม่ให้เกิดการทับซ้อนกับพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หากมีการปรับได้ก็ยินดี ที่ทางบริษัทจะนำความเจริญเข้ามาสู่จังหวัดภูเก็ต

ส่วนในเรื่องของโป๊ะ มองว่าใช้พื้นที่เล็ก หากเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จับสัตว์น้ำ ถ้าเป็นเรื่องที่จะต้องผ่าน สผ. ต้องเป็นอำนาจของอธิบดีกรมประมง แต่ถ้าได้รับการยกเว้นจะอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยต้องทำรายงานผลการศึกษาวิจัยที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทางด้าน นายสัจจพล ทองสม รองประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ถ้าทำไปก่อนโดยไม่มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เกรงว่าอาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง และจะกระทบกับประชาชนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นทุ่นหรือโป๊ะ ขนาด 4×8 เมตร ทางปฏิบัติจริงเชื่อว่าต้องใหญ่กว่านี้อาจจะกระทบกับการทำประมงในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่พอสมควร ดังนั้น ก่อนจะ Demo เที่ยวบินแรก ควรทำทุกอย่างให้เรียบร้อยโดยเฉพาะเรื่อง สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าจะต้องใช้ขั้นตอนอีกยาวพอสมควร โดยขอให้ปฏิบัติให้ถูกต้องก่อนทำธุรกิจ

ภูเก็ตแจ้งทุกหน่วยต้องเห็นชอบก่อน

ทางด้าน นายสมาวิษฎ์ สุพรรณไพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทาง กพท.ได้มีประกาศว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน อาทิ เจ้าท่า, สผ., อปท.ก่อน และทำเป็นเอกสารประกอบเพื่อไปยื่นขออนุญาตทาง กพท.อีกครั้ง

ดังนั้น ขอให้ทางบริษัทต้องมีการพิจารณาผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นก่อน ซึ่งต้องมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม และท้องถิ่น และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งจะต้องออกตรวจพื้นที่ร่วมกัน รวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้องที่อยู่ตามชายฝั่ง

โดยหลักการคือ ทางบริษัทจะต้องมีหนังสือแจ้งมาที่จังหวัดก่อน และจากนั้นจังหวัดจะพิจารณาดำเนินการ ประสานไปยัง กพท.ในกรณีนี้ถึงการอนุญาต อาจจะต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมีเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องพิจารณาการออกใบอนุญาต ตามหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน โดยคำนึงถึงภาพรวมความปลอดภัย การศึกษาสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว จากนั้นทางบริษัทจะต้องนำไปเสนอต่อ กพท.อีกครั้งหนึ่ง