พิชิต สมบัติมาก เล็งยกร่างกฎหมายพื้นที่เสี่ยงภัย

Pichit
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ภัยพิบัติครั้งใหญ่ ฝนตกหนัก ดินโคลนถล่ม ในหลายพื้นที่ตั้งแต่เหนือจดใต้ในปี 2567 ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก แม้วันนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำ “แผนที่พื้นที่มีโอกาสแผ่นดินถล่ม” 54 จังหวัด

ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 แจกไปทุกจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานราชการ และประชาชนมีคู่มือพร้อมป้องกัน เฝ้าระวัง และเตือนภัย แต่ในทางปฏิบัติทุกคนยังไม่ตระหนักที่จะนำมาใช้ เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายพิชิต สมบัติมาก” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ถึงแนวทางแก้ไขและป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่

ปัจจัยหลักดินโคลนถล่ม

ปี 2567 ประเทศไทยมีเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย รวม 1,112 เหตุการณ์ แบ่งเป็น แผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก 160 เหตุการณ์ แผ่นดินไหว 947 เหตุการณ์ และหลุมยุบรวม 5 เหตุการณ์ ยกตัวอย่างเดือนสิงหาคม 2567 เหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่ จ.ภูเก็ต มีผู้เสียชีวิตถึง 13 คน เกิดฝนตกหนักมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 150-170 มิลลิเมตร แช่อยู่บริเวณเดียวเป็นเวลา 24 ชม. ทำให้ดินเกิดการอุ้มน้ำ

ประกอบกับเป็นเทือกเขาหินแกรนิต มีอายุมากถึง 200 ล้านปี มีสภาพเก่า ผุ เช่นเดียวกับเทือกเขาบริเวณชายแดนประเทศไทย ซึ่งหินแกรนิตมีอายุเก่าแก่ ตั้งแต่ 150 ล้านปีขึ้นไป โอกาสที่จะพัง และดินโคลนถล่มมีสูงมาก

นอกจากนี้ หลายพื้นที่มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายหน้าดิน มีสิ่งปลูกสร้าง การตัดถนน สร้างรีสอร์ต สร้างวัดบนเทือกเขา เกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางไหลของน้ำ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนตัวของดิน ทำให้เกิดดินโคลนถล่ม เช่น เหตุดินสไลด์ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ ซึ่งเดิมเป็นป่ายางพารา แล้วถูกสร้างอสังหาริมทรัพย์ สร้างกำแพง เมื่อฝนตกมากกว่า 200 มม. เกิดน้ำขัง ขวางทางน้ำ

พื้นที่เสี่ยงภัย

ADVERTISMENT

ทบทวนแผนรับภัยพิบัติ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางกรมมีความพยายามปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยง เพื่อรับมือภัยพิบัติเป็นระยะ ทุก ๆ 5-10 ปี ตั้งแต่ปี 2546 ขณะนั้นมีพื้นที่เสี่ยง 692 จุด ต่อมาปี 2553 เพิ่มเป็น 1,084 จุด จนกระทั่งปี 2567 มีทั้งหมด 1,984 จุด ซึ่งถ้าหากเกิดเหตุภัยพิบัติ จะประสานกับกรมทางหลวงว่าพื้นที่เสี่ยงเราตัดกับถนนเส้นไหน มีโอกาสเสี่ยงหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุ จะมีการส่งข้อมูลให้เราตรวจสอบ อัพเดตทันทีเพื่อหาแนวทางป้องกันต่อไป แล้วทีมของกรมแต่ละจังหวัดจะเข้าไปตรวจสอบ

ซึ่งทางกรมจะมีข้อเสนอแนะกลับไป ขณะเดียวกันก็นำข้อมูลมาปรับปรุงเพิ่มเติม ซึ่งเราพยายามปรับปรุงข้อมูลทุกปี อย่างที่บอกปัจจัยของภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะลักษณะการขยายตัวของเมือง การก่อสร้าง การเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ไม่นิ่ง ถนนก็มีการขยายออกให้กว้างขึ้น

ADVERTISMENT

แผนที่เตือนภัยดินโคลนถล่มครอบคลุมพื้นที่ 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล 15,559 หมู่บ้าน คิดเป็นพื้นที่เสี่ยงรวม 142,067 ตารางกิโลเมตร (84.8 ล้านไร่) หรือประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศไทย ทำกันมานานหลายปีแล้ว มีการปรับปรุงข้อมูลกันอยู่ตลอด ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 พร้อมทั้งจัดส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบ ป้องกัน เฝ้าระวัง ซึ่งมีรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงต่อดินโคลนถล่ม พื้นที่น้ำป่าไหลหลาก

ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลไปเป็นแนวทางในการออกแบบโครงสร้างต่าง ๆ รวมถึงวิธีปฏิบัติในการเผชิญเหตุ และการฟื้นฟู พร้อมคู่มือภาคประชาชนต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อเกิดเหตุ เช่น ฝนตกเกิน 100 มิลลิเมตร เกิน 24 ชม.ขึ้นไป และมีแนวโน้มตกไม่หยุด ต้องจัดศูนย์พักพิง เตรียมอพยพประชาชนในพื้นที่

พื้นที่เสี่ยงภัย

ราชการไม่แม่น คนไม่เชื่อ

ตอนนี้เรามีเครือข่ายในพื้นที่ หากผู้นำท้องถิ่นที่ชาวบ้านมีความเชื่อถือ ศรัทธา และผู้นำมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ชัดเจน ผมมั่นใจเมื่อชาวบ้านเชื่อในผู้นำจะปฏิบัติตาม ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า เรื่องการเตือนภัยบ้านเรากำลังพัฒนา โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารที่จะไปใช้ Cell broadcast ในการส่ง SMS เข้ามือถือทุก ๆ ค่าย โดยในปี 2568 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสำหรับดำเนินการไว้แล้ว

ซึ่งกรมจะพัฒนาระบบโปรแกรมด้านสารสนเทศ เพื่อการสื่อสารจะได้ครอบคลุมพื้นที่ได้ชัดเจน จากที่มีเครือข่ายในพื้นที่อยู่แล้ว จะมีเครื่องวัดมวลดินเข้าไปติดตั้ง ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ ผมเชื่อว่าการแจ้งเตือนชาวบ้านจะรับฟัง

พื้นที่เสี่ยงภัย

ของบประมาณกลางซื้อเครื่องวัดฝน

ที่ผ่านมากรมทรัพยากรธรณีตั้งศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยมาตั้งแต่ปี 2557 มีการติดตั้งสถานีตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดิน 25 แห่ง แต่ปัจจุบันเครื่องเก่าไม่ทันสมัย และชำรุดไปประมาณ 10 แห่ง ปีนี้นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาการให้กรมจัดหาเครื่องมือเตือนภัยดินโคลนถล่มให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีงบประมาณสำหรับติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนทั้ง 54 จังหวัด

ปีที่แล้วแทบจะไม่มีงบประมาณ เพราะธรณีพิบัติภัยยังเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม ซึ่งปี 2568 กรมได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียง 20 ล้านบาท ซึ่งการติดตั้งสถานีวัดปริมาณฝน ใช้งบประมาณสถานีละ 2 ล้านบาท ทางกรมสื่อสารไปทางรัฐบาลว่า มีความจำเป็น หากเป็นการลงทุนเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ก็คุ้มค่าที่จะลงทุน เราไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ 1 ชีวิตก็มีความสำคัญ การลงทุนเรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นที่ต้องทำ มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

พื้นที่เสี่ยงภัย

ซึ่งในปีนี้เราก็ส่งสัญญาณของบประมาณกลางสำหรับปี 2569 ไป 400 ล้านบาท เพื่อที่จะเร่งดำเนินการสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยที่สุดก่อน จริง ๆ มีมากถึง 600 จุดที่ต้องทำ ครอบคลุมทั้ง 54 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่ชุมชนเสี่ยงเป็นหลัก ขอไปก่อนแค่ 120 จุดที่เร่งด่วน ซึ่งถ้าหากได้รับงบประมาณมา จะรีบติดตั้งให้เสร็จภายในปี 2568

ก่อนฤดูฝนจะมาถึงปีนี้ ทางกรมก็จะไปสร้างความตระหนักรู้และอบรมร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะเกิดช่วงฤดูกาลดินโคลนถล่ม จะเข้าไปตรวจเครื่องมือให้มีความพร้อมสำหรับการใช้งาน รวมทั้งเรื่องพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เสี่ยงให้กับประชาชนได้ทราบ เพื่อซักซ้อมการอพยพให้ชัดเจน โดยหวังว่าสิ่งที่เราเตรียมการไว้จะเกิดประสิทธิภาพกับประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งทั้ง 600 จุดครอบคลุมทั้ง 54 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่สีแดงเสี่ยงภัย

พื้นที่เสี่ยงภัย

ประกันเมินพื้นที่เสี่ยง

ผมทราบข่าวมาว่า ต่อไปบริษัทประกันจะนำแผนที่เสี่ยงภัย 54 จังหวัดไปใช้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยสีแดง หากไปปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ บริษัทประกันภัยอาจจะไม่คุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จากเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม เพราะทราบอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย บริษัทประกันอาจจะไม่รับผิดชอบ ซึ่งในต่างประเทศมีการเขียนระบุเงื่อนไขเหล่านี้ไว้ชัดเจน

เล็งยกร่างกฎหมายใหม่คุม

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงภัย แต่หลังเกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ถ้าจะให้เกิดการตระหนักในเรื่องเหล่านี้ ทางภาครัฐจะต้องมีมาตรการทั้งเรื่องกฎหมายที่จะให้ประชาชนได้เข้าใจร่วมกันว่า ถ้าหากไปอยู่สร้างบ้านเรือน อาคาร อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง ก็ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งก็จะเป็นแนวทางที่ชัดเจน

ซึ่งทุกวันนี้หลายฝ่ายหารือถึงการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาควบคุมบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะในที่ประชุมคณะกรรมาธิการมีการประชุมและเชิญทางกรมทรัพยากรธรณีไปชี้แจง มีการสอบถามเรื่องกฎหมายเหล่านี้

ดังนั้น ล่าสุดผมได้สั่งให้หน่วยงานภายในกรมไปศึกษาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ว่าครอบคลุมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง พบว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองควบคุมมีกฎหมายผังเมือง ที่กำหนดไว้แล้วส่วนหนึ่ง ที่กำหนดความเหมาะสมว่าพื้นที่ไหนสามารถสร้างอะไรได้ ยิ่งตอนนี้เรามีแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มแล้ว ยิ่งต้องตระหนัก มี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ลาดชัน

พื้นที่เสี่ยงภัย

มีเพียง พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดอาจจะยังไม่เพียงพอ อาจต้องขยายกรอบการคุ้มครองเพิ่มขึ้น โดยอาจจะให้ครอบคลุมถึงซากธรณีวิทยา (ชั้นหินจากยุคหินที่เชื่อว่าอายุแก่) ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศ หรือควรยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาหรือไม่ เป็นเรื่องที่กรมซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนอยู่ รวมทั้งศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลกฎหมายเกี่ยวกับภัยพิบัติของประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เปรู จีน เป็นต้น เพื่อมาใช้ประกอบการพิจารณา

แต่ปัจจุบันทางกรมได้พยายามนำข้อมูล แผนที่เสี่ยงภัยนี้เข้าไปบังคับใช้ร่วมกับกฎหมายอื่นก่อน เพราะการยกร่างกฎหมายใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าจะเสร็จ ดังนั้น ข้อมูลผังเมือง ของกรมโยธาธิการฯต่างก็นำข้อมูลของเราไปใช้ในการกำหนดผังมือง เช่น การสร้างอาคาร จะมีการกำหนดรูปแบบการก่อสร้าง การใช้วัสดุเพื่อให้รองรับการเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ การกำหนดโซนของภัยแผ่นดินไหวซึ่งสำเร็จเมื่อปี 2564

พื้นที่เสี่ยงภัย

ตอนนี้เราก็พยายามเสริมเรื่องดินถล่มเข้าไป เป็นบทบาทการบริหารจัดการที่เราทำไปพลาง ๆ ก่อน แม้ว่าการออกกฎหมายใหม่ใช้เวลานานถึง 10 ปี แต่อะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ทรัพย์สิน มักมีผลกระทบ เบื้องต้นทางกรมก็พยายามเสนอแนวทาง เช่น ป้ายเตือน ป้ายสัญลักษณ์เรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ ส่วนอนาคตเรื่องการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่เป็นสิ่งที่เราต้องเดินต่อไป