เชียงรายลุยจัดงานโคขุน หวังสร้างอาชีพใหม่ พร้อมดันเปิดโรงเชือดมาตรฐาน

ผู้สื่อข่ารายงานว่า วันนี้ (8 มิถุนายน 2561) ณ ลานกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาเชียงราย อ.เมืองเชียงราย นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน “โคขุนเชียงราย เนื้อโคคุณภาพ ท้องถิ่นล้านนา” จัดโดยสำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย พร้อมด้วยนางพิมล ปงกองแก้ว พาณิชย์จังหวัดเชียงราย นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายนำสมาชิกเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายโคเนื้อล้านนา เข้าร่วม โดยมีการนำเนื้อโคขุนคุณภาพดีจำหน่าย ซึ่งภายในงานยังมีการแข่งขันประกวดการทำอาหารจากเนื้อโคขุน การแสดงบนเวที และตลาดสินค้าประชารัฐอย่างครบครัน

นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในอดีตผู้คนมักจะเน้นการปลูกพืชเกษตรกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้พืชบางชนิดล้นตลาดจนเกิดปัญหาราคาตกต่ำ ส่วนการเลี้ยงโคเนื้อนั้นเดิมมีความเข้าใจกันว่าสามารถเลี้ยงได้ดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคกลางเป็นหลัก แต่ปัจจุบันพบว่าเครือข่ายโคเนื้อล้านนาสามารถพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อได้อย่างมีมาตรฐาน ทำให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้เชื่อว่าอาชีพนี้จะเป็นอนาคตที่ดีของเกษตรกรชาวเชียงรายต่อไป เพราะตลาดมีความต้องการบริโภคเนื้อโคขุนสูงขึ้น เพียงแต่ต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการด้วย

นางพิมล ปงกองแก้ว พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ระหว่างปี 2550-2557 พบปริมาณการเลี้ยงโคเนื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการส่งเสริมให้หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้เลี้ยงและจำหน่ายขาดแรงจูงใจ รวมทั้งบางส่วนมีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ขณะที่ราคาของโคเนื้อถือว่าดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ดี ดังนั้น จ.เชียงราย จึงเล็งเห็นโอกาสดังกล่าวและได้ส่งเสริมการเลี้ยง โดยส่วนหนึ่งคือ การจัดงานในครั้งนี้

ด้านนายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายนำสมาชิกเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ กล่าวว่า เครือข่ายมีสมาชิกจำนวน 291 ราย และมีโคเนื้อประมาณ 1,300 ตัว ส่วนใหญ่ส่งเสริมเลี้ยงพันธุ์บีฟมาสเตอร์ที่เหมาะสมกับไทย และให้เนื้อคุณภาพดีมาก ซึ่งเครือข่ายจะรับซื้อจากเกษตรกรในกลุ่ม ในราคารับประกันที่ชัดเจนประมาณ 100-105 บาท/กิโลกรัม หมุนเวียนกันอยู่ในระดับนี้ ขณะที่ตลาดมีความต้องการสูงมาก เพราะขาดแคลนโคเนื้อดังกล่าว โดยแต่ละเดือนต้องการมากกว่า 300 ตัว แต่เครือข่ายไม่สามารถทำให้ถึงเป้าได้ ดังนั้นจึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระยะเวลาเลี้ยง 6 เดือน ภายใต้การดูแลเป็นอย่างดีเพื่อให้ได้เนื้อมาตรฐาน

“ปัจจุบันเราพบปัญหาสำคัญอีกประการคือ เราไม่มีโรงเชือดมาตรฐานโคเนื้อในพื้นที่ แต่กลับไปตั้งอยู่ที่ จ.พะเยา ทำให้การเชือดแต่ละครั้งต้องขนโคไป-กลับและเดินเรื่องเอกสารต่างๆ ครั้งหนึ่งเสียต้นทุนไปประมาณ 4,000-5,000 บาท ล่าสุดเครือข่ายจึงได้หารือกับกรมปศุสัตว์เพื่อขอเปิดโรงเชือดโคขุนมาตรฐานในพื้นที่ ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 15 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นผลในปี 2562-2563 ซึ่งก็จะช่วยยกระดับการพัฒนาการเลี้ยงและการจำหน่ายโคขุนในพื้นที่ จ.เชียงราย ได้เป็นอย่างดีต่อไป” นายนเรศกล่าว