นายกฯห่วงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ส่งรัฐมนตรีนำคณะลงไปดูแล วางแผนรับมือเฉพาะหน้ารวมถึงเยียวยาไม่ให้ประชาชนรอนาน ด้าน “อนุทิน ชาญวีรกูล” นำทีมมหาดไทยลงพื้นที่ ดูแลเรื่องอาหาร-ที่อยู่อาศัย และการอพยพ พร้อมประสานกรมบัญชีกลาง เพิ่มงบทดรองจ่ายของผู้ว่าฯจาก 20 ล้านเป็น 50 ล้าน เพื่อดูแลให้ทั่วถึง หาดใหญ่น้ำเริ่มทะลักเข้าท่วม ทุบการท่องเที่ยว ธอส.ออกมาตรการดูแลลูกค้า ลดเงินงวด-ดอกเบี้ย 0%
จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เขตภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด ประกอบด้วยนครศรีธรรมราช, พัทลุง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และพื้นที่ถูกน้ำท่วมจำนวนมาก ทั้งย่านเศรษฐกิจ หน่วยงานรัฐ และบ้านเรือนประชาชน
นายกฯกำชับช่วยภาคใต้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ว่า สั่งการให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย รมช.มหาดไทย และ รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ โดยจะอยู่หน้างาน เพื่อแก้ไขและให้ทำหน้าที่ต่อ โดยขอให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน
นอกจากนั้นได้สั่งการให้ ศอบต. ประสานงานกับ ศปช.ส่วนกลาง เร่งรัดสั่ง การเรื่องการประกอบอาหารและโรงครัวพระราชทาน อุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมให้อพยพประชาชนจากพื้นที่น้ำท่วมสูง และจัดเตรียมหน่วยแพทย์ ยารักษาโรค เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ดูเรื่องมาตรการเยียวยาควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรอนาน
“อนุทิน” นำคณะลงพื้นที่
ด้านนายอนุทินพร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย นำคณะลงพื้นที่ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจุดแรก ที่ศาลากลาง จ.นราธิวาส ติดตามสถานการณ์น้ำภาพรวมของนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
นายอนุทินกล่าวอีกว่า กำชับให้ดูแลเรื่องการประกอบอาหารที่สะอาด มีคุณภาพ และแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนครบทั้ง 3 มื้อ และเพียงพอในการดำรงชีพ ควบคู่การจัดเวรยามลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยบ้านเรือนชาวบ้าน และบำรุงขวัญกำลังใจพี่น้องผู้ประสบภัย
เตรียมอุปกรณ์เครื่องจักรกลสาธารณภัย พาหนะรถยกสูง ในการเข้าพื้นที่อพยพและบริการประชาชน ให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตและความปลอดภัย ช่วยกันดูแลทั้งด้านคุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัย ห้องน้ำ อาหาร ที่ศูนย์พักพิงจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
เพิ่มเงินทดรองจ่ายเป็น 50 ล้าน
นายอนุทินกล่าวเพิ่มเติมว่า เร่งประสานงานกับกรมบัญชีกลาง เพื่อขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด จากจังหวัดละ 20 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาทโดยเร็ว
นอกจากนี้ให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เร่งสนับสนุนสรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือตามที่จังหวัดร้องขอ โดยเฉพาะเรื่องเรือพาหนะ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่ทุกจังหวัดกำลังต้องการขณะนี้ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้สรรพกำลัง และทรัพยากรที่มี กระจายเข้าไปในพื้นที่โดยเร็วที่สุดเต็มศักยภาพ
รมว.เกษตรฯระดมทุกหน่วย
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กำชับให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานและทุกกรมของกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ระดมสรรพกำลังไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า
กรมชลประทาน สนับสนุนเครื่องจักร กรมประมง ได้นำเรือตรวจประมงทะเล หรือเรือยางท้องแบน ลงไปช่วยในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งมีการนำรถยนต์ราชการ ลงพื้นที่เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด 40 หน่วย พร้อมด้วยเครื่องสูบน้ำ 33 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 7 เครื่อง
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำเฮลิคอปเตอร์เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน และสนับสนุนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือถึงผู้ประสบอุทกภัยทุกคน ด้านกรมปศุสัตว์ อพยพสัตว์จำนวน 2,431 ตัว พร้อมนำหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 10,760 กิโลกรัม แจกจ่ายให้เกษตรกร และจัดตั้งโรงครัวเพื่อช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น
หอการค้าประเมินความเสียหาย
นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และรักษาการประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ แต่เบื้องต้นหอการค้าไทยโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มอบเงินเยียวยาเบื้องต้น 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช 50,000 บาท, จ.ปัตตานี 50,000 บาท, จ.ยะลา 100,000 บาท, จ.สงขลา 100,000 บาท และ จ.นราธิวาส 100,000 บาท
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย เพราะสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้เกิดหนักสุดในรอบ 35 ปี ด้านการค้าชายแดนมาเลเซียยังคงมีน้ำท่วมทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้การสัญจรและการค้าต่างหยุดชะงักเกือบทั้งหมด ส่วนสินค้าบริโภคสำเร็จรูปและไข่ไก่ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.สงขลา จ.ยะลา เริ่มขาดแคลน จึงได้มีการประสานไปยังหอการค้าไทยให้กระจายไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ”
หาดใหญ่ท่องเที่ยววูบ 200 ล.
นายศิวัฒน์ สุวรรณวงศ์ กรรมการสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ อดีตนายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา และเจ้าของโรงแรมบุรีศรีภูบูติก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ สงขลา และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดหลักของพื้นที่ ได้รับผลกระทบเรื่องการเดินทางและยกเลิกห้องพักแล้วประมาณ 30-40% ไปจนถึงประมาณวันที่ 1-2 ธันวาคม 2568
สำหรับในโซนจังหวัดชายแดนใต้อย่างยะลาและปัตตานีนั้น ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักมากเช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับรายงานตัวเลขการยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจหลักอย่างหาดใหญ่ จังหวัดสงขลานั้น ขณะนี้ประเมินว่าในส่วนของภาคการท่องเที่ยวนั้นน่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 1 สัปดาห์ หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นการประเมินคร่าว ๆ จากอัตราการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักเที่ยวมาเลเซีย ที่อยู่ในระดับประมาณ 3,500-4,000 บาทต่อวัน ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาประมาณ 7,000 คนต่อวัน
ปภ.ยกระดับเตือนผ่าน SMS
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ส่ง SMS แจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเข้าเกณฑ์แจ้งเตือนภัยระดับ 3 คือ ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และเตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบาง
“ปัจจุบัน ปภ.ส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ไปยังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความสับสนและเชื่อมั่นว่าเป็นข้อความของรัฐจริง ปภ.จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่าข้อความแจ้งเตือนภัยที่ส่งไปยังโทรศัพท์มือถือ จะส่งในนามชื่อของ DDPM เท่านั้น และไม่มีการแนบลิงก์ให้ประชาชนกดเข้าไปดำเนินการ”
ธอส.ลดเงินงวด-ดอกเหลือ 0%
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ขอแสดงความห่วงใยและเป็นกำลังใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้า ผ่าน “โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบ จากสาธารณภัย” และ “5 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567”
โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย อาทิ ลูกค้าปัจจุบัน ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4-12 คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลง 50% ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน
ให้กู้เพิ่มซ่อมแซมหลังน้ำลด
ลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซมหรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1-3 เท่ากับ 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด, อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 4-24 เท่ากับ 2.00% ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เท่ากับ MRR-3.30% ต่อปี (3.24% ต่อปี) ฯลฯ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ