“ซันสวีท” รุกธุรกิจเทรดดิ้ง “ข้าวโพดปิ้ง-มะพร้าว-สับปะรด” ตีตลาดโลก

การเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงระยะ 10 ปี ของ “ซันสวีท” ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานเบอร์ 1 ของประเทศ ภายใต้แบรนด์สินค้า “KC” ความแรงไม่เคยตก เป็น core business ที่มียอดขายต่อปีกว่า 1,000 ล้านบาท ครอบครองฐานลูกค้าใน 70 ประเทศทั่วโลก และวันนี้ยังคงเดินหน้าไม่หยุด เตรียมมุ่งอาหารสุขภาพ ตอบโจทย์ healthy trend ที่กำลังมาแรงสุด ๆ พร้อมดันผลไม้บ้าน ๆ อย่างมะพร้าว และสับปะรด บุกตลาดเกาหลี “องอาจ กิตติคุณชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เปิดใจให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถอดรหัสทิศทางของซันสวีท

เพิ่มกำลังผลิตสู่เป้า 1.6 พัน ล.

องอาจบอกว่า ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ซันสวีทมีตัวเลขรายได้ 408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.61% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งเป็นผลมาจากการนำสินค้าหลัก คือ ข้าวโพดหวาน เข้าร่วมโรดโชว์ในงานแสดงสินค้าด้านอาหารที่ต่างประเทศในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้ออร์เดอร์เพิ่มขึ้นเบา ๆ 10-15%

ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น โดยสินค้าหลักคือข้าวโพดหวาน ได้ปรับสัดส่วนการผลิตใหม่ แบ่งเป็นข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง (canned corn) เป็น 60% จากเดิม 70% พร้อมเพิ่มสัดส่วนข้าวโพดหวานแช่แข็ง (frozen corn) เป็น 25% จากเดิม 20% และเพิ่มสัดส่วนข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ (pouch corn) เป็น 15% จากเดิม 10% นอกจากนี้ ยังเตรียมเสิร์ฟสินค้าตัวใหม่ อาทิ ข้าวโพดหวานตัดท่อน (corn cut) ข้าวโพดปิ้ง และอาหารสุขภาพ ควบคู่กับการรุกตลาดซื้อมาขายไป (trading) โดยเตรียมนำมะพร้าวน้ำหอมและสับปะรดพร้อมรับประทาน (ready to eat) ส่งไปบุกตลาดเกาหลี


Corn Cut บุกญี่ปุ่น-ไต้หวัน

ปัจจุบันซันสวีทมีกำลังการผลิตข้าวโพดหวานอยู่ที่ 150,000 ตันต่อปี โดยปี 2561 ใช้เงินลงทุนราว 260 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ที่จะทำให้กำลังการผลิตข้าวโพดหวานแช่แข็ง (frozen) เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่านับจากไตรมาสที่ 2 จากเดิมมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 5,000 ตันต่อปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ตันต่อปี โดยมีตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น 70% และตะวันออกกลาง 30% ซึ่งความต้องการข้าวโพดหวานแช่แข็งใน 2 ตลาดนี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 10% จากเดิมส่งออกราว 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี เพิ่มเป็น 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี โดยมีฐานลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 70 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป

องอาจบอกว่า ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน คือ สะดวก รวดเร็ว เป็นสิ่งที่ต้องตามให้ทัน และต้องเพิ่มความหลากหลายในตัวสินค้าเพื่อเป็นทางเลือก ดังนั้น สินค้าพร้อมรับประทานจึงตอบโจทย์ ในปีนี้จึงเพิ่มไลน์การผลิตเป็นข้าวโพดตัดท่อน (corn cut) พร้อมรับประทานบรรจุในถุงสุญญากาศ สามารถนำไปเป็นส่วนผสมในน้ำซุป ทำบาร์บีคิว เพิ่มความสะดวกสบายในการนำไปประกอบอาหาร ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี


“มะพร้าว-สับปะรด” ยอดทะลัก

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นไป ข้าวโพดหวานปิ้งพร้อมรับประทาน บรรจุถุงสุญญากาศ จะส่งออกไปวางตลาดในประเทศเกาหลีใต้ โดยบริษัท เอสเอ็นเจ กรุ๊ป จำกัด (SNJ Group) ซึ่งเป็นเทรดดิ้งรายใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้ เป็นผู้นำเข้าข้าวโพดหวานของซันสวีท มูลค่าต่อปีราว 250 ล้านบาท โดยข้าวโพดหวานปิ้งเป็นสินค้าตัวใหม่ที่จะนำเข้าไปจำหน่ายในคอนวีเนี่ยนสโตร์ราว 14,000 สาขาในเกาหลีใต้

นอกจากนี้ SNJ Group ยังมีความต้องการมะพร้าวน้ำหอมพร้อมรับประทานแบบไม่จำกัด โดยซันสวีทให้โรงงานในจังหวัดราชบุรีเป็นผู้ผลิตให้แบบ OEM ภายใต้แบรนด์ KC เป็นมะพร้าวน้ำหอมจากแหล่งปลูกราชบุรีและภาคกลาง ที่มีแพ็กเกจจิ้งหุ้มลูกมะพร้าวแบบสุญญากาศ มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 10 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อฤดูกาลผลิต หรือราว 300,000 ลูก ราคาขายส่งให้ SNJ Group ลูกละ 1.80 ดอลลาร์สหรัฐ และราคาขายในประเทศเกาหลีใต้เฉลี่ยลูกละ 3 ดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุด จากการเจรจาซื้อขายภายในงาน THAIFEX-World of food ASIA 2018 กลุ่ม SNJ Group ต้องการนำเข้าสับปะรดเป็นลูกพร้อมรับประทาน 10,000-20,000 ชิ้นต่อวัน เพื่อวางจำหน่ายในคอนวีเนี่ยนสโตร์ 14,000 สาขาในเกาหลีใต้ เป็นออร์เดอร์สินค้าตัวใหม่ที่จะเริ่มทำนับจากกลางปีนี้ ซึ่งจะใช้สับปะรดภูแลที่มีผลขนาดเล็ก จากแหล่งปลูกในจังหวัดเชียงราย โดยจะมีแพ็กเกจจิ้งหุ้มแบบสุญญากาศ ที่สามารถเปิดรับประทานได้ทันที


ลุยธุรกิจเทรดดิ้ง

นอกจากข้าวโพดหวานเป็น core business หลักแล้ว ซันสวีทยังมีบริษัทย่อยคือ บริษัท ซันสวีท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจจัดหาและซื้อมาจำหน่ายไปในกลุ่มสินค้าอาหารและผลิตผลทางการเกษตร จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก อาทิ หอมหัวใหญ่สด ซอสมะเขือเทศ สับปะรดบรรจุกระป๋อง ข้าวโพดอ่อนบรรจุกระป๋อง ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ มันหวานญี่ปุ่นพร้อมรับประทาน ข้าวโพดสองสี กะทิกระป๋อง น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง น้ำสลัด ข้าวหอมมะลิ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้ บริษัทเตรียมเข้าสู่ไลน์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบัน healthy trend มาแรง พฤติกรรมผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีมาก

อนาคตของ “ซันสวีท”ภายใต้แบรนด์ “KC” เติบโตมาตลอดระยะเวลา 30 ปี ยอดขาย 1,600 ล้านบาทในปีนี้ น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม