
ล้งทุเรียนตะวันออกเมิน “เหมาสวนล่วงหน้า” ทำราคาต้นฤดูดิ่งเหลือ 160-170 บาท/กก. เทียบปีก่อนราคาพุ่ง 200-300 บาท/กก. เผยบางล้งวางกฎเหล็กต้องมีใบ GAP แนบกับใบตรวจแคดเมียม และ BY2 ถึงรับซื้อ ทำชาวสวนแห่ตื่นตัวยื่นตรวจดิน-น้ำ สร้างความมั่นใจให้จีน ลุ้นเจรจาจีนปลดล็อกตรวจเข้ม 100% ก่อนฤดูกาลทุเรียนตะวันออก 1.04 ล้านตันออกปลาย มี.ค.
หลังจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แจ้งพบทุเรียนไทยใช้สารย้อมสี Basic Yellow 2 หรือ BY2 ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยจีนให้แนบผลตรวจ BY2 ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 กรมวิชาการเกษตรประกาศทุเรียนผลสดที่จะส่งจีนค่าแคดเมี่ยมต้องไม่เกิน 0.05 มก./กก. และ BY2 Basic Yellow 2 ต้องไม่พบการปนเปื้อน โดยจีนสุ่มตรวจที่ด่าน 100%
โดยกรมวิชาการเกษตรระบุปี 2568 ทุเรียนส่งออก 800 ตู้ ตรวจพบสาร BY2 50 ตู้คิดเป็น 5% เพื่อให้ทางจีนปลดล็อกยืดหยุ่นการตรวจการนำเข้าแบบ 100% ให้ทันในฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกที่จะเริ่มออกสู่ตลาด 1.04 ล้านตัน ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568
ล่าสุด สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตรได้จัดประชุมที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี (อบจ.) โดยเชิญ ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา และประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม (กธ.) และนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) และเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 68 ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในวงการทุเรียนภาคตะวันออกที่มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน
ที่ประชุมได้ข้อสรุปประกาศ 5 แนวปฏิบัติให้จีนเห็นว่าไทยจริงจังแก้ปัญหา 1) กำหนดวัน Bic Cleaning Day ทั้งสวน ล้ง พร้อมกันทั้งจังหวัด ไม่เกินวันที่ 28 ก.พ. 68
2) ให้กรมวิชาการเกษตร ตรวจร้านปุ๋ย ยา ปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น ให้เกษตรกรซื้อปัจจัยการผลิตที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีสารปนเปื้อนแคดเมียม และ BY2
3) ให้บริษัท เซ็นทรัลแลป และเอมาร์ค (AMARC) เตรียมพร้อมตรวจผลรับรองการส่งออกทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่วงพีกสุดวันละ 1,000 ตู้
4) ให้สวนสมัครใจยื่นตรวจดินและน้ำ เพื่อเป็นข้อมูลให้ล้งรับทราบว่าสวนปลอดแคดเมียม และ BY2
5) ให้ สวก.ประสานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของบประมาณปี 2568 จัดหาเครื่องตรวจแคดเมียม และ BY2 มาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ให้บริการตรวจแคดเมียมให้สวนทุเรียน
ล้งตั้งกฎสวนโชว์ใบ GAP+ใบตรวจแคดเมียม-BY2
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุขนาดใหญ่รายหนึ่งใน จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางราชการ ล้ง และเกษตรกรเห็นตรงกันว่า ฝ่ายไทยต้องการแสดงให้จีนเห็นว่า ไทยมีความจริงใจและมีมาตรการเข้มข้นในการแก้ปัญหาสารตกค้าง ทุเรียนที่ส่งออกไปต้องปลอดสาร เพื่อนำไปสู่การเจรจาผ่อนปรนการตรวจเข้มที่ด่านจีน 100% จึงเป็นที่มาของการตรวจรับทราบผลจากชาวสวนและล้ง ต้องตรวจเพื่อรับรองการส่งออก
ซึ่งชาวสวนไม่ต้องวิตกกังวลสาร BY2 ไม่มีในสวนแน่นอน หากใช้ปุ๋ย ยา ปัจจัยการผลิต ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรและปฏิบัติตามหลักการจัดการสวนที่ดี GAP ที่กำหนดไว้ คือไม่ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีสารตกค้างและปริมาณมากเกิน
“ที่ผ่านมาผู้ส่งออกทางภาคใต้พบกับการตรวจเข้ม 100% ทางด่านจีน บางตู้เจอปัญหาตรวจพบแคดเมียม BY2 นำเข้าจีนไม่ได้ ต้องนำกลับมาไทย บางล้งต้องดีแคลร์ตัวเองใหม่เสียเวลา 10-15 วัน ต้องหยุดซื้อ ทำให้ประสบภาวะขาดทุนหนักมาก ทำให้ล้งต้องปรับตัวในการซื้อทุเรียนในภาคตะวันออก ล้งใหญ่ ๆ จะตั้งกฎของบริษัทที่จะรับซื้อทุเรียนในสวนที่มีใบรับรอง GAP และมีใบตรวจโชว์ว่าปลอดแคดเมียมเท่านั้น เพื่อรักษาลูกค้าที่ดีและสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจทุเรียน”
ชาวสวน 80% ตื่นตัวตรวจแคดเมียม-BY2
ด้านนายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา เจ้าของกลุ่มทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวนและที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย (ATDP) กล่าวกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าถึงเวลาที่ชาวสวนต้องปรับตัว การตรวจรับทราบผลแคดเมียมและ BY2 ของสวน คือมาตรการสมัครใจที่จะยกระดับมาตรฐานผลผลิต เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นให้ล้งเชื่อมั่นและชาวสวนเองสามารถปรับแก้ไขได้ในระยะ 1-2 เดือนก่อนตัดทุเรียน ซึ่งชาวสวนส่วนใหญ่คาดว่าประมาณ 80% มีความตื่นตัวอย่างมาก
ที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทยร่วมกับกลุ่มทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน ได้จัดประชุมให้ความรู้กับเกษตรกรถึงกระบวนการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐานและขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งการปฏิบัติตามหลัก GAP ตามกำหนด 8 ข้อ ทำให้ปัญหาการปนเปื้อน BY2 แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น หากชาวสวนปรับตัวมีการตรวจดิน น้ำ ใบ และผล และปฏิบัติตามข้อกำหนด GAP คาดว่าผลผลิตจะเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการส่งออก ถ้าช่วยกันตั้งแต่ต้นน้ำ “ชาวสวนอยู่ได้ ล้งอยู่ได้” และร้านขายปุ๋ยยาอยู่ได้
“ค่าใช้จ่ายตรวจรับทราบ แคดเมียม 500-600 บาท BY2 3,000-3,500 บาท คิดค่าขนส่งด้วยรวม ๆ ไม่เกิน 5,000 บาท ตรวจปีละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเกินไป ถ้าเปรียบเทียบกับการยกระดับผลผลิตให้ได้มาตรฐานส่งออกได้ ปีนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ตั้งตัว อนาคตค่าตรวจอาจจะลดลงกว่านี้ และมีแนวคิดว่าภาครัฐควรสนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 10 ไร่
หากเปรียบเทียบกับล้งที่ส่งออกจะต้องมีการตรวจเพื่อรับรองการส่งออกทุกตู้ ทุกชิปเมนต์ ตู้ละ 7,000-9,000 บาท โดยที่ทางล้งสุ่มตรวจไปแล้วถ้าตรวจพบสารปนเปื้อน ความเสียหายจากการลงทุนตู้ละ 4-5 ล้านบาท ล้งที่ขาดทุนหนัก ๆ ต้องหยุดปิดกิจการ ล้งจะเหลือน้อยลง จะมีปัญหากระทบไปถึงชาวสวนที่มีผลผลิตจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี” นายสัญชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดจันทบุรีแจ้งว่า ช่วงวันนี้ชาวสวนจำนวนมากเร่งเก็บตัวอย่างดินและน้ำมาตรวจสอบหาสารแคดเมียม และ BY2 เพื่อนำมาแสดงให้ล้งมั่นใจในการรับซื้อทุเรียนกันอย่างคึกคัก
ล้งไม่เหมาสวน-ทำราคาวูบ
นายทวีวงศ์ ชื่นอารมณ์ เกษตรกร อ.เขาสมิง จ.ตราด เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าสถานการณ์การส่งออกทุเรียนในช่วงนี้หนักกว่าช่วงโควิด-19 ชาวสวนมีความกังวลถึงการส่งออกที่จะมีผลต่อราคา ปกติช่วงนี้ทุเรียนเริ่มมีผลเล็ก ๆ และจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 60 วัน เดือนมีนาคม-เมษายน จะมีพ่อค้าหรือล้งมาวางเงินมัดจำเหมาสวนล่วงหน้าแล้ว แต่ปัจจุบันไม่มีล้งมาเหมาสวนเลย ไม่มีการเสนอราคามาเลย
“ถ้าภาวะปกติทุกปีจะมีล้งนำเงินมาวางมัดจำเหมาสวนล่วงหน้าให้เกษตรกรได้เงินไปจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายาตั้งแต่ช่วงทุเรียนออกดอก จึงอยากให้เกษตรกรตื่นตัวปฏิบัติตามหลักการ GAP และควรตรวจรับทราบสารแคดเมียม BY2 เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของทุเรียนไทย
จริง ๆ แล้วโอกาสที่ตรวจพบสารดังกล่าวน้อยมาก ถ้าเกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐาน และในปริมาณที่เหมาะสม และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ GAP เกษตรกรต้องเคลียร์ตัวเอง แต่ในส่วนของล้งที่มีการตรวจรับรองเพื่อส่งออก พบสารแคดเมียมและ BY2 นั้น อยู่ที่กระบวนการของล้งที่รับซื้อทุเรียนมาที่ไหนมีใบตรวจสอบ หรือใบ GAP หรือไม่
นายปรีย์วรา งาเจือ เกษตรกรพื้นที่ ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด พื้นที่ทุเรียนออกก่อนในภาคตะวันออกเปิดเผยกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปีนี้ผลผลิตออกช้าไป 1 เดือน คือเดือนกุมภาพันธ์ทุเรียนกระดุมเพิ่งเริ่มออก มีปริมาณน้อย จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อจำนวนน้อยมาก เป็นราคาตามตลาด ไม่กล้าเหมาเหมือนทุกปี เพราะมีความเสี่ยงเรื่องการส่งออก
การแข่งขันไม่มีราคาปั่นเพื่อแย่งกันซื้อขึ้นไปสูงถึง กก.ละ 300-320 บาท เหมือนปีที่แล้ว เป็นราคาตามจริง กก.ละ 105-110 บาท ส่วนหมอนทองต้นฤดูผลผลิตเพิ่งเริ่มออกราคาหน้าสวน 160-170 บาท/กก. เปรียบเทียบราคาปีที่แล้ว 200-220 บาท/กก. ส่วนการเหมาสวนจะเหมาล่วงหน้าก่อนตัด 30 วัน ปีที่แล้วช่วงผลผลิตเริ่มเป็นลูกเล็ก ๆ จะมีพ่อค้ามาดู มาเหมากันคึกคัก ปีนี้เงียบมาก ส่วนใหญ่เป็นขาประจำที่มีตลาดปลายทางแน่นอนอยู่แล้ว ราคาทุเรียนปีนี้คือราคาจริง” นายปรีย์วรากล่าว
ล้งวอนอย่าระงับการส่งออก
นายมณฑล ปริวัฒน์ รักษาการนายกสมาคมส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการตรวจที่เข้มข้นของจีน เป็นการจำกัดในการส่งออกแม้ว่าจะปฏิบัติตามมาตรการ Bic Cleaning ทั้งสวนและล้ง จึงขอเสนอว่าการส่งออกทำอย่างไรถึงจะคล่องตัว ซึ่งเงื่อนไขเวลาสำคัญที่สุด
ความเป็นไปได้ที่จีนจะปลดล็อกให้ ส่วนใหญ่ล้งจะมีการจับคู่กับกลุ่มชาวสวนที่มีการตรวจสอบสารแคดเมียมและ BY2 และมีใบ GAP ล้งไม่มีการชุบสาร ชุบสีต้องห้ามตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ถ้าตรวจสอบพบที่ด่านจีน ขอให้มีการตรวจสอบที่ชัดเจนก่อนระงับการส่งออกของล้ง หรืออายัด ทำลายสินค้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงชาวสวน ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการขาดความมั่นใจทุเรียนกระดุมตอนนี้ยังไม่มีราคาเปิดตลาด
แล็บพอรับได้ 2,000-3,000 ตัวอย่าง/วัน
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า ยืนยันว่ามีแล็บเพียงพอที่จะรองรับการตรวจวิเคราะห์ทุเรียนในฤดูกาล โดยปัจจุบันมีแล็บ 8 แห่งที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรและ GACC ที่มีศักยภาพรองรับการตรวจได้ 1,000 ตัวอย่าง/วัน และช่วงที่ผลผลิตออกมากสามารถรับได้ 2,000 ตัวอย่าง/วัน
“ขณะนี้แล็บยังใช้งานเพียง 20% ถ้าอัพขึ้น 50% ทั้ง 8 แล็บจะตรวจได้ 2,000-3,000 ตัวอย่าง/วัน และยังอยู่ในระหว่างขอเพิ่มอีก 4 แล็บ รวมทั้งหมด 12 แล็บ ยังไม่รวมแล็บเอกชน ดังนั้น ศักยภาพการตรวจ BY2 เพียงพอแน่นอน” นายรพีภัทร์กล่าว