พาณิชย์ดันพัทลุงเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมคุณภาพ หนุนตีตลาดญี่ปุ่น

อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) นำผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นสำรวจแหล่งปลูกกล้วยหอมทองในพัทลุง เตรียมขยายตลาดส่งออกไปยังญี่ปุ่น ขณะที่พาณิชย์จังหวัดคาดเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยแสนบาท หากจัดการผลผลิตให้ออกตามเทศกาล

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ศูนย์การเรียนรู้ยางพารา ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง นายรัฐศาสตร์ ชิดชู ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ให้การต้อนรับนายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยจากญี่ปุ่น ลงพื้นที่สำรวจศักยภาพการปลูกกล้วยของจังหวัดพัทลุง เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งออกสู่ตลาดญี่ปุ่น

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ มีนางพิมพ์ มัตสึโมโต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ และนายโนบุโอะ ชิราฮามา ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยและผู้นำเข้าจากญี่ปุ่น ร่วมเดินทางเยี่ยมชมแปลงปลูกกล้วยหอม รวมถึงศูนย์รวมผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองและผลไม้ปลอดภัย อำเภอบางแก้ว

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดที่บริโภคกล้วยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีปริมาณการบริโภคสูงถึงปีละ 1 ล้านตัน แต่ประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.1% เท่านั้น ทั้งที่กล้วยหอมเขียว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น สามารถปลูกได้ดีในสภาพอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

ญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณภาพของผลผลิต ความสม่ำเสมอในการส่งออก และความคงที่ของราคา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญหากไทยต้องการขยายตลาดส่งออกกล้วยไปยังญี่ปุ่น ในการนี้ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นจึงได้ลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตและการจัดส่ง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ADVERTISMENT

โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง ได้คาดการณ์รายได้และต้นทุนจากการปลูกกล้วยหอมทองของเกษตรกร โดยระบุว่าจากการปลูกกล้วยหอมทอง 1 ไร่ ระยะปลูก 2 คูณ 2 เมตร ปลูกได้จำนวน 400 หน่อ ผลผลิตเฉลี่ย 1 เครือ เครือละ 5 หวี หวีละ 2 กิโลกรัม เฉลี่ย 10 กิโลกรัม/เครือ จะมีราคาเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 40,000-60,000 บาท แต่ถ้าหากเกษตรกรสามารถจัดการผลผลิตให้ออกใบช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลตรุษจีน หรือสารทจีน จะมีราคาประมาณ 20-25/กิโลกรัม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 80,000-100,000 บาท

นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) กล่าวว่า “ตลาดกล้วยของญี่ปุ่นยังมีโอกาสอีกมากสำหรับเกษตรกรไทย หากสามารถผลิตและจัดส่งสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด”

ADVERTISMENT

ขณะที่นายรัฐศาสตร์ ชิดชู ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวเพิ่มเติมว่า “จังหวัดพัทลุงมีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยอยู่แล้วจำนวนมาก หากสามารถพัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐาน ก็มีโอกาสขยายตลาดส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร” ทางจังหวัดพัทลุงจึงมีแผนสนับสนุนให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกกล้วยหอมให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อต่อยอดการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นในอนาคต