บิ๊กแจ๊สฝันใหญ่ผุดรถไฟฟ้า 2 สาย ดึงจีน-ญี่ปุ่นทุ่ม 3 หมื่นล้านบูมปทุม

รถไฟฟ้า สวนสัตว์ใหม่

บิ๊กแจ๊ส นายก อบจ.ปทุม บินเจรจาทุนจีน-ญี่ปุ่นลงทุนรถไฟโมโนเรล 30,000 ล้าน 2 สาย 24.09 กิโลเมตร เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีรังสิต และเชื่อมต่อบีทีเอสสายสีเขียว มุ่งสู่สวนสัตว์แห่งใหม่ คลองหก ทุบโต๊ะต้องเสร็จพร้อมสวนสัตว์เปิดปี 2571 เร่งสรุปผลศึกษา EIA ยื่น สผ.ต้นปี 2568 ชงเข้าบอร์ด PPP เผยหารือยักษ์ใหญ่รถไฟฟ้าแล้ว ลุ้นผ่านฉลุยเข้า ครม.

พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาจราจรถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเดินมาถึงจุดวิกฤต เนื่องจากบริเวณคลองมีหมู่บ้านจัดสรรใหม่จำนวนมาก แต่ละบ้านมีรถยนต์ ทำให้ปริมาณรถล้นเมือง ถนนไม่สามารถขยายได้ การก่อสร้างโครงการ “รถไฟฟ้าโมโนเรล” (Monorail System) จึงเป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่จะเปลี่ยนเมืองปทุมธานีช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้

ที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณของ อบจ.ปทุมธานี ประมาณ 126 ล้านบาท ตั้งคณะที่ปรึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันดำเนินการโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจังหวัดปทุมธานี หรือโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลจังหวัดปทุมธานี

ลุยรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สาย

แผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี มีแนวเส้นทางที่มีศักยภาพทั้งหมด 5 เส้นทาง แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ แต่จะเลือกระยะแรกมาดำเนินการก่อน ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าไปมาก โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมาแล้ว 2 ครั้ง ระยะที่ 1 เป็นโครงการนำร่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการก่อน ซึ่งมีการวางโครงสร้างเป็นแบบยกระดับตลอดแนวเส้นทาง และมีการวางเสาหรือตอม่อที่เกาะกลางถนนเป็นหลัก ลักษณะเหมือนกับรถไฟฟ้าบีทีเอส บนถนนรังสิต-นครนายก และถนนลำลูกกาคลองสี่ (ปท.3017) จะไม่มีการกีดขวางจราจร

ในระหว่างแนวเส้นทางนำร่องจะผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต สวนสนุกดรีมเวิลด์ วัดเขียนเขต สวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) ตลาดเอซี ลำลูกกา คลองสี่ เป็นต้น ประกอบด้วย 2 แนวเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 24.09 กิโลเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 30,000 ล้านบาท ได้แก่

เส้นทางที่ 1 เริ่มต้นจากสถานีรังสิต (สายสีแดง) วิ่งไปทางทิศตะวันออก ผ่านฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ถ.รังสิต-นครนายก วิ่งมาจนถึงสถานีวัดเขียนเขต แล้วเลี้ยวขวามุ่งมาทางทิศใต้ มายัง ถ.เลียบคลองสี่ สิ้นสุดที่จุดเชื่อมต่อสถานีคลองสี่ (สายสีเขียว) ระยะทางรวม 16.66 กิโลเมตร ประกอบด้วย 12 สถานี ได้แก่ 1) สถานีรังสิต 2) สถานีต่างระดับรังสิต 3) สถานีรังสิต-นครนายก 19 4) สถานีคลองสอง 5) สถานีรังสิต-นครนายก 67 6) สถานีวัดเขียนเขต (สถานีเปลี่ยนถ่าย) 7) สถานีสนิทวงศ์ 8) สถานีทองเกรียง 9) สถานีลาดสวาย 10) สถานีร่วมสุข 11) สถานีอ่อนเปรี้ยว และ 12) สถานีคลองสี่ ระยะทางรวม 16.66 กิโลเมตร

ADVERTISMENT

เส้นทางที่ 2 เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อสถานีวัดเขียนเขต วิ่งออกไปทางทิศตะวันออก ตามแนว ถ.รังสิต-นครนายก ไปสิ้นสุดที่สวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) ระยะทางรวม 7.43 กิโลเมตร ประกอบด้วย 6 สถานี ได้แก่ 1) สถานีวัดเขียนเขต (สถานีเปลี่ยนถ่าย) 2) สถานีรังสิต-นครนายก 87 3) สถานีวงแหวนกาญจนาภิเษก 4) สถานีมูลนิธิมหาราช 5) สถานีโรงพยาบาลธัญบุรี และ 6) สถานีสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) ระยะทางรวม 7.43 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าเชื่อมสวนสัตว์แห่งใหม่

โครงการระยะที่ 1 จะเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปยังโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ บนที่ดินพระราชทาน 300 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณคลองหก อ.ธัญบุรี ที่จะเปิดดำเนินการปี 2571 และการต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คูคตไปยังคลองสี่ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะเกิดความคุ้มค่าอย่างมาก แม้การสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล ในระยะเร่งด่วน ต้องใช้เงินกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าศักยภาพของ อบจ.

ADVERTISMENT

แต่โครงการใหญ่ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน จึงต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เอกชนมาร่วมลงทุน 100% ขณะนี้ได้หารือเส้นทางเชื่อมต่อนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด แล้ว ส่วนกลุ่มทุนใหญ่มีทั้งจากประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นได้เจรจาไว้เรียบร้อยแล้ว ต้องเร่งเสนอ ครม. อย่างน้อยก่อนสวนสัตว์คลองหกเสร็จปี 2571

บุกเจรจาทุนจีน

“ผมได้ไปเมืองหูหนาน ประเทศจีน เป็นโรงงานเดียวที่ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรลส่งขายทั่วโลก แบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ขนาดแค่ 1 โบกี้ โรงงานผลิตภายใน 2 สัปดาห์เสร็จ หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ได้ ทุนจีนและญี่ปุ่นพร้อมมาลงทุน อย่างน้อย 20,000-30,000 ล้านบาท เป็นเรื่องเล็ก ๆ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาอยากลงทุนมาก ให้คนมาศึกษา ความคุ้มค่าในการลงทุนมีมาก เพราะคนอยู่ตามหมู่บ้านเยอะมาก จุดคุ้มทุนก็จะไม่นาน เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นแล้วมีความเป็นไปได้ เนื่องจากปทุมธานีอยู่ในเขตปริมณฑลเชื่อมต่อกับ กทม.”

อย่างไรก็ตาม ตามแผนคณะที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าเดือนมกราคม 2568 จะแล้วเสร็จ จากนั้นจะนำเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา หลังบอร์ด สผ.ผ่านความเห็นชอบ EIA แล้ว นำไปสู่การทำรายงานโครงการรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เมื่อผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด PPP จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ศักยภาพของ อบจ.คงไม่สามารถไปร่วมลงทุนได้ ต้องเป็นรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังร่วมลงทุน ตามแผนคาดการณ์ว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2571-2574 และเปิดให้บริการได้ปี 2575 แต่จะพยายามประสานทุกฝ่ายเพื่อให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นทันการเปิดสวนสัตว์ปี 2571

เปิดแนวเส้นทางระยะ 2-3

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เป็นเรื่องอนาคตยังไม่มีแผนงานชัดเจนว่าจะก่อสร้างเมื่อไหร่ เพียงแต่ศึกษาเรื่องแนวเส้นทางไว้ ระยะที่ 2 เส้นทางที่ 1 เชื่อมต่อจากวัดเขียนเขต มุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ เลียบคลองสาม เลี้ยวซ้าย ถ.คลองหลวง ผ่านวัดธรรมกาย แล้ววิ่งไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งในอนาคตจะมีส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีแดง ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต เพิ่มเติม เส้นทางที่ 2 เชื่อมต่อจากสถานีรังสิต (สายสีแดง) ต่อเนื่องไปยังแยกปทุมวิไล อ.เมืองปทุมธานี

ระยะที่ 3 เส้นทางที่ 1 จากสถานีโรงพยาบาลธัญบุรี ถ.รังสิต-นครนายก เลียบคลองหก ขึ้นไปยัง ถ.คลองหลวง แล้ววิ่งทางซ้ายไปเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางระยะที่ 2 บริเวณ ถ.คลองหลวง

การสร้าง “รถไฟฟ้ารางเดี่ยว” (Monorail) จะพยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่เวนคืน เน้นใช้พื้นที่หน่วยงานราชการให้มากที่สุด เช่น บริเวณคลอง ใช้พื้นที่ของกรมชลประทาน พื้นที่บนถนน ใช้พื้นที่กรมทางหลวง ทำให้การประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกันทำ MOU กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมกว่า 20 หน่วยงาน

ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลได้รับความสนใจจากภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ซึ่งภายในเดือนนี้จะเร่งรัด Model รูปแบบรถวิ่งให้เสร็จ เพื่อนำตัวอย่างไปแสดง ณ ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งที่จะเกิดในอนาคต

ยก อบจ.ปทุมฯเขตปกครองพิเศษ

พลตำรวจโท คำรณวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีแนวคิดต้องการให้จังหวัดปทุมธานียกระดับเป็น “เขตปกครองพิเศษ” คล้ายกับเมืองพัทยา เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยตรงในการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาจราจร ปัญหาเรื่องโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งน้ำประปาไม่ไหล ไฟฟ้าดับ การขุดถนนต่าง ๆ ซึ่งทุกวันนี้มีปัญหาและอุปสรรคที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ แต่ อบจ.ไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งขึ้นตรงกับหน่วยงานส่วนกลางได้

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยที่คุมท้องถิ่น ควรถ่ายโอนอำนาจเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดูแล จะเกิดประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนจะรวดเร็วกว่า

“ผมมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่ไม่มีอำนาจไปสั่งหน่วยงานอื่น เช่น แขวงการทาง ทางหลวง ประปา ไฟฟ้า แต่ละหน่วยงานขึ้นตรงกับแต่ละกรม แต่ละกระทรวง มีการวางแผนงานโครงการของตัวเอง เดี๋ยวหน่วยงานนี้ขุดเสร็จ อีกหน่วยงานมาขุดมาทำอีก ก็ขุดกันทั้งปี ด้านปัญหาการจราจรติดขัด ที่ผ่านมาก็พยายามประสานทุกหน่วยงาน ทุกวันนี้ตำรวจจราจรเองมีไม่เพียงพอ

ผมเห็นว่า หากงานจราจรโอนมาให้ท้องถิ่นดูแล มันจะเกิดประโยชน์แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า การอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนก็จะรวดเร็ว เช่น นครรังสิต เป็นจุดใหญ่ที่มีปัญหาจราจรมาก หลายจุดตั้งสัญญาณไฟออโต้ ถามว่า ความบาลานซ์มีหรือไม่ บางครั้งรถไม่ได้ติดแบบนี้ทุกวัน มันต้องแก้ปัญหาด้วยการปิดสัญญาณไฟ แล้วมาใช้สัญญาณมือ” พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าว