“เชียงใหม่-ภูเก็ต-ขอนแก่น” สะท้อนวิกฤตขนส่งมวลชนไทย

transport

สมาคมผังเมืองได้จัดงานประชุมระดมความเห็น “ทางรอดขนส่งมวลชนไทย” ถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเชิญผู้บริหารนโยบายและผู้ประกอบการขนส่งมวลชนจากหัวเมืองหลักทั่วประเทศ มาระดมความเห็น ซึ่งหลายจังหวัดโดยเฉพาะเชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น

ซึ่งภาคเอกชนได้พยายามผลักดันให้มีการระบบขนส่งสาธารณะขึ้น โดยภาคเอกชน แต่ปรากฏว่า ทุกบริษัทล้วนประสบปัญหาต่าง ๆ

รูปแบบเมืองไม่เอื้อรถเมล์

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ RTC ผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทาง RTC City Bus ในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบเมืองไม่เอื้ออำนวยต่อระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะกลุ่ม City Bus รวมถึงการไม่เชื่อมต่อกัน ระหว่างราคาที่ผู้ใช้ต้องการ ราคาที่ผู้ให้บริการอยู่ได้ ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังโควิด รถ Grab Car ถูกกฎหมาย 225 คัน วิ่งเฉพาะในสนามบิน 2,000 กว่าคัน ลูกค้าสนามบินใช้บริการกว่า 70% โดยที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการควบคุมจำนวนผู้ขับ Grab รวมถึงปัญหาค่าโดยสารที่แม้รถบัสจะขึ้นเพียง 20 บาท ยังเป็นไปได้ยาก ทั้งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่เครื่องบินมีการปรับขึ้นราคาได้หลายเท่าตัว

นายนพดล นิ่มพัชราวุธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐตั้งแต่ช่วงโควิดไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม โดย บริษัท นครชัยแอร์ ให้บริการระบบรถขนส่งระหว่างเมือง แต่นโยบายจำกัดเที่ยววิ่ง ทำให้ค่าโดยสารไม่สมดุลกับจำนวนเที่ยววิ่ง โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือรองรับ ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่างปรับขึ้น ค่าน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้น

transport

ADVERTISMENT

จี้รัฐคุมรถผ่าน App จด รย.18

นายเอกสิทธิ กนกวิจิตร กรรมการผู้บริหาร บริษัท พันทิพย์ (1970) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วประเทศประสบปัญหาจำนวนรถในแอปสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่ออัตราจองรถผ่าน App มากขึ้น อยากขอให้ภาครัฐควบคุมจำนวนรถ ต้องมีเงื่อนไขรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ (รย.18) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะตอนนี้มีรถมาวิ่งให้บริการ ประมาณ 400-500 คัน แต่มีรถที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเพียง 40-50 คัน เพื่อให้ระบบมีความยั่งยืน

โดยเสนอให้โฟกัสความต้องการของลูกค้า เช่น เช้าลูกค้าต้องการให้ไปรับถึงโรงแรม แต่รถโดยสารถูกบังคับไปจอดที่ บขส. รวมถึงการเปิดบุ๊กกิ้งในช่วงกลางคืนมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้โดยสาร หันมาใช้บริการช่วงกลางคืนมากขึ้น นอกจากนี้ มีปัญหาเรื่องผู้ประกอบการดัมพ์ราคารถที่วิ่งไปต่างจังหวัด

ADVERTISMENT

ท้องถิ่นไม่หนุนรถโดยสาร

นายนิพนธ์ เอกวานิช สมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด (PKSB) ผู้ประกอบการรถขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินรถโดยสารของบริษัท ภูเก็ตสมาร์ทบัส ประสบปัญหารัฐไม่เปิดสัมปทานการเดินรถเส้นทางใหม่ให้ รวมถึงปัญหาจุดจอดรถไปคาบเกี่ยวกับผู้ประกอบการขนส่งรายอื่น นอกจากนี้ ป้ายจุดจอดยังหาเจ้าภาพทำไม่ได้ ทั้งที่มีประโยชน์กับทุกคน ท้องถิ่นไม่ดูแลให้ชัดเจน

รายได้หลักมาจากโฆษณา

นายภูริภัทร ลิมป์นิศากร ผู้จัดการ บริษัท ขอนแก่นซิตี้บัส จำกัด บอกว่า ขณะนี้ธุรกิจกลับตาลปัตร จากรายได้หลักที่มาจากผู้โดยสาร แต่ปัจจุบันกลายเป็นรายได้มาจากโฆษณา เนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อย รูปแบบเมืองกระจาย และคนนิยมใช้รถจักรยานยนต์มากกว่า เช่น เฉลี่ย 1 วัน มีผู้ใช้บริการ 200 คน ค่าบริการเพียง 15 บาท รายได้ต่อวัน 6,000 บาท ทุกวันนี้ผู้โดยสารเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ผู้ประกอบการจึงต้องพยายามพึ่งตนเอง หารายได้จากช่องทางอื่นเพิ่มเติม ซึ่งผิดหลักการ

ดันกฎจำกัดรถส่วนบุคคล

นายสมชาย ทองคำคูณ ประธานคณะกรรมการบริหาร และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แคปปิตอล จำกัด หรือ กรีนบัส กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดจากรูปแบบเมือง ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐาน จึงอยากเสนอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง มีการปรับแก้ด้านผังเมืองโดยเร็ว เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการออกแบบโครงข่ายการเดินทาง เพื่อให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สนใจลงทุนโครงข่ายการเดินรถขนส่งมวลชน

นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐออกกฎหมายบังคับคล้ายกับต่างประเทศ เช่น การกำหนดพื้นที่เมืองเก่าให้ใช้เพียงรถสาธารณะ ประชาชนสามารถนำรถมาจอดไว้ แล้วขึ้นรถโดยสารแบบสิงคโปร์ ซึ่งจะก่อให้เกิดโครงข่ายการขนส่งของเมือง รวมถึงระบบสัญญาณไฟแบบออโต้ การมีบัสเลน รวมถึงการกำหนดเก็บภาษีผู้ใช้รถยนต์ เพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างถนน โดยกรมการขนส่งทางบกต้องนำผู้บริหารเหล่านี้ไปเป็นพาร์ตเนอร์ เพื่อให้สามารถซัพพอร์ตประชาชนได้อย่างแท้จริง

นายพิเชษฐ์ เจียมบูรณเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ต้องรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรอง อย่าง บขส.เป็นกิจการกึ่งรัฐวิสาหกิจยังไม่สามารถอยู่ได้ หรือ ขสมก.ขาดทุนเกือบแสนล้าน แล้วผู้ประกอบการจะอยู่ได้อย่างไร

transport

ผนึกกำลังต่อรองภาษีนำเข้า

นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รถบรรทุก-รถโดยสาร กล่าวว่า ผู้ประกอบการคงต้องรวมตัวเข้าไปเจรจาต่อรองกับภาครัฐเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องภาษีนำเข้าเครื่องยนต์ เกียร์ เพลาสูงถึง 30-40% แต่คนนำเข้ารถทั้งคันจากอิตาลีเข้ามาเสียภาษีเพียง 5% ทำให้ไม่สามารถประมูลแข่งขันได้ นอกจากนี้ ควรหันมาสนับสนุนรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

จะประหยัดค่าน้ำมันได้ถึง 1 ใน 5 และในอนาคตรถระบบไฮโดรเจนมาแน่ เพียงแต่ต้องรอการพัฒนาให้มั่นคง เทคโนโลยีไฮโดรเจน Fuel Cell ไปทดแทน แบตเตอรี่เล็กลง แต่ระยะทางในการวิ่งจะนานกว่า

นายสุชัย เลขะกุล อดีตขนส่งจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ภาครัฐต้องทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งสาธารณะ ให้เกิดการสร้างงาน พัฒนารถ พัฒนาระบบแบตเตอรี่ หรือควรทำเป็นรูปแบบ Sandbox ศึกษา ทำฟีดเดอร์ทั้งระบบโดยให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน เพราะตั้งแต่ปี 2451 ที่มีการนำรถยนต์มาใช้ในประเทศไทย ภาครัฐยังไม่เคยมีแผนลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะ จึงต้องการเปลี่ยนไมนด์เซตใหม่ให้ภาครัฐมาร่วมลงทุนแบบในจังหวัดภูเก็ต

พลังงานไฮโดรเจนวิ่งได้นานขึ้น

นายไพรัช แสงเกลี้ยง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โรนิตรอน จำกัด กล่าวว่า ในอนาคตหากรถบัสขนส่งสาธารณะหันมาใช้พลังงานไฮโดรเจน จะสามารถวิ่งได้นาน

แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เปิดรับ คาดว่าอีก 10 ปีถึงจะมีการใช้ไฮโดรเจน