ผู้เลี้ยงหมูภาคใต้วิกฤตขาดทุนหนัก หนี้ท่วม ไม่มีเงินจ่ายค่าอาหารสัตว์ ส่งผลกระทบเป็น “โดมิโน” เอเย่นต์ขายอาหารสัตว์-โรงงานผลิตอาหารสัตว์ หนี้สูญพุ่ง เดี้ยงไปตามกัน โดยเฉพาะแหล่งเลี้ยงใหญ่ “พัทลุง-นครศรีธรรมราช” ผู้เลี้ยงสุกรผิดนัดชำระ เหตุขาดทุนสะสมตั้งแต่ ASF ระบาด หมูเถื่อน บางรายเลิกกิจการ หลายรายหันซบอกบริษัทใหญ่ทำ Contract Farming
แหล่งข่าวจากเอเย่นต์อาหารสัตว์ จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การค้าการเลี้ยงสุกรของกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ตอนนี้ค่อนข้างจะอาการหนักมาก ซึ่งหลายรายที่เป็นคู่ค้ากับเอเย่นต์อาหารสัตว์ สั่งซื้ออาหารสุกรไปแล้วไม่สามารถจะชำระเงินได้ และยังสร้างยอดสะสม
จนส่งผลกระทบที่หนักมากต่อเอเย่นต์ เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยประสบภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ในที่สุดต้องผิดนัดชำระ แต่ส่วนใหญ่วงเงินไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่เมื่อหลาย ๆ รายรวมกันทำให้เป็นวงเงินมูลหนี้ที่สูง ทำให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้เอเย่นต์ผู้ค้าอาหารสัตว์ไม่สามารถชำระคืนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตอาหารสัตว์ได้เช่นกัน
แหล่งข่าวจากเจ้าของฟาร์มสุกร จ.พัทลุง เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเผชิญกับปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ 1.โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever : ASF) ระบาด 2.การลักลอบนำเข้าหมูกล่อง หรือหมูเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาทำลายตลาดภายในประเทศทำให้ราคาสุกรตกต่ำ จนส่งผลกระทบหนักต่อกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนสะสม และยังไม่สามารถเข้ามาลงทุนใหม่ได้ ส่งผลต่อหนี้สินที่คงค้างกับคู่ค้าเอเย่นต์อาหารสัตว์เลี้ยง โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก คือ จ.นครศรีธรรมราช และพัทลุง
โดยกรมปศุสัตว์ระบุว่า จ.นครศรีธรรมราช มีเกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งหมด 4,351 ราย มีแม่พันธุ์สุกรรวม 36,816 ราย สุกรขุน รวม 245,939 ตัว และ จ.พัทลุง มีเกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งหมด 4,168 ราย มีแม่พันธุ์สุกร รวม 34,223 ราย สุกรขุน รวม 343,663 ตัว โดยผู้เลี้ยงสุกรใน จ.พัทลุง แบ่งเป็น รายย่อย รายเล็ก รายกลาง 50% และรายใหญ่ 50% ส่วน จ.นครศรีธรรมราช จะมีผู้เลี้ยงรายใหญ่ประมาณ 60% ส่วนรายย่อยรายเล็ก ประมาณ 40%
“เดิมเอเย่นต์ปล่อยเครดิตอาหารสัตว์ให้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตอนนี้ทางเอเย่นต์ได้ปรับวิธีต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หากไม่มีเงินมาใช้หนี้ เอเย่นต์จะเข้าไปดำเนินการฟาร์มสุกรแทน เพื่อบริหารจัดการให้ฟาร์มเดินหน้าต่อไปได้”
นายชธิตถ์ ภักดีบุรี เจ้าของก้าวหน้าฟาร์ม จ.พัทลุง เลขาธิการสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า การค้าและการเลี้ยงสุกรภาคใต้ สำหรับ จ.พัทลุง ผู้เลี้ยงรายย่อยรายเล็กที่พอจะพยุงธุรกิจไปได้ตอนนี้ เป็นผู้ประกอบการที่มี 2 อาชีพ โดยทำสวนยางพารา หรือสวนปาล์มน้ำมันไปด้วย ตอนนี้ยางพาราได้ราคาดี
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าเลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรหลายรายได้เลิกกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก เพราะมีปัญหาการขาดทุนสะสม ตอนนี้เหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงภาพรวมไม่เกิน 15% และมีแนวโน้มว่าจะทยอยเหลือประมาณ 5% และมีแนวโน้มว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวนหนึ่ง จะทยอยเข้าไปลงทุนในโครงการคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการขาดทุน
นายปรีชากล่าวต่อไปว่า สำหรับทางออกของกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายเล็ก และรายขนาดกลาง จะต้องหาทางรอดคือต้องรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์บริหารจัดการครบวงจร โดยนำโมเดลของบริษัทขนาดใหญ่ ตั้งแต่ฟาร์มสุกร โรงงานผลิตอาหาร โรงฆ่า การตลาด เอเย่นต์ จุดจำหน่าย และเขียงสุกร และอีกประการจะต้องควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ
นายปรีชากล่าวอีกว่า สำหรับราคาสุกรในปัจจุบันเคลื่อนไหวภาพรวมทั้งประเทศที่ราคา 72-74 บาท/กก. ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราคา 80 บาท/กก. และราคาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับนี้มาแล้วประมาณ 4 เดือน ซึ่งยังผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงขาดทุนลดลง และวันนี้ก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญ คือกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนตัว
นายสำรอง รักชุม ประธานกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท โชคสุขโภคภัณฑ์ฟาร์มหมู จำกัด จ.พัทลุง กล่าวว่า กลุ่มร้านอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบต่อสถานการณ์ที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไม่สามารถชำระหนี้ค่าอาหารสัตว์คืนได้ เพราะผู้เลี้ยงได้ประสบภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่เกิดโรค ASF ตลอดจนประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูกล่องจากต่างประเทศที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
ซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนมากทำให้ขาดสภาพคล่องไม่มีเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากสถาบันการเงินทุกแห่งไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ทั้งที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน
“ดังนั้น ประเด็นสำคัญทางรัฐบาลจะต้องมีนโยบายและจะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการประกอบอาชีพปศุสัตว์ โดยให้สถาบันการเงินมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มปศุสัตว์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น หาไม่แล้วทางกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และกลุ่มร้านค้า เอเย่นต์อาหารสัตว์ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จะต้องปิดตัวลงชั่วคราวอีกจำนวนมาก จะไม่ต่ำกว่า 30% ในอนาคตนี้ิ”
นายสำรองกล่าวอีกว่า อาชีพปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพ เพื่อให้อาชีพยืนอยู่ได้ รัฐบาลต้องมีนโยบายเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรได้มีงานทำ สร้างรายได้