หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ข้อมูลตรงกันว่า “กาแฟเมืองเลย มีคุณภาพดีไม่แพ้กาแฟทางภาคเหนือ เนื่องจากภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้งอยู่แนวเดียวกับเส้นศูนย์สูตร ซึ่งตรงกับทางทวีปอเมริกาใต้” นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้วันนี้กาแฟเมืองเลย ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ในภาคอีสาน ความต้องการกาแฟเมืองเลยพุ่ง จนเกษตรกรต้องเร่งขยายพื้นที่ปลูก และกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด
โดยมีการส่งเสริมการปลูกและแปรรูปกาแฟอย่างครบวงจร ขณะนี้มีเนื้อที่ปลูกทั้งหมด 2,200 ไร่ เพื่อตอบสนองความต้องการผลผลิตกาแฟภายในประเทศไทยที่มีสูงมาก โดยปี 2566 ประเทศไทยมีผลผลิตเมล็ดกาแฟเพียง 16,575 ตัน และต้องนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมากกว่า 70,000 ตัน/ปี
กาแฟเลยรสดีไม่แพ้เหนือ
นายฉลอง อินทนนท์ เกษตรจังหวัดเลย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผ่านมาแล้วกว่า 7 ปี ที่เกษตรจังหวัดเลยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟ เป็นพืชป่าที่ให้มูลค่าสูงผสมผสานกับพืชหลักของเกษตรกร ในปีนี้มีความมุ่งมั่นที่จะขยายพื้นที่ปลูกให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด
ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียว พร้อมส่งเสริมเกษตรกรนำแปลงเข้ารับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) เพื่อจะขายเมล็ดกาแฟได้ราคาสูงกว่าราคาตลาด หลังปี 2566 มีผลผลิตรวมกว่า 170 ตัน ทำให้กาแฟเมืองเลยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสานทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ
ปัจจุบันจังหวัดเลยมีพื้นที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในภาคอีสาน ในปีที่ผ่านมามีผู้ปลูกกาแฟประมาณ 2,600 กว่าครัวเรือน มีเนื้อที่ปลูก 2,200 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 170 ตัน มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 บาท/ไร่ โดยมีการปลูกทั้ง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.โรบัสต้า ประมาณ 1,700 ไร่ ให้ผลผลิต 150 ตัน นิยมปลูกที่ อ.นาด้วง อ.ปากชม เน้นส่งโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 90% ของพื้นที่ มีราคารับซื้อเมล็ดแห้ง 80 บาท/กก.
2.สายพันธุ์อราบิก้า 500 ไร่ ให้ผลผลิต 20 ตัน เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่สูง 600-700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ต้องการอากาศเย็น มีความชื้นและน้ำค้างทั้งปี ได้แก่ อ.นาแห้ว อ.ด่านซ้าย อ.ภูเรือ จะเน้นการบริโภคภายในชุมชน เนื่องจากคุณภาพและปริมาณยังไม่คงที่
กาแฟสร้างอาชีพ ผ่านมากว่า 5-6 ปีแล้ว ที่เกษตรจังหวัดได้สนับสนุนเกษตรกรให้หันมาปลูกกาแฟเป็นพืชเสริม จนกลายเป็นอาชีพหลักให้กับเกษตรกรบางราย ด้วยคุณภาพที่บริษัทผู้รับซื้อรายใหญ่ระดับประเทศ ยืนยันว่ากาแฟเมืองเลยมีคุณภาพดีไม่แพ้กาแฟที่ปลูกในภาคเหนือ
เนื่องจากจังหวัดเลยอยู่แนวเดียวกับเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะตรงกับทางทวีปอเมริกาใต้ ทำให้อากาศที่ไม่แล้งจัด ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกกาแฟ ซึ่งถ้าหากปีหน้าปริมาณฝนมากขึ้น จะทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟออกมากขึ้น
นายฉลองกล่าวต่อไปว่า ปีนี้ทางเกษตรจังหวัดเลยมีแผนต้องการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้า (ชุมพร 84-4) โดยมุ่งไปที่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยมีความตั้งใจผลักดันให้ผู้ปลูกกาแฟอีก 1,000 ไร่ เข้ารับการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้งหมด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่สูงขึ้น มีการเปิดอบรมการแปรรูปกาแฟ พร้อมเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตในจังหวัด เพื่อพัฒนาคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กาแฟเมืองเลย
ผนึก 14 อ.ตั้งคลัสเตอร์กาแฟเลย
ในขณะที่นายณัฏฐภัทร์ แดงรักษา ผู้ปลูกและแปรรูปกาแฟภูทับช้าง ต.ห้วยบ่อซืน อ.ปากชม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้พัฒนากาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามากว่า 7 ปี บนพื้นที่ 40 ไร่ กำลังพัฒนาสายพันธุ์อราบิก้าอีก 1 ไร่ มุ่งส่งประกวดเพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ได้เปิดพื้นที่เป็นลานกางเต็นท์ แหล่งเรียนรู้แบบครบวงจร
ขณะเดียวกันตั้งใจพัฒนากาแฟเมืองเลยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น จึงได้รวมผู้ปลูกครอบคลุมในพื้นที่ 14 อำเภอของจังหวัดเลย ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ตั้ง “กลุ่มคลัสเตอร์กาแฟจังหวัดเลย” ขึ้น โดยมีตนเป็นประธาน เพื่อหลีกเลี่ยงพ่อค้าคนกลางเข้าสู่ระบบ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 325 ราย
ปัจจุบันราคาเมล็ดกาแฟดิบโรบัสต้า แบ่งออกเป็น 3 เกรด ได้แก่ Commercial Grade ราคา 150 บาท/กก., ส่วน Premium Grade ราคา 200-300 บาท/กก., Specialty Grade ราคา 500-1,000 บาท/กก. จะเป็นเกรดสำหรับส่งโรงคั่ว โดยราคาทั้ง 2 สายพันธุ์จะขึ้นอยู่กับการตกลงขายระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายในแต่ละลอต สุดท้ายเหลือเกรด Y เป็นตกเกรด จะรวมส่งให้กับโรงงานผลิตโอเลี้ยง
“ปัจจุบันมีทั้งกาแฟดิบ กาแฟคั่ว กาแฟดริป กาแฟแคปซูล มีให้ลูกค้าเลือกบริโภคเพิ่มขึ้น อีก 2 ปีข้างหน้าจะมุ่งเน้นการแปรรูป-ขายกาแฟเอง จาก 50% เพิ่มเป็น 80-200% โดยเฉพาะเกรด Premium-Specialty เพราะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด เน้นลูกค้าไม่เกี่ยงเรื่องราคา ขอแค่รสชาติโดนใจที่ลูกค้าต้องการ” นายณัฏฐภัทร์กล่าว
ล่าสุดได้รับรางวัลที่ 8 การประกวดสุดยอดกาแฟไทยสายพันธุ์โรบัสต้า ได้ใบรับรอง Q Grader จากสถาบันเพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟ (Coffee Quality Institute : CQI) และได้รางวัลที่ 5 การประกวดแปลงมาตรฐาน GAP โดยเน้นการออกบูทไปกับหน่วยงานราชการ ทำให้มีฐานลูกค้าเป็นร้านกาแฟสดในกรุงเทพฯกว่า 90% จึงมั่นใจว่ากาแฟภูทับช้างเป็นกาแฟที่มีคุณภาพ
นายณัฏฐภัทร์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันโรงคั่วที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐมีเพียง 1 แห่งที่ อ.นาด้วง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ทั้งจังหวัด แต่ยังมีโรงคั่วที่เป็นสมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์ ทำให้สามารถจ้างคั่วได้ในราคา 80 บาท/กก. ซึ่งถือว่าถูกกว่าเมื่อเทียบกับที่อื่น 100-200 บาท/กก.
“กาแฟเปรียบเสมือนเงินก้อนปลายปี ผมพยายามบอกเกษตรกรว่า กาแฟจะไม่ใช่พืชที่มีมูลค่าสูงตลอด วันหนึ่งตลาดอาจจะเปลี่ยน แต่เราก็จะยังมีพืชชนิดอื่นสำรองให้มีรายได้หมุนเวียน เพราะระบบเกษตรไม่มีความแน่นอน เราจึงต้องป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง”
ช้างหินสี คว้าสุดยอดกาแฟไทย
ขณะที่นางไมตรี นาคอก เจ้าของไร่กาแฟห้วยขุมทอง บ้านหนองแคน ต.นาด้วง อ.นาด้วง จ.เลย เจ้าของแบรนด์ “กาแฟช้างหินสี” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้จะเป็นเพียงสวนเล็ก ๆ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3 ตันต่อปี แต่ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทำให้สามารถคว้าถ้วยรางวัลแรกได้สำเร็จ จากการประกวดการปฏิบัติทางเกษตรที่ดีสำหรับสวนกาแฟเพื่อความยั่งยืน ตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู (GAP & Regenerative) โครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2567 ที่มีผู้เข้าร่วมประกวดมากกว่า 10 รายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เริ่มปลูกกาแฟตั้งแต่ปี 2559 มี 2 สายพันธุ์ โรบัสต้าและอราบิก้า เน้นส่งโรงงานแปรรูปกว่า 70% ราคา 2 สายพันธุ์เฉลี่ย 125 บาท/กก. ส่วนที่เหลืออีก 30% คือ Premium Grade นำมาคั่วขายเอง
โดยโรบัสต้าราคา 250 บาท/กก. อราบิก้า 350 บาท/กก. ซึ่งในปีนี้ความต้องการกาแฟในตลาดดีขึ้น จึงตั้งใจหันมาพัฒนาด้านการเป็นผู้ประกอบการ คาดว่าในปีนี้อาจจะลดปริมาณการส่งโรงงานแปรรูปลง
“เราจะเริ่มลดปริมาณผลผลิตส่งโรงงาน แล้วมาเริ่มแปรรูปมากขึ้น พัฒนาช่องทางการขายออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ เตรียมสร้างโปรดักต์ใหม่ ‘กาแฟคุมหิว’ จากต้นบุกธรรมชาติ พัฒนาไร่กาแฟห้วยขุมทอง ให้เป็นลานกางเต็นท์ รองรับผู้ที่สนใจเที่ยวชม สร้างกิจกรรมคั่ว-ดริปกาแฟ ชมบรรยากาศ สาธิตวิธีการปลูกกาแฟ พร้อมทั้งพัฒนาไร่กาแฟ ต.โคกงาม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เตรียมพร้อมจดทะเบียนเป็น ‘วิสาหกิจบ้านฝาง’ ผู้ปลูกและผู้แปรรูปกาแฟ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ราบ”