หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคเหนือผ่านพ้น และเดินทางเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) อากาศที่เริ่มหนาวเย็นทำให้ภาคเหนือเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทาง ขณะที่เส้นทางท่องเที่ยวสายศรัทธา หรือสายมูของภาคเหนือ ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง Magnet ที่นักท่องเที่ยวปักหมุดอยู่ในแผนการเดินทางในช่วงไฮซีซั่นนี้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม “เหนือพร้อม…เที่ยว” โดยนำผู้ประกอบการด้านการนำเที่ยวจาก 4 ภูมิภาค (ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคอีสาน) จัดกิจกรรม Table Top Sales ร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมประกาศศักยภาพความพร้อมที่จะเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยว-นักเดินทางจาก 4 ภูมิภาค สร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคในระยะต่อไป
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งท่องเที่ยวและสถานประกอบการต่าง ๆ ในภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เดินทางมาชื่นชมความงดงามของธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือในช่วงฤดูหนาวนี้
ททท. ได้นำผู้ประกอบการและสื่อมวลชน ร่วมอัพเดตสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว และเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด ที่ จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ พร้อมการคิกออฟแคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง” เพื่อเดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ภาคเหนือกว่า 22.13 ล้านคน และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวกว่า 164,106 ล้านบาท
นครสวรรค์-พิจิตร ชูเที่ยวสายมู
นางสาวสุชารัตน์ แสงอรุณ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครสวรรค์-พิจิตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับจังหวัดพิจิตร มีเส้นทางสายศรัทธาหรือสายมู อาทิ วัดท่าหลวง วัดโพธิ์ประทับช้าง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติคือ บึงสีไฟ ที่มีทางจักรยานและเส้นทางออกกำลังกาย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักปั่นจักรยานและนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงจังหวัดนครสวรรค์ที่เป็นประตูสู่ภาคเหนือ เพราะต้องเดินทางข้ามสะพานเดชาติวงศ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ภาคเหนือ ทำให้จังหวัดนครสวรรค์ได้มีการปรับยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว เพื่อดึงศักยภาพของโปรดักต์การท่องเที่ยวที่มีอยู่เป็นจุดขาย ให้นักเดินทาง-นักท่องเที่ยวแวะพักนครสวรรค์ให้นานขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวสายมูและสายศรัทธา อาทิ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-ศาลเจ้าแม่ทับทิม พระจุฬามหาเจดีย์ วัดคีรีวงศ์ วัดวรนาถบรรพต (วัดเขากบ) เป็นต้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรเกจิดังของนครสวรรค์ เมื่อขอพรแล้วสมหวัง ก็จะกลับมาแก้บน นอกจากนี้ นครสวรรค์ยังมีไฮไลต์อื่น ๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทุกปี คือ ประเพณีแห่เจ้าในช่วงตรุษจีน โดยในปี 2568 จะจัดช่วงวันที่ 22 มกราคม-2 กุมภาพันธ์
รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ อย่างบึงบอระเพ็ด พาสาน (อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา) เมืองโบราณจันเสน เป็นต้น
โดยคาดว่าปีนี้จังหวัดนครสวรรค์จะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 2,200,000 คน รายได้การท่องเที่ยวคาดว่ามากกว่า 6,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีโรงแรม-ที่พักกว่า 4,700 ห้อง ขณะที่จังหวัดพิจิตรคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 900,000 คน รายได้การท่องเที่ยวคาดว่าอยู่ที่ราว 1,900 ล้านบาท มีโรงแรม-ที่พักจำนวนกว่า 1,900 ห้อง นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายัง 2 จังหวัด เป็นคนไทยมากถึง 99%
เชียงใหม่ชูอากาศหนาว-ประเพณี
นางพัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า อากาศที่หนาวเย็นในช่วงไฮซีซั่นปีนี้คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสายมู และประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นไฮไลต์ คือ เทศกาลยี่เป็ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้อัตราการจองห้องพักในช่วงไตรมาส 4 สูงถึง 80% ซึ่ง ททท.เตรียมเปิดกิจกรรม Winter Festival 6 กิจกรรมในช่วงฤดูหนาวนี้ ทั้งงานอาหาร งานแคมปิ้ง ฯลฯ
นางสาววารุณี คำเมรุ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ได้นำเสนอขายหลายโปรดักต์ อาทิ อาหารพื้นถิ่น อาหารมิชลิน อาหารนานาชาติ เส้นทางท่องเที่ยวสายมู และประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งค่อนข้างตอบโจทย์ตลาดนักท่องเที่ยวทั้ง 4 ภูมิภาค ที่ต้องการเดินทางมาสัมผัสอากาศหนาวและสัมผัสกับประเพณีวัฒนธรรม วัดและเส้นทางสายมู ด้วยแพ็กเกจทัวร์และโปรโมชั่นพิเศษ
ชวนคนใต้แอ่วเหนือดูแม่คะนิ้ง
นางสาววัจนันท์ ศิลปวรณ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การท่องเที่ยวข้ามภาคจากภาคใต้เข้าสู่ภาคเหนือมีโอกาสทางการตลาดอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการด้านธุรกิจนำเที่ยวจากภาคใต้ที่เดินทางมาร่วมเจรจา ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่มีเส้นทางบินตรงจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ ทั้งสุราษฎร์ธานี สมุย สงขลา หาดใหญ่ กระบี่ และภูเก็ต ทำให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้ง่าย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นฮับทางการบิน ที่จะกระจายนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดอื่นในภาคเหนือได้
รวมถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภาคใต้ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของภาคเหนือ โดยในช่วงไฮซีซั่นที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นจุดไฮไลต์ ทำให้นักท่องเที่ยวภาคใต้อยากเดินทางมาสัมผัส ดูแม่คะนิ้ง ซึ่งเชื่อว่าโปรดักต์การท่องเที่ยวของภาคเหนือจะตอบโจทย์ดีมานด์ตลาดภาคใต้อย่างแน่นอน
ตะวันออกเน้นเที่ยวสายมู
นายวัชรพล สารสอน ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง กล่าวว่า จากสภาพอากาศของภาคเหนือที่เริ่มหนาว และโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ขณะนี้ผู้ประกอบการด้านการนำเที่ยวในจังหวัดระยอง 3 บริษัท ได้เริ่มมีการเจรจากับผู้ประกอบการเชียงรายและเชียงใหม่แล้วส่วนหนึ่ง ทั้งเรื่องที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร และรถตู้รับส่งนักท่องเที่ยวแล้ว โดยกำหนดวันคร่าว ๆ ราวกลางเดือนพฤศจิกายนนี้
สิ่งที่นักท่องเที่ยวภาคตะวันออกชื่นชอบอย่างมาก คือ อาหารเหนือและเมืองที่มีอัตลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัดสำคัญของจังหวัดเชียงราย เช่น วัดร่องเสือเต้น (วัดสีน้ำเงิน) และวัดร่องขุ่น เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสายมูที่โดดเด่นมาก อาทิ วัดป่าดาราภิรมย์ นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ไหว้พระขอพร นอกจากนี้สามารถเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่นในภาคเหนือได้ เช่น จังหวัดน่าน ลำปาง ที่เป็นเส้นทางไหว้พระประจำวันเกิด
ทำให้ภาคเหนือเป็น Destination ที่ภาคตะวันออกจะเดินทางมาเที่ยวในฤดูหนาว และเมื่อสิ้นสุดหน้าหนาวก็จะนำนักท่องเที่ยวภาคเหนือไปเที่ยวทะเล เป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป