เร่ขาย-เช่าล้งทุเรียนจันท์ พ่อค้าจีนขาดทุนยับ

durian

จันทบุรี แห่ปักป้าย ประกาศผ่านโลกออนไลน์ หาคนเช่าทำล้ง-ขายล้งจำนวนมาก แถมแข่งขันอัดโปรโมชั่น ไม่ริบเงินมัดจำ ลดราคา ทำ PR กระตุ้นให้มีผู้มาเช่า เหตุหลังปิดฤดูทุเรียนตะวันออก-ใกล้ปิดฤดูทุเรียนภาคใต้ พ่อค้าจีนหน้าใหม่ขาดทุนยับ 70-80% ไม่ต่อสัญญาเช่า ผิดไปจากปกติทุกปีเดือน ต.ค. พ่อค้าจีนแห่เข้ามาแย่งกันทำสัญญาเช่าแล้ว โดยเฉพาะปี 2566 คนแห่เช่านับพันราย แต่ปีนี้ พ.ย.แล้ว ล้งย่านทำเลทอง อ.ท่าใหม่ ตลาดเนินสูง ยังไม่คึกคัก ขณะที่ลดค่าเช่าจาก 800-1,200 บาท/ตร.ม. ลดเหลือ 700-1,000 บาท/ตร.ม.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจสถานการณ์ธุรกิจให้เช่าโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกใหญ่ในประเทศไทย ปกติในช่วงเดือนตุลาคมจะมีการต่อสัญญาเช่ากับล้งรายเดิม ขณะเดียวกันจะมีพ่อค้าหน้าใหม่เข้ามาหาเช่าพื้นที่ โดยเฉพาะพ่อค้าจีน เพื่อเตรียมเปิดกิจการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) รับซื้อผลผลิตในฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกปี 2568 จำนวนมาก

ยกตัวอย่างช่วงเดือนตุลาคม 2566 มีผู้ประกอบการมาหาพื้นที่เช่าทำล้ง เพื่อเปิดรับซื้อผลผลิตฤดูกาลปี 2567 สูงสุดถึง 1,200 ล้ง แต่ปีนี้กลับพบสิ่งที่ตรงกันข้าม ปรากฏว่า มีการปักป้ายขนาดใหญ่ประกาศขายพื้นที่ตั้งล้ง และประกาศหาคนมาเช่า รวมถึงการประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กหาคนเช่าจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการสอบถามคนในวงการทุเรียนให้เหตุผลว่า ปี 2567 ล้งต้องประสบภาวะขาดทุนรายละ 10-20 ล้านบาท มากกว่า 50% จากปัญหาผลผลิตทุเรียนน้อยต้องแย่งกันซื้อ ทุเรียนภาคใต้ตอนล่างพบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ระบบขนส่งล่าช้าจากภัยธรรมชาติ การปนเปื้อนแคดเมียม และทุเรียนเวียดนามที่ต้นทุนต่ำกว่า

ส่งผลให้พ่อค้าหน้าใหม่ที่เข้ามาต่างเจ็บตัวจากภาวะการขาดทุน 70-80% ทำให้ไม่มีการต่อสัญญาเช่า ทำให้เจ้าของพื้นที่ต้องขึ้นป้ายบอกขาย ทำให้เจ้าของพื้นที่ให้เช่าทำล้งแข่งขันจัดโปรโมชั่น ลดราคา ทำประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นให้มีผู้มาเช่า คาดว่าปริมาณล้งที่เปิดให้เช่าปริมาณไม่เพิ่มขึ้นมากเหมือนปีก่อน แม้ว่าแนวโน้มปริมาณผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว และสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน มีประกาศขายล้ง และล้งให้เช่า ทั้งจากเจ้าของล้งและผ่านนายหน้าจะมีการจัดระบบการให้เช่า แยก พื้นที่อาคารใช้สอย ปริมาณทำตู้ส่งออก ราคาค่าเช่า และสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งราคาค่าเช่าจะขึ้นอยู่ 3-4 องค์ประกอบ คือ

Advertisment

1) ทำเลที่ตั้ง อยู่ในโซนของตลาดทุเรียน หรืออยู่ในแหล่งผลิตทุเรียนจำนวนมาก 2) อัตราค่าเช่า ตั้งแต่ 500,000-2.6 ล้านบาท/ปี ตามพื้นที่ใช้สอย มีตั้งแต่ 1-2 ตู้/วัน 3-5 ตู้/วัน ผู้เช่าจะตกลงราคาทำสัญญารายปี หรือเช่าต่อเนื่อง ไม่เกิน 3 ปี วางมัดจำ 10-20% หรือแล้วแต่ตกลงกัน ชำระค่าประกัน วงเงิน 200,000-500,000 บาท

และ 3) มาตรฐานของล้ง ตาม GMP สิ่งอำนวยความสะดวก ไฟฟ้า น้ำประปา ออฟฟิศ อาคารที่พัก แอร์ ห้องน้ำ ลานจอดรถ พร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ รถโฟร์กลิฟต์ ส่วนล้งที่ประกาศขายที่ดินพร้อมอาคารล้ง พื้นที่ 4 ไร่ ล้งขนาดใหญ่ 80×80 ม. ราคา 30 ล้านบาท ใกล้ถนนสุขุมวิท 3 กม.

Advertisment

ล้งจีนขาดทุนย้ายไปเวียดนาม

เจ้าของล้งให้เช่ารายหนึ่งใน จ.จันทบุรี และ จ.ชุมพร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงเดือนตุลาคม 2567 พบว่า มีการลงประกาศในเพจเฟซบุ๊กให้เช่าล้งทำทุเรียนส่งออกกันจำนวนมาก รวมทั้งมีประกาศขายล้งด้วย เป็นผลมาจากนายทุนจีนขาดทุนกันจำนวนมากปีนี้ โดยเฉพาะจากการทำทุเรียนจากภาคใต้ ล้งหน้าใหม่แข่งขันกันซื้อแพง แต่ผลผลิตไม่มีคุณภาพ

โดยซื้อเหมาสวนทุกเกรดราคาเดียว หรือเรียกว่า “เหมาคว่ำหนาม” เชื่อใจทีมคนรับจ้างตัดทุเรียน ซึ่งบางรายไม่เก่ง ไม่สามารถคัดเลือกคุณภาพผลผลิตทุเรียนได้ชัดเจน หรือทีมคนรับจ้างตัดบางรายเอาเงินบอกจะไปซื้อเหมา แต่ไม่มีทุเรียนมาส่ง ล้งทำแล้วไม่มีกำไร แบกรับภาระไม่ไหวขาดทุนไปตามกัน

ราคาทุเรียนตู้ละ 3-4 ล้านบาท ขาดทุนตู้ละ 500,000 บาท ขณะที่ค่าเช่าพื้นที่ทำล้งปีละ 2-3 ล้านบาท ต้องปล่อยล้งไปไม่เช่าต่อ ต่างกับล้งมืออาชีพที่ทำส่งออกมานาน มีเงินมีเครดิตเถ้าแก่จีนที่สั่งซื้อจะจ่ายเงินต่อเมื่อทุเรียนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกแล้ว

“บางล้งทำส่งออกไป 2-3 ตู้ขาดทุนทุกตู้ เถ้าแก่ปลายทางให้หยุดซื้อ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจจีนไม่ดี แม้ว่าจีนมีความต้องการสูง แต่ต้องเป็นทุเรียนคุณภาพ ที่สำคัญทุเรียนไทยมีคู่แข่งทุเรียนเวียดนามราคาถูกกว่า เถ้าแก่จีนจะย้ายล้งไปซื้อทุเรียนเวียดนามส่งออกแทน จำนวนล้งในปี 2568 จึงขึ้นอยู่กับความต้องการทุเรียนไทยจากเถ้าแก่จีน การค้าทุเรียนภาคใต้ปีนี้มีปัจจัยหลายอย่างทำให้ล้งขาดทุนกันมาก จึงไม่ต่อสัญญาเช่าล้ง”

อัดโปรฯลดค่าเช่าดึงลูกค้า

เจ้าของล้งที่ ต.เนินสูง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีล้งให้เช่า 4 ล้ง ปกติปีก่อน ๆ เดือนตุลาคมหลังฤดูกาลทุเรียนภาคใต้ จะมีติดต่อขอเช่ากันคึกคัก มีการวางมัดจำ ทำให้ล้งโก่งราคาค่าเช่ากันได้ แต่ปีนี้เดือนพฤศจิกายนแล้วยังไม่คึกคักเท่าปีก่อน บางรายมาติดต่อขอเช่า แต่ยังไม่มั่นใจ 100% ปกติตามสัญญาต้องจ่ายมัดจำทั้งหมด และถ้าเช่าแล้วยกเลิกต้องยึดเงินมัดจำ ครั้งนี้ขอชำระ 2 งวด เจ้าของล้งต้องแข่งขันกันสูง และมีการต่อรองปรับราคาลดลง

“ปี 2567 มีล้งเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 300-400 ล้ง แต่ปีนี้การขยายตัวล้งใหม่ ๆ แทบไม่มีเลย และล้งเดิมว่างจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันสูงมีการลดอัตราค่าเช่า ล้งที่จูงใจลูกค้าต้องอยู่ในทำเลที่ดี เป็นตลาดทุเรียนขนาดใหญ่ เช่น อ.ท่าใหม่ ตลาดเนินสูง รวมทั้งเป็นล้งที่ได้มาตรฐาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมทั้งสำนักงาน ที่พักคนงาน และเอกสาร GMP DOA พร้อมสำหรับการส่งออก ค่าเช่า ตร.ม.ละ 800-1,200 บาท ลดเหลือ 700-1,000 บาท” แหล่งข่าวกล่าว

ทางด้านนายหน้า ล้งให้เช่า ที่เปิดบริการในเฟซบุ๊กกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีล้งมาเสนอให้เช่ากว่า 10 ราย ปกติต้นเดือนตุลาคมจะมีการ โทร.หานายหน้าเพื่อขอข้อมูลเช่าล้ง แต่ปีนี้ยังเงียบอยู่อาจจะเป็นเพราะฤดูกาลทางใต้ยังไม่หมด ต้องรอดูเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาทราบมาว่า มีคนจีนที่เช่าบางรายค้างค่าไฟฟ้า เดือนละ 300,000-400,000 บาท