กระแส “ทุเรียน” ฟีเวอร์ THAIFEX พรทิพย์ภูเก็ตโชว์ “ซุป-ชาบูหม้อไฟทุเรียน”

แรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่กับกระแส “ทุเรียน” ฟีเวอร์หรือราชาผลไม้ไทย (king of fruit) ที่ปีนี้ยอดส่งออกพุ่งถล่มทลายไปไกลเกินกว่าจะเป็นผลไม้ธรรมดา ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านอาหารจากจังหวัดต่าง ๆ พยายามต่อยอดรังสรรค์เมนูจากทุเรียนธรรมดา มาแปรรูปเสริมเติมแต่งประยุกต์กันไปหลากหลายเมนู ไม่ต่างกันกับแฟชั่น ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในงาน “ไทยเฟกซ์” THAIFEX-World of Food Asia 2018 มีสินค้าจากทุเรียนหลากหลายรูปแบบ ทั้งข้าวเหนียวทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนทอดกรอบ ฯลฯ มาแข่งขันกันในตลาดเอาใจคนรักทุเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เด็ดสุดและไม่เหมือนใคร

“วิรวัฒน์ เปี่ยมวิวัตติกุล” ประธานบริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าผลไม้แปรรูปจากจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้โดยใช้ชื่อแบรนด์ “โอต๊ะ” เป็นสินค้าส่งออก โดยปี 2561 ได้เน้นแปรรูปทุเรียนเป็นหลัก โดยเฉพาะเมนู “ซุปทุเรียน” ซึ่งได้นำมาเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน THAIFEX และถือเป็นเจ้าแรกที่ได้นำนวัตกรรมแปรรูปทุเรียนให้เป็น “ซุปทุเรียนหม้อไฟ” ให้ความรู้สึกเป็นได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน คล้ายกับซุปฟักทองหรือซุปข้าวโพด ที่สามารถเติมผัก เติมกุ้ง และเนื้อสัตว์ได้

“กลุ่มเป้าหมายเมนูซุปทุเรียนคือกลุ่มคนรักทุเรียน เมื่อแรกเริ่มแปรรูปเป็นทุเรียนฟรีซดราย ทุเรียนอบแห้ง และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้เปิดตัว “กาแฟปรุงสำเร็จผสมทุเรียนหมอนทอง” มาในปีนี้มีซุปทุเรียน และ “กาแฟปรุงสำเร็จรสต้มยำ” โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปตลาดจีน และมีกลุ่มนักท่องเที่ยวบางส่วนจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง นอกจากนี้มีร้านอาหาชาบูในประเทศไทย ติดต่อเข้ามาเพื่อจะนำซุปทุเรียนไปทำเป็น “ชาบูหม้อไฟทุเรียน” แล้ว

ในปีนี้ได้ใช้ทุเรียนในการแปรรูปกว่า 600 ตันต่อปี ตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณขึ้น 100% เป็น 1,200 ตันต่อปี โดยการซื้อทุเรียนฟรีซดรายกับซัพพลายเออร์ในราคาประมาณ 1,300 บาทต่อกิโลกรัม ภายใต้คุณภาพตามที่กำหนดไว้ แต่ราคาทุเรียนแพงขึ้นประมาณ 15-20% เพราะอาลีบาบาเข้ามาซื้อทุเรียนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก มีผลทำให้ราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้น เพราะคนจีนแห่มาซื้อเป็นจำนวนมาก”

ด้านกลยุทธ์ทางการตลาด “วิรวัฒน์” บอกว่า แบรนด์โอต๊ะขายความเป็นตัวตน ทำสินค้าเพื่อแปรรูปส่งออกให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กระบวนการแปรรูปและขั้นตอนการผลิตต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ต้องเติบโตเท่าไหร่ ที่สำคัญคือความเป็นเอสเอ็มอี ที่ต้องดูกลไกตลาดด้วยว่าจะตอบรับอย่างไร เพราะเศรษฐกิจของทั้งไทยและต่างประเทศล้วนแปรผันตลอด

ขณะเดียวกันบริษัทแม้มีแผนจะแตกไลน์เพิ่ม แต่อยู่ระหว่างดูสถานการณ์ และเป้าหมายในปีนี้ หากสามารถเดินได้ตามเป้าหมายเกิน 70% จะดำเนินตามแผนต่อ ซึ่งในปีนี้สินค้าชูโรง คือซุปทุเรียนกับกาแฟต้มยำ เฉพาะในส่วนทุเรียนเป็นตลาดต่างชาติ 70% คนไทย 30% ในเรื่องผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เป็นสัดส่วนการตลาดจะเป็นต่างชาติ 50% คนไทย 50% แต่ธรรมชาติของคนเบื่อเร็ว ชอบความใหม่ตลอดเวลา ฉะนั้นอาหารคือแฟชั่น ใน 1 ปีบริษัทจะต้องมีสินค้าใหม่ออกมา 4-5 ชนิด ตัวเดิมต้องมีการปรับปรุงทั้งบรรจุภัณฑ์และรสชาติ ตัวไหนไปได้ดีจะสนับสนุนต่อเนื่อง ตัวไหนไปไม่ได้ก็ปรับปรุง หรือไม่ก็หยุดผลิตไป

ทั้งนี้ แบรนด์โอต๊ะมีร้านค้าอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเพื่อจัดจำหน่ายสินค้า มีสาขากระจายอยู่ตามห้างประมาณ 4-5 แห่ง เช่น จังซีลอนภูเก็ต โรงแรมป่าตอง เป็นต้น ส่งขายให้เอ็มโพเรียมเดอะมอลล์ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และเตรียมจะขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมในกรุงเทพฯและพัทยา แต่เป็นคีออสก์ช็อป ภายในปีนี้น่าจะมีที่เทอร์มินอล 21 พัทยา และตามแหล่งท่องเที่ยว ขณะเดียวกันมีพาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจอยู่แล้วหลายราย เช่น เถ้าแก่น้อย อาฟเตอร์ยู คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2 ล้านบาทต่อร้าน ที่เน้นมากที่สุดคือ การค้าส่ง

นอกจากนี้ยังมีตลาดส่งออกไปยังลูกค้าในประเทศจีนและสิงคโปร์ รวมไปถึงมีแผนที่จะตีตลาดอินโดนีเซียต่อไป โดยไม่ได้ผูกขาดกับสินค้าเพียงตัวเดียว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทมียอดรายได้รวมประมาณ 80 ล้านบาท คาดว่าปีนี้รายได้จะทะลุ 100 ล้านบาท

“ในส่วนของร้านขายของฝากวันนี้เราทรงตัว เพราะในกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งเป็นตลาดหลัก ตลาดขาจร และตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เกาหลี โดยตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง ตลาดจะทรง ๆ สำหรับตลาดจีนเราจะดรอป เพราะผู้ทำธุรกิจทัวร์จีน มีร้านเป็นของตัวเองครบวงจร ซึ่งเราจะไม่สามารถไปแย่งลูกค้ามาได้ นอกจากลูกค้าวอล์กอินและลูกค้าที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเอง (FIT) แต่เรื่องตลาดส่งออก พยายามทำอะไรที่จดจำได้ง่าย แต่ยังคงใช้เป็นแบรนด์ “ORTA by Pornthip” อยู่ เพื่อให้รู้ว่ามาจากท้องถิ่น มาจากเอสเอ็มอี อยู่ที่แนวคิด วิธีคิด และโอกาส ถ้าเป็นค้าส่งจะอยู่ภายใต้บริษัท พรทิพย์ พรีเมี่ยม จำกัด ถ้าเป็นการผลิตอยู่ภายใต้บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด”


นอกจากนี้การขายสินค้าจะส่งไปตามกลุ่มร้านค้า มีกลุ่มของเซเว่นอีเลฟเว่นที่เป็นทุเรียนฟรีซดราย กลุ่มของบิ๊กซีเป็นทุเรียนฟรีซดรายกับทุเรียนแห้ง และกลุ่มของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่มทุเรียน ผลไม้แปรรูป และปลาข้าวสารแปรรูป และกลุ่มแฟมิลี่มาร์ท เป็นผลไม้อบแห้ง ร้านดอยคำจะเป็นปลาข้าวสารแปรรูป และกลุ่มโกลเด้นเพลส เป็นปลาข้าวสารแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูป ทิฟฟี่ทุกสาขา เป็นน้ำพริก ปลาข้าวสาร เป็นต้น คาดว่าร้านขายของฝากตั้งเป้าขยายตัวไม่เกิน 2 สาขา/ปี เพื่อเปิดสาขาให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกันมากขึ้น