สิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ ภัยพิบัติที่ต้องเร่งแก้ไข

สิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ ภัยพิบัติที่ต้องเร่งแก้ไข
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติใหญ่ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และกรณีเหตุดินโคลนถล่มบริเวณ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ได้มีโอกาสไปคุยกับ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ทราบว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ตอกย้ำด้วยหนังสือธรณีภัย ซึ่ง อ.สุทธิศักดิ์ได้เก็บรวบรวมข้อมูล และแบกกล้องไปถ่ายภาพเก็บไว้ด้วยตัวเอง ในลักษณะสารคดีภาพ วิศวกรรมปฐพี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภัยดินถล่ม แผ่นดินไหว การพิบัติของฐานราก ฯลฯ อย่างชัดเจน ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงได้แนะนำป้องกันธรณีภัย ซึ่งผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างข้อมูลบางส่วนของ อ.สุทธิศักดิ์มาเป็นกรณีตัวอย่างให้ได้ทราบกัน

ตัวอย่างหนึ่ง ได้เกิดฝนตกหนัก ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มบริเวณบ้านผามูบ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549

อีกตัวอย่าง การเกิดฝนตกหนักเกินปกติ จนทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่มที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 พลังของน้ำได้ขยายร่องน้ำเดิมให้กว้างออก พร้อมกวาดดิน หินตามร่องน้ำ รวมทั้งต้นไม้ลงมาตามความชัน ทำให้เกิดพลังทำลายล้างมหาศาล ถ้ามีชุมชนขวางร่องน้ำจะเสียหายมาก

อ.สุทธิศักดิ์บอกว่า กรณีภัยพิบัติ เกิดจาก 2 ประการ คือ

1.ตัวเราไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายหรือไม่ เช่น อ.แม่สาย กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

ADVERTISMENT

2.เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เรามีการจัดการที่เข้มแข็งหรือเปราะบาง เช่น การไม่คาดการณ์ต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ที่ จ.ภูเก็ต การอยู่พื้นที่ล่อแหลม การสร้างอาคารพื้นที่ตีนเขาและบนภูเขา

อ.สุทธิศักดิ์เป็นคนแรกที่ “ฟันธงให้ย้าย อ.แม่สาย” เพราะถือเป็นพื้นที่ล่อแหลม เป็นพื้นที่ปากตะกอน รูปพัด จึงแนะนำว่าค่อย ๆ ย้ายเมือง ถึงใช้เวลา 10 ปีก็ต้องทำ โดยมีแผนแม่บทในการจัดการ มีการจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้แต่ละคนอย่างเหมาะสม

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ อ.สุทธิศักดิ์ยังบอกว่า จริง ๆ แล้วเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯก็อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเวียงกุมกาม เชียงใหม่ ก็ต้องย้ายทั้งเมือง เพราะน้ำเปลี่ยนทิศ แต่อาจเป็นไปได้ยาก เพราะไปสร้างเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ

รวมถึงการย้าย “เมืองภูเก็ต” ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก ด้วยการที่จังหวัดภูเก็ตพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ตีนเขาน้อย ไม่เพียงพอต่อการย้าย ดังนั้นจึงต้องหันมาป้องกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการระบบระบายน้ำ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องเสริมเรื่องระบบโครงสร้างทางวิศวกรรม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบ และต้องซ้อมแผนการอพยพ

ล่าสุดได้ข่าวว่า รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประชุมเพื่อจัดเตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มจังหวัดเชียงราย เป็นมาตรการเชิงโครงสร้าง เพื่อลดขนาดความรุนแรงของน้ำท่วม การวางผังเมือง การควบคุมสิ่งปลูกสร้างและการขยายเมือง โดยเฉพาะ “การเวนคืนที่ดินและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบริเวณทางน้ำท่วม”

แม้จะเป็นก้าวแรก แต่ดีกว่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากในปีต่อ ๆ ไป