
หลายคนได้เห็นศักยภาพของ “สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ” หรือ KU TOWER ซึ่งมีลักษณะเป็นเสาสูงขนาด 117 เมตร แบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ที่ระดับความสูง 10, 30, 50, 75 และ 110 เมตร ที่ใช้ในการวิจัยอิทธิพลของมลสารในบรรยากาศต่อลักษณะอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินในเขตเมือง คือ ครอบคลุมชั้นบรรยากาศที่อยู่ด้านบนในแนวดิ่งด้วย
และผลการตรวจวัดลักษณะดังกล่าว สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของมลสาร และมีการรายงานสภาพฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเว็บไซต์ AirQ KU ทำให้เกิดคำถามถึงแผนงาน และโอกาสที่จะขยายการติดตั้งเสาลักษณะดังกล่าวไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ผู้ริเริ่มก่อตั้ง KU TOWER บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีหลายคนอยากให้ผมไปติดตั้งเสาลักษณะนี้ในบริเวณอื่น ๆ ด้วย เช่น จังหวัดระยอง ผมบอก KU Tower สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ตัวโครงสร้าง แต่กลายเป็นการดำเนินการ การปฏิบัติงานต้องใช้ทรัพยากรบุคคล ใช้งบประมาณ ตอนนั้นได้ทุนมา 80 ล้านบาท เป็นทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร หรือ สสนก. เฉพาะตัวเสาอย่างเดียว 14 ล้านบาท
รวมทำฐานราก ยังไม่รวมส่วนอุปกรณ์ด้านในเสา ห้องแล็บ ต้องมีอุปกรณ์ที่จะเก็บตัวอย่าง และอุปกรณ์ไว้วิเคราะห์ จึงสามารถทำงานได้อย่างครบวงจร งบประมาณประหยัดสุดน่าจะอยู่ที่ 60 ล้านบาท
KU TOWER เหมือนเป็นห้องแล็บของผม เป็นงานวิจัย เป็นอะไรหลาย ๆ อย่าง ฉะนั้นทุกอย่างเราจะ Operate เหมือนเป็นห้องแล็บตลอดเวลา มันเลยไม่หยุด ผมถึงซัพพอร์ตข้อมูลหลายอย่างได้ตลอดเวลา ถ้าไปอยู่ที่หน่วยงานอื่น ไม่มีคนดูแลอย่างจริงจัง หนักที่สุดคือ ลงทุนแล้วไม่คุ้ม ถ้าจะให้ทีมผมไปดำเนินการ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกำลังคนไม่ได้มาก ผม Operate กันเป็นแบบกรุ๊ปวิจัย มีอาจารย์ท่านอื่นช่วยผมอีก 3 คน มีนิสิตปริญญาโท-เอก ที่อยู่กับผม ประมาณ 20 คน ที่ช่วยกันดูแล หากไปติดตั้งเสาที่อื่น เกรงว่าจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นงานฝาก
“พูดตรง ๆ ผมไม่ได้ใช้เงินของมหาวิทยาลัย ผมก็ไปบริการวิชาการ ไปทำวิจัย เอาเงินเหล่านี้มาใช้ในการซ่อมแซมเสา เพราะด้วยระบบราชการ หากของเสียหายชำรุด ต้องรอซ่อม ผมรอไม่ได้ ผมทำไม่ได้ ผมต้องให้เครื่องมือทำงานได้ตลอดเวลา ผมก็เอาเงินจากการบริการวิชาการ ทำวิจัยข้างนอก มาซ่อมเอง เงินโครงการที่เข้ามา คนที่ทำเป็นนิสิต นักวิจัยที่ทำงานอยู่กับผม มันก็จะรวดเร็วกว่า”
ในทวีปเอเชีย มีเสาลักษณะนี้ที่ประเทศจีน สูง 300 เมตร แต่ที่จีนจะไม่ใช่โครงสร้างเดียวกับผม จะเป็นโครงสร้างแบบผอม และรูปแบบยิงสลิงไกล ๆ ข้ามถนนเลย แต่สลิงแบบนั้นจะสั่น มันจะวัดไม่ได้ ผมเลยไม่เลือกแบบสลิง มาใช้โครงสร้างตัวเสาสูง 117 เมตร
ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรงไม่มีการสั่น เราใช้หุ่นยนต์ในการปีนขึ้นไปเก็บฝุ่นด้านบน เพราะฝุ่นดึงผ่านท่อยาว ๆ ไม่ได้ ท่อมันต้องสั้น เพราะท่อยาวจะติดตามผนังของท่อ ฝุ่นจะติด เราจึงต้องใช้หุ่นยนต์ไปเก็บที่ความสูง 110 เมตร (สูงสุด) ไล่ระดับลงมา 75 เมตร และ 30 เมตร คือ จุดที่เราเก็บเรื่องฝุ่น
และจะวัดเรื่องอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน ทำให้รู้ว่าฝุ่นเกิดจากปรากฏการณ์แบบไหน หลังเที่ยงคืนเป็นอย่างไร เราตอบจากข้อมูลที่เราวัดได้หมด หรือแม้กระทั่งที่ลอยจากข้างนอก ก็จะเห็นว่าฝุ่นข้างบนสูงกว่าฝุ่นข้างล่าง ก็จะลอยเข้ามา แล้วนำมาวิเคราะห์ อีกอย่างที่เราวัดคือ คาร์บอนไดออกไซด์ ว่ามันขึ้น-ลงได้อย่างไร จึงเป็นตัวตอบว่าพื้นที่สีเขียวได้ การดึงลงของคาร์บอนเพื่อไปสังเคราะห์แสง มันจะมากกว่าพื้นที่ในเมือง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ลูกศิษย์ผมไปอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เริ่มมีการตรวจวัดฝุ่นแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ตัวเสา ใช้อุปกรณ์เครื่องมือ เทคนิคเดียวกันในการวัด แล้วรายงานผลเข้ามาในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรฯแล้ว สามารถเปิดเข้าไปดูเว็บไซต์ AirQ KU ได้ทั้งบางเขน และสกลนคร จะทำให้ทราบสถานการณ์ของแต่ละที่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยไปทำให้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และวิทยาเขตศรีราชา แต่ไม่มีคนดูแลจัดการต่อเนื่อง จึงทำได้เพียงปีเดียวแล้วถอนเอาเครื่องมือกลับมา
สำหรับศักยภาพของเสาตามทฤษฎีสามารถวัดได้ไกล 200 เท่าของความสูง โดยรัศมีที่ออกไป ที่จะให้ข้อมูลครอบคลุม ในเรื่องของคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถ้าในเรื่องของอากาศ และลม มันอยู่ที่ว่าช่วงนั้นลมแรง หรือลมสงบ ถ้าลมสงบ ครอบคลุมค่อนข้างไกล แต่ถ้าค่าฝุ่นของ KU TOWER ขึ้นเมื่อไหร่ ที่อื่นก็จะขึ้นตามผม แสดงว่าฝุ่นในต่างจังหวัดเข้ามาแล้ว