สัมภาษณ์
การค้าชายแดนภาคเหนือช่วง 10 ปี ได้ดุลการค้าเฉลี่ย 90,000 ล้านบาทต่อปี และส่วนใหญ่เป็นการค้ากับประเทศเมียนมา แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการกำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ ถึง Roadmap แห่งโอกาสและความท้าทาย ในการยกระดับเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือให้เติบโตอย่างยั่งยืน
Q : ภาพรวมเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ
การค้าชายแดนภาคเหนือช่วง 10 ปี เพิ่มขึ้น 2.7 เท่า หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปี และได้ดุลการค้าเฉลี่ย 90,000 ล้านบาทต่อปี ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ เมียนมา มีสัดส่วน 54% ของมูลค่าการค้าชายแดนภาคเหนือในปี 2566 โดย 78% ของการส่งออกจากไทยไปเมียนมาออกทางด่านชายแดนภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านทางด่านแม่สอด จังหวัดตาก
โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ เป็นกลุ่มสินค้าที่มีดีมานด์สูง ขณะที่การค้ากับจีน มีสัดส่วน 29% เติบโตต่อเนื่องจากการส่งออกผลไม้ผ่านเส้นทาง R3A อาทิ ทุเรียนสด มังคุด ลำไยสด เป็นต้น ส่วนการค้ากับ สปป.ลาว มีสัดส่วน 17% โดยมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและน้ำมันเชื้อเพลิง
Q : ปัญหาที่กระทบการค้าชายแดน
การค้าชายแดนภาคเหนือยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน อาทิ สินค้าจีนที่มีราคาถูกเข้ามาตีตลาด การที่ผู้ผลิตไทยเข้าไปลงทุนผลิตหรือเพิ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าไทยในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงความไม่สงบบริเวณชายแดน และการอ่อนค่าของสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นเชิงเปรียบเทียบ รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา กระทบต่อการเปิด-ปิดเขตแดน ทำให้เห็นการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้าไปใช้เส้นทางอื่นบ้างแล้ว และอาจทำให้ความน่าสนใจของการใช้บริการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าในพื้นที่ประเทศไทยมีน้อยลง
Q : Roadmap ที่จะพัฒนาในระยะยาว
ปัจจุบันสินค้าส่งออกผ่านด่านชายแดนภาคเหนือมากกว่า 65% ผลิตโดยผู้ประกอบการที่อยู่นอกภาคเหนือ โดยมีการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น NEC หรือ SEZ เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนและผลิตสินค้าจากพื้นที่ภาคเหนือเพื่อส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้า
ซึ่งหากทำได้ดีจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และเร่งการจ้างงานในพื้นที่ในอนาคต ขณะเดียวกัน ธปท.ได้สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ ธปท.ได้ต่อยอดบริการพร้อมเพย์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนภายใต้แนวคิด ASEAN Payment Connectivity และประเทศอื่น ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงานหรือการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย (1) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment
และ (2) การโอนเงินระหว่างประเทศ โดยจุดเด่นของบริการบนระบบพร้อมเพย์คือ การได้รับเงินทันทีด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง ซึ่งปัจจุบันมีความครอบคลุม 8 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง และญี่ปุ่น ในอนาคตจะขยายบริการไปยังประเทศต่าง ๆ และเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการให้มากขึ้น
Q : NEC มีส่วนหนุนเศรษฐกิจชายแดน
พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ถูกกำหนดเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) แม้ NEC จะเน้นพื้นที่ 4 จังหวัด แต่หากสามารถดึงดูดการค้า การลงทุน กิจกรรมเศรษฐกิจเข้ามาในพื้นที่ได้มากขึ้น จะเป็นผลดีต่อจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือโดยรวม
รวมไปถึงเศรษฐกิจชายแดนด้วย ความท้าทายอาจจะอยู่ที่การดึงดูดนักลงทุนเข้ามา การให้แรงจูงใจ และใช้จุดแข็งของภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ แหล่งรองรับ Digital Nomad การต่อยอดศิลปวัฒนธรรมเป็น Creative Economy ตลอดจนการมีค่าครองชีพที่ต่ำ เหมาะกับการให้ต่างชาติมาพักอาศัยทำงานระยะยาว
ทั้งนี้ ภาคเหนือน่าจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจชายแดนในหลายด้าน โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก มีการก่อสร้างและขยายช่องทางจราจรเพื่อเชื่อมโยงและสนับสนุนการค้าชายแดน เช่น ทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด หรือแผนการก่อสร้างรถไฟรางคู่นครสวรรค์-แม่สอด
การก่อสร้างและขยายช่องทางจราจรเพื่อเชื่อมโยงและสนับสนุนการค้าชายแดน เช่น เส้น อ.เทิง-อ.เชียงของ ถนนเลี่ยงเมืองใน อ.เชียงของ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนเข้ามาในพื้นที่ เช่น ธุรกิจดิจิทัลที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ NEC ที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.4%
หากเชื่อมโยง NEC ไปกับ SEZ จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ อาทิ ส่งออกสินค้าไปเมืองสำคัญของเมียนมาได้สะดวกกว่าเส้นทางอื่น หรือเป็นประตูที่สามารถส่งออกสินค้าไปลาวตอนเหนือ เช่น หลวงน้ำทาและหลวงพระบาง ได้สะดวก หรือเป็นช่องทางสำคัญในการส่งสินค้าไปเมืองต่าง ๆ ของจีนตอนใต้ ผ่านเส้นทาง R3A และเส้นทางแม่น้ำโขงสามารถใช้เป็นเส้นทางสำรองในการขนส่งสินค้าไปจีน กรณีที่ด่านชายแดนเวียดนาม-จีนปิด ไม่สามารถขนส่งผ่านภาคอีสาน-ลาว-เวียดนามได้
อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญที่ทำให้ภาคเหนือได้รับประโยชน์เต็มที่จากการค้าชายแดน อาทิ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ผลิตจากส่วนกลาง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่สินค้าที่มาจากภาคเหนือยังมีสัดส่วนและมูลค่าเพิ่มไม่สูง อาทิ ผลไม้และอบแห้ง เช่น ลำไย ส้มโอ สับปะรด กล้วยไข่ และมะขาม เป็นต้น อีกทั้งวัตถุดิบที่นำเข้ามาไม่ได้นำมาผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่เป็นหลัก ทำให้ประโยชน์ของการค้าชายแดนตกสู่พื้นที่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
Q : ปัจจัยหนุนการค้าชายแดนยั่งยืน
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การค้าชายแดนเติบโต ได้แก่ ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ตัวกลางในการรวบรวมสินค้าตามคำสั่งซื้อ มีทำเลที่ตั้งที่สะดวก และทำการค้ามายาวนานจนกลายเป็นพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง
ประเด็นสำคัญ ต้องสร้างความพิเศษให้พื้นที่ชายแดน เพิ่มแรงจูงใจในการทำธุรกิจในบริเวณ SEZ โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม ครบวงจร และมีอำนาจตามกฎหมาย จะช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานและการจัดสรรทรัพยากร รวมถึงปรับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับ EEC ที่มีกฎหมายเฉพาะรองรับ และมีความคล่องตัว
ควรมีบทบังคับ/เกณฑ์ปฏิบัติที่ชัดเจนสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของพื้นที่และมีความต่อเนื่องในระยะยาว และเพิ่มการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นแถบชายแดน ที่มีความเข้าใจบริบทเฉพาะของพื้นที่ ทั้งด้านงบประมาณ กฎหมายและบริหารงานบุคคล คล้ายกรณี EEC เพื่อให้จัดการปัญหาได้รวดเร็วและทันการณ์