ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 42 ที่ จ.ชลบุรี หอการค้า 5 ภาคได้รวบรวมปัญหานำไปบรรจุใน “สมุดปกขาว” เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล โดยมุ่งหวังให้ GDP ปี 2568 เติบโต 3%
กลางชูฮับโลจิสติกส์-เวลเนส
หอการค้าภาคกลาง กําหนดวิสัยทัศน์ ยกระดับอุตสาหกรรมทุกมิติโดยเชื่อมโยงกับ Food Valley หรือ Innovation Hub เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Hub and Wellness)
ด้านการค้า การลงทุน ค้าชายแดน ต้องการให้จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว โดยเปิดให้ขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลา เพื่อลดความแออัด และลดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ, การจัดการผังเมือง และการขยายตัวของเมือง
ด้านเกษตรและอาหาร ขอให้สนับสนุนกิจกรรมและเทศกาลสําคัญ อาทิ โครงการนครปฐมเมืองอาหารปลอดภัย, โครงการสมุทรปราการเปิดประตูสู่ฮาลาลไทย, โครงการ PIGGY World ดินแดนหมู จ.ราชบุรี และโครงการ HUB OF SEAFOOD การพัฒนาและขับเคลื่อนจังหวัดสมุทรสาคร
ด้านท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ สนับสนุนโครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ 3 เส้นทาง (ทวารวดี-ละโว้-อยุธยา) และการจัดงานมหกรรมเจ้าพระยา-ป่าสัก EXPO
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ศึกษาเส้นทางรถไฟสายใหม่ ช่วงกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี-ชุมทางบ้านภาชี, และการตรวจประเมินสนามบินหัวหิน ฯลฯ
ด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก จ.ชัยนาท และโครงการ Saraburi Low CarbonCity/SAFEHub
ตะวันออกเมืองนวัตกรรม
หอการค้าภาคตะวันออก กําหนดวิสัยทัศน์ เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก และเร่งยกระดับสินค้าเกษตร และอาหารปลอดภัยที่มีมูลค่าสูง มุ่งเป้าเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวคุณภาพสูง
ด้านการค้า การลงทุน ผลักดันให้เพิ่ม จ.ปราจีนบุรี เป็นจังหวัดใน EEC
ด้านเกษตรและอาหาร ได้แก่ ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยในตลาดโลก, ผลักดันจัดตั้ง “สถาบันผลไม้เมืองร้อนไทย”
ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ ยกระดับสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง, ส่งเสริมกีฬาเรือใบให้เป็นกีฬาทางน้ำระดับนานาชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟในจังหวัดปราจีนบุรี
ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใน EEC ให้เป็นไปตามแผน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3, การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ด้านการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก เร่งรัดก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนใน EEC
เหนือชูเกษตรมูลค่าสูง
หอการค้าภาคเหนือกําหนดวิสัยทัศน์ ส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมุ่งสู่ความเป็นสากล ส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว และพัฒนาสินค้าภาคเกษตรให้มีมูลค่าสูง บริหารจัดการภัยพิบัติแบบเบ็ดเสร็จ ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระยะยาว
ด้านการค้า การลงทุน ค้าชายแดน ได้แก่ ปรับระเบียบการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ), เร่งรัดออก พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ และพัฒนาด่านการค้าให้เป็นสากล ปรับปรุงเส้นทางคมนาคม เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน
ด้านเกษตรและอาหาร ได้แก่ ส่งเสริมภาษีสําหรับผลิตภัณฑ์สีเขียว, ปรับปรุงกฎหมาย ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง พร้อมเร่งฟื้นฟูการเกษตร โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และเทคโนโลยี
ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ เร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ, ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวิถีชุมชน, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปรับภูมิทัศน์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ด้วยระบบ Cross-docking และพัฒนาเส้นทางนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) เชื่อมโยงกับเส้นทาง MR4 ตาก (ด่านแม่สอด)-นครพนม (ด่านนครพนม)
ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ โดยมีแผนแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับทั้งฤดูน้ำหลากและน้ำแล้ง รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ ช่วยเหลือและป้องกันทุกระดับ
เร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยตรา พ.ร.บ.อากาศสะอาด
อีสานดัน NeEC-Bio
หอการค้าภาคอีสาน กําหนดวิสัยทัศน์ “การบริหารจัดการน้ำสําหรับการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรม ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประตูเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (Wellness Tourism and Medical Hub)”
ด้านการค้า การลงทุน การค้าชายแดน ผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC-Bio Economy) ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เพื่อเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่
ด้านเกษตรและอาหาร ผลักดันสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมโคเนื้อครบวงจร นครชัยบุรินทร์ และอีสานใต้ โดยสร้างห้องตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน และอบรมอาชีพผู้ตัดแต่งเนื้อ ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง ฯลฯ ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ เร่งเตรียมความพร้อมจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี, ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก สปป.ลาวเข้ามาไทย โดยใช้รถไฟลาว-จีน โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่ากลับเข้าลาว, ส่งเสริมการถ่ายทําภาพยนตร์ต่างชาติในไทย และผลักดันเส้นทางท่องเที่ยวสายมู 5 จังหวัด
ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ได้แก่ เร่งรัดก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ 4 ช่องจราจร (อุดรธานี-บึงกาฬ) เชื่อมโยงถนนมิตรภาพ-ทางหลวงหมายเลข 222, แก้ปัญหาการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา, เร่งรัดก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และเร่งรัดก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน)
ด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ เร่งรัดก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นและระดับลึก, ผลักดันโครงการเติมน้ำใต้ดินให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยดำเนินการตลอดพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล
ใต้ชูท่องเที่ยวคุณภาพ
หอการค้าภาคใต้ กําหนดวิสัยทัศน์ “เมืองเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวคุณภาพ อาหารและผลผลิตทางการเกษตร นวัตกรรมมูลค่าสูง เชื่อมต่อเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างมีคุณภาพชีวิตและยั่งยืน”
ด้านการค้า การลงทุน การค้าชายแดน ได้แก่ เสนอให้เพิ่มพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ครอบคลุม จ.สงขลา, การจัดตั้งศูนย์บริการส่งออกสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ พร้อม Lab รับรองคุณภาพและออกใบรับรองสินค้าเกษตร (One Stop Export Center), ส่งเสริมการพัฒนา Smart City จ.สุราษฎร์ธานีและภูเก็ต, ผลักดันการขนส่งทางน้ำ ระนอง-เมียนมา และเร่งรัดเมืองต้นแบบ อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา
ด้านเกษตรและอาหาร ได้แก่ ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อใน จ.นครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาส ยะลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา, ส่งเสริม Suratthani Herbal City และส่งเสริมโครงการแพะแปลงใหญ่ จ.กระบี่
ด้านท่องเที่ยวและบริการ ส่งเสริม Wellness Tourism เมืองสปา จ.กระบี่ และ จ.ระนอง
ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ได้แก่ การเร่งรัดงบประมาณปรับปรุงท่าเรือระนอง-เกาะสอง ภายในปี 2569, ผลักดันศึกษาความเป็นไปได้มอเตอร์เวย์สายใต้ เชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สาย 8 (M8) สายนครปฐม-ชะอํา เป็นต้น